รู้จัก World Economic Forum 2024 ผู้นำไทยเข้าร่วมครั้งแรกในรอบ 12 ปี
รู้จัก World Economic Forum 2024 ผู้นำไทยเข้าร่วมครั้งแรกในรอบ 12 ปี
World Economic Forum (WEF) คืออะไร?
World Economic Forum (WEF) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีการจัดงานประชุมประจำปี ณ เมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ WEF เป็นเวทีใหญ่ที่บุคคลสำคัญ ในหลากหลายด้าน ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน และบุคคลที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกมาร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวคิด รวมถึงสร้างความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความท้าทายระดับโลกพร้อมทั้งกำหนดทิศทางที่ยั่งยืนในอนาคต
ข้อมูลโดยสังเขปของ WEF World Economic Forum
1. WEF ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514 ) โดย ศ.ดร. Klaus Schwab (ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Executive Chairman) และได้รับสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศในด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (International Organization for Public-Private Cooperation) จากรัฐบาลสหพันธรัฐสวิส
เมื่อปี ค.ศ. 2015 (2558)
2. WEF มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเวทีโลกในเรื่องการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสนอแนะทิศทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาในระดับระหว่างประเทศ ผ่านเครือข่ายผู้นำภาคการเมือง ธุรกิจ และภาคประชาสังคม
3. การประชุมประจำปีของ WEF ณ เมืองดาวอส ถือเป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งระดับผู้นำ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจ องค์การระหว่างประเทศ และนักวิชาการจากทั่วโลก
4. นอกเหนือจากการประชุมประจำปีที่เมืองดาวอสในช่วงต้นปีแล้ว WEF ยังจัดการประชุมอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ การประชุมระดับภูมิภาค เช่น ASEAN ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และการประชุม WEF’s Annual Meeting of the New Champions ณ เมืองต้าเหลียน เทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประชุมสำหรับผู้นำภาคธุรกิจที่โดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
5. เมื่อปี 2560 WEF ได้ริเริ่มจัดการประชุม Sustainable Development Impact Summit ขึ้นเป็น ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 18 – 19 ก.ย. 2560 ในช่วงเดียวกับ High-level Week ของการประชุม UNGA
ณ นครนิวยอร์ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบรรลุ SDGs และพันธกรณีภายใต้ Paris Agreementผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2560 ที่นครนิวยอร์ค รมว.กต. (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้พบหารือกับนาย Philipp Rösler, Head of Regional and Government Engagement, Member of the Managing Board, WEF โดยได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและ WEF ในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชน/คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ และการส่งเสริม/พัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบริษัท Startups โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ความร่วมมือระหว่างไทยและ WEF ที่ผ่านมา การเข้าร่วมการประชุมประจำปีของ WEF ณ เมืองดาวอส
ปี 2552 (ค.ศ. 2009) – 2555 (ค.ศ. 2012 นรม. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวติดต่อกัน 4 ปี
ปี 2556 (ค.ศ. 2013) รอง นรม./ รมว. กค. เป็นผู้แทนเข้าร่วม
ปี 2558 (ค.ศ. 2015) รอง นรม. กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นผู้แทนเข้าร่วม
ปี 2560 (ค.ศ. 2017) รมว. พณ. เป็นผู้แทนเข้าร่วม
ปี 2561 (ค.ศ. 2018 ) รมต. นร. (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) เป็นผู้แทนเข้าร่วม
ผู้นำไทยเข้าร่วมครั้งแรกในรอบ 12 ปี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.67 ซึ่งจะเป็นการเข้าร่วมการประชุมในระดับผู้นำครั้งแรกของไทยในรอบ 12 ปี และป็นการเดินทางเยือนภูมิภาคยุโรปครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฯ จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่จะได้พบกับผู้นำจากทั่วโลก เพื่อแสดงความพร้อมของไทย ที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน
การประชุมประจำปีของ WEF เป็นเวทีที่มีลักษณะเฉพาะและมีความพิเศษ มีผู้เข้าร่วมทั้งที่เป็นประมุขและผู้นำรัฐบาล หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ ผู้บริหารภาคธุรกิจ (CEOs) นักวิชาการ ตลอดจนผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับโลก ประมาณ 2,500 คนจากทั่วโลก
WEF World Economic Forum 2024 คุยประเด็นอะไรบ้าง?
โดยการประชุมปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ฟื้นฟูความเชื่อมั่น” ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
(1) การบรรลุความร่วมมือและความมั่นคงในโลกที่แตกแยก
(2) การสร้างการเติบโตและสร้างงานสำหรับยุคใหม่
(3) ปัญญาประดิษฐ์ในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
(4) ยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และพลังงาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฯ จะเข้าร่วมและร่วมเป็นผู้เสวนาในการประชุมและเวทีเสวนาต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและเชิญชวนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะโครงการ Landbridge ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็น อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์โลก ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว นอกจากนั้น ยังมีกำหนดการพบกับผู้นำรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และภาคธุรกิจ เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง :
กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข่าวแนะนำ