World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: ‘ปูติน’ จะยอมหยุดยิงช่วงโอลิมปิก? ช่องทางสำหรับ “แสวงหาสถานภาพ” ?
เหตุใดปูตินต้องตกลงรับหลักการหยุดยิงระหว่างแข่งขันโอลิมปิก? ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าปูตินนั้นต้องการ “แสวงหาสถานภาพ” จึงต้องทำเช่นนี้!
"เราทั้งสองประเทศสามารถคุยกันได้โดยสงบ แต่ไม่ใช่เพราะศัตรูไม่มีปัญญาตอบโต้เราทางยุทธภัณฑ์ เราพร้อมจะทำสิ่งนี้ หากพวกเขาต้องการที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และต้องการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศไปอีกนานเท่านาน มากกว่าที่จะมาหยุดยิงกัน 1 ปี 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี และกลับมารบกันอีกครั้ง" — วลาดิเมียร์ ปูติน
เมื่อไม่นานมานี้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสด ๆ ร้อน ๆ ของรัสเซีย ในการออกมารับหลักการ “หยุดยิง (Ceasefire)” ที่เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นำเสนอ โดยการหยุดยิงดังกล่าว จะเป็นข้อตกลงระหว่าง “การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2024” ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน-11 สิงหาคม 2024
ความน่าสนใจ คือ เหตุใดปูตินจึงยินยอมรับหลักการหยุดยิงเมื่อแข่งขันโอลิมปิก? เหตุใดปูตินจึงไม่รับหลักการหยุดยิงในวาระโอกาสอื่น ๆ ที่สำคัญกว่านั้น? แบบนี้แสดงว่า โอลิมปิกต้องมี “ความสำคัญ” อย่างมาก ถึงขนาดที่ยับยั้งความเกรี้ยวกราดของปูตินได้
และที่สำคัญ เป็นไปได้หรือไม่ ว่าการแสดงออกของปูตินในเรื่องนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการใช้โอลิมปิกเป็นช่องทางในการ “แสวงหาสถานภาพ”
--- ความไม่พอใจในสถานภาพ ---
โดยทฤษฎีการแสวงหาสภานภาพนั้น ผศ.ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการพัฒนาทฤษฎีจนถึงขีดสุด โดยท่านเสนอในหนังสือ Ontological Security and Status-Seeking Thailand’s Proactive Behaviours during the Second World War และ สงครามสถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยสามารถสรุปความได้ ดังนี้
การแสวงหาสถานภาพนั้น เกิดขึ้นจาก “ความไม่พอใจ (Dissatisfaction)” ใน เกียรติยศ (Prestige) ศักดิ์ศรี (Honour) ความมั่นใจ (Esteem) อัตลักษณ์ (Identity) หรือสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น ที่ส่งผลต่อ “สถานภาพ (Status)” บางอย่างที่ “ควรจะได้หรือควรจะเป็น (Ought to be)” จึงต้องกระทำการบางอย่างที่ผิดแปลกไปจากการคิดเชิงตรรกะ เหตุผล ความสมเหตุสมผล หรือกำไร-ขาดทุน
ในโลกของการระหว่างประเทศ เป็นที่ที่ต้องการ “การยอมรับโดยผู้อื่น (Recognition)” หรือก็คือนานาประเทศ จึงจะสามารถบอกได้ว่า “คุณเป็นใคร (Who are you?)” ซึ่งการจะทำให้เกิดการยอมรับได้นั้น บางที จึงจำเป็นที่จะต้องยินยอมผู้อื่นในบางอย่างที่ขัดกับสิ่งที่ตนปรารถนา หรือไม่ก็ต้อง “เล่นตามเกม” เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความมั่นใจ อัตลักษณ์ หรือสิ่งที่ควรจะได้ต่าง ๆ ตามมาในจงได้
การที่ปูติน รับหลักการหยุดยิงช่วงแข่งขันโอลิมปิก อาจถูกมองว่า ไม่สมเหตุสมผลใด ๆ ต่อประเทศระดับมหาอำนาจอย่างรัสเซียเลย เพราะการกระทำเช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ปูตินมีความยำเกรงต่อมหาอำนาจกลางอย่างฝรั่งเศส และทำให้การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของมหาอำนาจในการประกาศสงครามกับยูเครน ถือได้ว่าลดดีกรีลงไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างมาก
เพราะหากปูตินไม่แยแสเรื่องนี้จริง ๆ การที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC แบนไม่ให้รัสเซียเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะกีฬาประเภททีม ทำได้เพียงให้นักกีฬาลงแข่งขันแบบ Neutral Status ของนักกีฬาแบบเป็นบุคคลไป ย่อมไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่มหาอำนาจอย่างรัสเซียจะต้องกังวล
แต่ที่ปูตินยอม แสดงว่า อาจต้องการ “สถานภาพ” อะไรบางอย่างจากโอลิมปิก เพื่อให้ประเทศของตนได้รับการเป็นที่ยอมรับอะไรบางอย่าง ไม่อย่างนั้น จะถือว่าเสียหายอย่างมาก ที่ประกาศสงครามกับยูเครนไปแล้ว และมาผ่อนปรนทีหลัง
---โอลิมปิกในฐานะ “เครื่องมือแสวงหาสถานภาพ”---
คริสโตเฟอร์ เอส บราวนิง (Christopher S. Browning) อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ได้เสนอไว้ในงานศึกษา Nation Branding and International Politics ความว่า “โอลิมปิกเป็นช่องทางในการแสวงหาสถานภาพได้ดีกว่าช่องทางอื่น ๆ ทั้งจะเข้าร่วมหรือเป็นเจ้าภาพ เพราะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการทำสงคราม หรือการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างองค์การระหว่างประเทศ เพราะหากได้รับชัยชนะเหรียญทอง หรือจัดมหกรรมได้อย่างยิ่งใหญ่ ย่อมได้รับสถานภาพ แต่หากไม่เป็นตามนั้น ก็ถือว่าไม่ได้เสียหายเท่าความพ่ายแพ้ในสงคราม ที่ถึงกับสิ้นชาติได้เลยทีเดียว”
เราจะเห็นได้อย่างมากมาย ในการที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ใช้โอลิมปิกเพื่อการแสวงหาสถานภาพ ในเรื่องของการเป็นเจ้าภาพ จะเห็นได้จากญี่ปุ่น ที่จัดโอลิมปิก ปี 1964 และหลังจากนั้น จึงกลายเป็นประเทศระดับมหาอำนาจกลางของโลก หรือเกาหลีใต้ ที่จัดโอลิมปิก ปี 1988 และทำให้ประเทศเข้าสู่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ได้เป็นผลสำเร็จ
ส่วนการเข้าร่วมและได้รับชัยชนะเหรียญทอง ตัวอย่างคือประเทศไทย ที่คว้าเหรียญทองแรกได้จากการแข่งขัน มวยสากลสมัครเล่น ของ สมรักษ์ คำสิงห์ ที่โอลิมปิก ปี 1996 และทำให้ไทยได้รับการยอมรับในฐานะชาติแห่งมวย หรือกระทั่ง จาไมกา ที่มี ยูเซ็น โบลท์ เจ้าของ 8 เหรียญทองโอลิมปิก ที่ทำให้ประเทสนี้กลายเป็นที่ยอมรับในกรีฑาจนได้
--- โอลิมปิกในฐานะ “กีฬา” ---
เมื่อมาถึงตรงนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดปูตินจึงมีท่าทียินยอมพร้อมใจรับหลักการหยุดยิงในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก แต่อย่าลืมว่า สิ่งนี้เป็นเพียง “ลมปาก” รับหลักการเฉย ๆ ยังไม่ได้ลงนาม หรือให้สัตยาบันแต่อย่างใด
อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน การทำความเข้าใจการแสดงออกของปูตินต่อโอลิมปิก จึงเป็นเพียง “การคาดการณ์ (Speculative)” เท่านั้น เพราะในหลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่ไม่คาดคิดมักเกิดขึ้นมาในก่อน-ระหว่าง-หลัง การแข่งขันได้เสมอ
อาทิ การเกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ และวิกฤตการณ์คาบสมุทรซีนาย ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก เมลเบิร์น ปี 1956 การเกิดเหตุกราดยิงก่อนพิธีเปิดโอลิมปิก เม็กซิโก ซิตี้ ปี 1968 หรือแม้กระทั่ง การเกิดสถานการณ์นองเลือดระหว่างโอลิมปิก มิวนิก ปี 1972
เพราะอย่าลืมว่า “กีฬาคือพื้นที่สำหรับสร้างปาฏิหาริย์” ที่สำคัญที่สุด พลิกชีวิตได้ และดับอนาคตได้เพียงเสี้ยววินาที
—————
ผู้เขียน: วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ Ontological Security and Status-Seeking: Thailand’s Proactive Behaviours during the Second World War
- หนังสือ สงครามสถานภาพ: เยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย กับการเถลิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ
- หนังสือ Circus Maximus: The Economic Gamble Behind Hosting the Olympics and the World Cup
- หนังสือ Nation Branding and International Politics
- บทความ International Norm Dynamics and Political Change
- บทความ The Rise of Professionalism in The Olympic Movement
- https://www.euronews.com/2024/03/18/putin-open-to-macrons-ceasefire-proposal-during-paris-olympics
ข่าวแนะนำ