TNN World-in-depth: วลาดิเมียร์ ปูติน: ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย?

TNN

World

World-in-depth: วลาดิเมียร์ ปูติน: ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย?

World-in-depth: วลาดิเมียร์ ปูติน: ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย?

ปูติน ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย”? แต่ว่าที่ผู้นำสมัยที่ 5 คนนี้ เป็นจะเป็น “ซาร์” จริงหรือไม่? ลองวิเคราะห์ 3 หลักเกณฑ์ “ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง-แรงสนับสนุนทางการเมือง-การยอมรับ”

ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย สิ่งหนึ่งที่หวนกลับขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง อาจหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘การครองอำนาจ’ ของท่านประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ที่อยู่มาอย่างยาวนาน 4 สมัย (2000, 2004, 2012, 2018) และเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่จะสืบสานอำนาจต่อเนื่องออกไปในสมัยที่ 5 ได้อีกครา 


กระนั้น เป็นเรื่องง่ายที่จะบรรยายให้เห็นถึงรอยทางการเถลิงบัลลังค์อำนาจของเขา และที่ยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือ การตั้งข้อสังเกตที่ว่า ปูตินนั้นมีความเป็น ‘พระเจ้าซาร์พระองค์ใหม่’ แห่งรัสเซีย ประการหนึ่ง แต่คำถามที่ตามมา นั่นคือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า ปูตินนั้น มีความเป็นซาร์พระองค์ใหม่อย่างแท้จริง?


บทความนี้ จึงเป็นความพยายามในการพิจารณาความเป็นซาร์แห่งรัสเซียพระองค์ใหม่ของปูติน ใน 3 ลักษณะ นั่นคือ ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง อำนาจและการใช้อำนาจ และแรงสนับสนุนทางการเมือง เพื่อชี้ให้เห็นว่า แท้จริงนั้น ความเป็นซาร์เกิดขึ้นแก่ปูตินหรือไม่?



ผู้นำที่เข้มแข็ง


ก่อนอื่นนั้น ต้องเคลียร์ศัพท์ให้ชัดเจนก่อนว่า ผู้นำที่เข้มแข็งนั้นคืออะไร โดยศัพท์นี้ มีแก่นแกน นั่นคือ “ปัจเจกบุคคลที่ใช้อำนาจท่วมท้นอย่างเข้มข้นและเป็นไปเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ดีงามในการเมืองร่วมสมัย” ตรงนี้ จะเห็นได้ว่า การจะเป็นผู้นำที่เข้มแข็งได้นั้น จะต้อง “1. ใช้อำนาจได้แบบเต็มที่” และใช้เพื่อ “2. แก้ไขปัญหาในประเทศ” ได้อย่างหมดจด


ทีนี้ เมื่อกลับมาพิจารณาปูติน จะพบว่า เขามีความพยายามที่จะทำให้ “ภาพ” ของเขานั้น เป็นผู้นำที่เข้มแข็งตลอดเวลา นอกเหนือไปจากการเปลือยท่อนบนขี่หมี ขี่ม้า ตกปลา ดำน้ำ ว่ายน้ำ หรือกระทั่งล่าสัตว์ รวมไปถึงการใช้เป็นแคมเปญรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดีช่วงปี 2018 ที่ว่า “Strong President – Strong Russia” ปูตินยังสามารถที่จะใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ เนื่องมาจากการทำให้กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารนั้นอ่อนกำลังลง และทำให้เกิด “decision-making primacy” หรือ ประธานาธิบดีตัดสินใจเป็นที่สิ้นสุด ตามมา


นอกจากนี้ ในภาคส่วนประชาสังคม ปูตินก็ไม่มีพลาดที่จะสร้างการควบคุม ทั้งในทางการเมืองปกติ และการเมืองภาคประชาชน โดยส่วนแรก ว่าด้วยเรื่องของการควบคุมการปกครองส่วนภูมิภาค โดยให้ขึ้นตรงกับส่วนกลาง แทนที่จะเป็นสภาสหพันธรัฐ ซึ่งกระทำการผ่านพรรค United Russia (UR) เป็นสำคัญ และเมื่อการรวบอำนาจได้อยู่หมัด ย่อมไม่มีปัญหาสำหรับการปกครองส่วนกลาง ส่วนอย่างหลัง เป็นเรื่องของการควบคุมภาคประชาสังคม หรือสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมง่ายกว่าอย่างแรก


ยังไม่นับรวมเรื่องส่วนบุคคล ที่เขาสามารถที่จะสร้างอำนาจเหนือในการปกครอง โดยเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถควบคุม ดิมิทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดี ณ ขณะนั้น ทั้งยังเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ 2 สมัยต่อการเลือกตั้ง 1 ครั้ง และยังสามารถลงสมัครได้อย่างไม่มีกำหนดสมัย


นั่นเป็นขั้นแรกของการบรรลุการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง สิ่งที่เป็นเครื่องชี้วัดประการต่อมา นั่นคือ อำนาจที่ว่านั้น เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาในประเทศหรือไม่ ตรงนี้ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นได้ชัด นั่นคือ “เสถียรภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจ” โดยสังเกตได้จากสถิติของ World Bank [ตารางด้านล่าง] จะเห็นได้ว่า การเติบโตของ GDP ประจำปีของรัสเซีย จะพบว่า ในการปกครองของปูตินสมัยแรก (2000-2008) จะพบว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีเสถียรภาพอย่างมาก แต่ก็ได้มาสะดุดลงช่วงที่เขาลงจากตำแหน่ง (2008-2012) ก่อนจะทะยานขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเขากลับมาอีกครั้ง


World-in-depth: วลาดิเมียร์ ปูติน: ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย?

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อพิจารณา GDP ต่อหัวของประชากร [ตารางด้านล่าง] ในสมัยก่อน (หรืออาจจะเริ่มต้น) การปกครองของเขา กลับถีบตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 277 เมื่อครั้งที่เขากลับเข้ามาครองอำนาจอีกครั้ง (นับช่วงปี 2018) 


World-in-depth: วลาดิเมียร์ ปูติน: ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย?

ตรงนี้ ส่งผลต่อเนื่องในด้านอัตราการว่างงาน ที่มีการลดลงกว่าครึ่ง จากแต่เดิมร้อยละ 10.53 มาสู่ 5.06 [ตารางด้านล่าง] ตรงนี้ ทำให้เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า ในเรื่องของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศนั้น ปูตินถือได้ว่าผ่านเกณฑ์ฉลุย

World-in-depth: วลาดิเมียร์ ปูติน: ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย?


แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ประชาชนรัสเซียภายใต้การปกครองของปูตินมีความมั่นคงหรือไม่ แน่นอน ในเมื่อเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และทำให้อัตราการว่างงานลดลง ย่อมหมายถึงการจ้างงาน และการมีเงินในกระเป๋าของประชาชนประการหนึ่ง 


เมื่อมาถึงตรงนี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ปูตินนั้น อยู่ในข่ายของการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งอย่างไม่ต้องสงสัย 



แรงสนับสนุนทางการเมือง


ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะของผู้นำที่เข้มแข็งมากสักเพียงไร แต่สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ นั่นคือ เหตุใด บรรดาประชาชน “จึงยินยอมให้ปกครอง” ตรงนี้ เกี่ยวพันกับเรื่องของ “การสนับสนุน” ที่มาจากเบื้องล่าง เพื่อเป็นฐานให้กับการใช้อำนาจของปูตินประการหนึ่ง


ในส่วนแรก เป็นเรื่องของแรงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งสามารถที่จะพิจาราณาได้จาก 1. จำนวนผู้ที่โหวตให้ได้รับชัยชนะ 2. ระดับความพึงพอใจที่ผู้โหวตมีต่อผู้ที่ตนเลือก และ 3. ความยาวนานที่ผู้โหวตมีระดับความพึงพอใจต่อผู้ที่ตนเลือก


แน่นอน ในข้อที่ 1 นั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้น ปูตินย่อมไม่ได้รับเลือกตั้ง และได้ครอบครองอำนาจการปกครอง แต่ในข้อที่ 2 และ 3 นั้น ต้องพิสูจน์พร้อม ๆ กัน โดยสองสิ่งนี้ มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ “การซื้อใจ” ผู้โหวตของตน โดยในเรื่องเศรษฐกิจนั้น ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก (แทบจะมากที่สุด) ดังนั้น เมื่อกลับไปพิจารณาในส่วนที่แล้ว จะพบว่า ปูตินมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่ลดลง ย่อมเป็นผลประการหนึ่งให้สามารถที่จะคงระดับความพึงพอใจได้


แต่แน่นอน หากคิดในมุมกลับกัน เป็นเรื่องปกติที่ในการครองอำนาจนั้น ๆ จะเกิด “เงื่อนไขแทรกแซง” ที่ทำให้ระดับความพึงพอใจของผู้โหวตลดลง อาจจะมาจากเหตุการณ์ไม่ปกติ วิกฤตการณ์ หรือปาฏิหาริย์บางอย่าง อาทิ ปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้แต่ผู้ปกครองก็ไม่คาดคิดมาก่อน ดังนั้น ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ระดับความพึงพอใจจะลดลง แต่สิ่งสำคัญ อยู่ที่ว่า อัตราการลดลงนั้น มากน้อยเพียงไร 


เคยมีการพิจารณาสิ่งดังกล่าวเมื่อปี 2000 ของเขา [ดูตารางด้านล่าง] และพบว่า ระดับการลดลงนั้น ไม่ได้มาก แม้จะมีเหตุการณ์เพลี่ยงพล้ำทางการรบพุ่งที่ Chechnya หรือประเด็นเรื่องเรือดำน้ำ Kursk ก็ตาม


World-in-depth: วลาดิเมียร์ ปูติน: ซาร์พระองค์ใหม่แห่งรัสเซีย?


แต่ได้มีการให้อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ การได้แรงสนับสนุนมาอย่างมหาศาล และยังธำรงไว้ซึ่งความพึงพอใจได้ นั่นเป็นผลมาจากการ “จัดการกับพหุนิยม” หรือก็คือ พยายามจัดการกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางการเมือง กลุ่มสื่อ กลุ่มศาสนา หรือกลุ่มเผ่าพันธุ์ ให้อยู่ภายใต้การชี้นำของเขา เพราะยิ่ง “ความหลากหลาย” มีมากเท่าไร ย่อมทำให้เกิดความวุ่นวาย เสียอาจเลยเถิดเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ได้


ดังนั้น ในเมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามสำคัญที่ตามมา นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่าระดับความพึงพอใจที่ได้มานั้น สะท้อนภาพความเป็นจริงหรือไม่ ตรงนี้ ในบทความ Is Putin’s popularity real? ได้ให้ข้อเสนอว่า “หากไปสอบถามชาวรัสเวียว่าเลือกปูตินหรือไม่ ไม่มีใครกล้าตอบตรง ๆ” ดังนั้น ความพึงพอใจที่มีต่อปูติน จึงเป็นเรื่องของ ‘ผลลัพธ์ (Outcome)’ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของ ‘แรงขับเคลื่อน (Motive)’ 


การยอมรับ


แน่นอน ในพื้นที่ทางการเมือง “การยอมรับ” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะอย่าลืมว่า การที่เรานั้นจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นอย่างไร ได้รับการให้สถานภาพว่าเป็นอย่างไร มากน้อยเพียงไร อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ใด ย่อมต้องมาจากสายตาของ “ผู้อื่น (Others)” เสมอ


ในการปกครองของปูติน แม้ในระดับการต่างประเทศ โดยเฉพาะ ในโลกที่ชุดคุณค่าแบบตะวันตก ว่าด้วยเรื่องของเสรีนิยมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นที่ครหาได้ว่า ปูตินได้รับการยอมรับจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องอธิบายว่า ในการที่จะเกิดการยอมรับนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องแบบขาว-ดำ ที่เสนอว่า หากไม่มีใครยอมรับเลย ย่อมไม่มีการยอมรับเกิดขึ้น นั่นเพราะ ได้มีจำพวกหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับปูตินในการต่างประเทศอย่างมาก นั่นคือ “อนุรักษ์นิยม (Conservatism)”


เพราะแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา บรรดาอนุรักษ์นิยม ยังได้ทำการกล่าวชื่นชมวิถีของปูติน ว่ามีความใกล้เคียงกับคุณค่าของพวกเขา ดังตัวอย่าง ความว่า


“ในหลาย ๆ ทาง ปูตินมีความคล้ายคลึงกับอนุรักษ์นิยมอเมริกันอย่างมาก ในมุมมองทางสังคม เขาสนับสนุนศาสนา (คริสต์ออโธดอกซ์) และไม่สนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศตน ในทางการเงิน เขาพยายามสร้างสมดุลแห่งงบประมาณและการเก็บภาษีอัตราต่ำ เขาไม่ปราณีกับการก่อการร้าย แต่มีปณิธานแน่วแน่ต่อการต่อต้านการแทรกแซงทางการทหารในซีเรีย เขานั้นห่างไกลจากเดโมแครตและรีปับลิกันอย่างมาก”


หรือที่รุนแรงไปกว่านั้น คือการที่พวกเขากล่าวสาดเสียเทเสียต่อผู้นำของตน ว่าไม่อาจเทียบเคียงปูตินได้ ดังตัวอย่าง ความว่า


“ปูติน เขารักบ้านเมืองเขา สิ่งนี้ไม่ได้เกิดกับฮิลลารี [คลินตัน] หรือโอบามา ใด ๆ ปูตินคือลูกผู้ชายตัวจริง แต่สองคนนั้นไม่”


หรือแม้กระทั่งในระดับของผู้กำหนดนโยบายทางการเมือง ที่มีศักดิ์ใกล้เคียงกัน อาทิ อลาสเทีย แคมป์เบลล์ (Alastair Campbell) ยังได้มีการแอบชื่นชม ความว่า


“แต่ในเรื่องการสนับสนุนรัสเซีย เขาทำได้ดีกว่าใคร … ในมุมมองนี้ เขา [ปูติน] กู้คืนส่วนที่แตกสลายของความภาคภูมิใจแห่งรัสเซียให้กลับคืนมา และเป็นสิ่งที่ดีมาก”


แน่นอน นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่พอที่จะคาดคะเนได้ว่า ปูติน ได้รับการยอมรับ หรืออาจมีชุดคุณค่าที่เข้ากันได้กับบางอย่าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 


เมื่อมาถึงตรงนี้ จากทั้ง 3 ลักษณะในการพิจารณาความเป็นซาร์แห่งรัสเซียพระองค์ใหม่ของปูติน จะพบว่า ปูตินมีความไปกันได้ทั้งหมด จึงอาจสรุปได้ว่า อาจมีความเป็นไปได้ไม่มากก็น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ลืมว่า การที่จะเป็นซาร์ได้นั้น ที่มามาจากความสัมพันธ์ที่สืบทอดทางสายเลือด ดังนั้น จึงอาจตั้งเป็นประเด็นได้ว่า ปูติน จึงอาจเป็นซาร์ในฐานะของ “อำนาจและการใช้อำนาจ” มากกว่าในเรื่องของ “ประเพณี” เป็นที่ตั้ง


ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงความพยายามในการพิจารณาความเป็นซาร์ด้วยลักษณะอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องของการขบคิดต่อไปในอนาคต

—————

แปล-เรียบเรียง: วิศรุต หล่าสกุล

ภาพ: Sputnik/Sergei Savostyanov/Pool via Reuters


แหล่งอ้างอิง

  • บทความ Is Vladimir Putin a strong leader?
  • บทความ Is Vladimir Putin a strong leader?
  • บทความ How Strong Is Vladimir Putin's Support?
  • บทความ Putin’s International Political Image
  • บทความ Putin's Path to Power
  • บทความ Managed Pluralism: Vladimir Putin's Emerging Regime
  • บทความ Putin: The one-man show the West doesn’t understand



ข่าวแนะนำ