TNN ‘สรุปสาระสำคัญสื่อพบทูตสหรัฐฯ’ ย้ำ ไม่แทรกแซงการเมืองไทย-ตั้งฐานทัพ พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่

TNN

World

‘สรุปสาระสำคัญสื่อพบทูตสหรัฐฯ’ ย้ำ ไม่แทรกแซงการเมืองไทย-ตั้งฐานทัพ พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่

ทูตสหรัฐฯ ย้ำ ไม่แทรกแซงการเมือง-ตั้งฐานทัพในไทย พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ เดินหน้าความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ ครบ 190 ปี

เมื่อวานนี้ (27 มิถุนายน) โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย จัดการเสวนาโต๊ะกลม เพื่อเชิญสื่อมวลชนทั้งไทย และต่างชาติ ในการเผยความคืบหน้าความสัมพันธ์ทวิภาคี 190 ปี ระหว่างไทย และสหรัฐฯ โดยมุ่งหวังจะขยายการค้าและการลงทุนในไทย พร้อมพบปะพูดคุยกับภาคธุรกิจทั้งไทย และสหรัฐฯ เกี่ยวกับโอกาสที่มีอยู่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร ตลอดจนอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย 


ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยังได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนตั้งคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสหรัฐฯ ได้ พร้อมปฏิเสธข่าวลือที่เผยแพร่ว่า สหรัฐฯ กำลังทำการแทรกแซงการเมืองไทยอยู่ในขณะนี้ 


รับชมคลิป:

https://fb.watch/lrjjx7ld5r/


---ย้ำชัด ไม่แทรกแซงการเมือง-ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย---


คำถามที่ถูกถามมากสุดจากสื่อมวลชนที่เข้าร่วมเสวนาโต๊ะกลมครั้งนี้ คือประเด็นที่มีข่าวลือเผยแพร่ไปทั่วสังคมไทยว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามแทรกแซงการเมืองไทย 


โกเดค ตอบคำถามดังกล่าว โดยเน้นย้ำหลายครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้แทรกแซงการเลือกตั้งไทย สหรัฐฯ ไม่ได้ชื่นชอบผู้สมัครคนใดเป็นพิเศษ ไม่ได้ชอบพรรคใดเป็นพิเศษ สิ่งที่สหรัฐฯ ทำคือ สนับสนุนกระบวนการตามประชาธิปไตย คนไทยเท่านั้นที่ควรเลือกรัฐบาลของตนเอง


“บรรดาทฤษฎีสมคบคิด และข่าวลือที่ไม่จริงนี้ สร้างความเสียหายให้กับคนไทยนับ 10 ล้านคน ที่เข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง…สหรัฐฯ ไม่มีฐานทัพใด ๆ ในประเทศไทย และเราไม่มีการเจรจาใด ๆ กับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับฐานทัพอเมริกาในไทย”  


“สำหรับข้อมูลผิดที่เผยแพร่กันอยู่ แสงแดดคือ ยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด (sunlight is the best disinfectant) ผมต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของนโยบาย และโครงการของเรา และนั่นคือเป้าหมายของสหรัฐฯ เป้าหมายของผม และนี่คือเหตุผลที่ทำไมผมใช้เวลาทั้งวันกับพวกคุณ (สื่อมวลชน) เพื่อที่จะตอบคำถามจากคุณ และจากประชาชน” โกเดค กล่าว


โกเดค ยังกล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับประเทศไทยมานานเกือบ 200 ปี กับหลากหลายรัฐบาล ทุกวันนี้ สหรัฐฯ ก็ยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน 


“เมื่อปีที่แล้ว พลเอก ประยุทธ์ นายกฯ ได้ไปเยือนที่ทำเนียบขาว ส่วนทางสหรัฐฯ ก็มีการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายครั้งที่นี่ เช่น การเยือนของรองประธานาธิบดีในเอเปค และอื่น ๆ อีกมากมาย เราเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลไทยในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การค้าและการลงทุน การศึกษา การดูแลสุขภาพ การบังคับใช้กฎหมาย เราได้กำหนดแผนสำหรับอนาคตอีกครั้ง ตามแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาที่ลงนามเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีดอนและรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และนั่นคือแผนนำทางที่ดี เรารอคอยที่จะร่วมงานกับรัฐบาลไทยชุดต่อไป เมื่อได้รับเลือกผ่านกระบวนการที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญไทย” เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าว


---พร้อมร่วมทำงานการรัฐบาลไทยชุดใหม่--- 


โกเดค ได้กล่าวถึงว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ว่า สหรัฐฯ นั้นแสวงหาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และต่อเนื่องกับรัฐบาลไทยชุดต่อไป เฉกเช่นกับการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยชุดอื่น ๆ ตลอดช่วงเวลาความสัมพันธ์เกือบสองร้อยปีระหว่างสองชาติ โดยความร่วมมือที่สหรัฐฯ มุ่งเน้นจะพัฒนาร่วมกับรัฐบาลไทยชุดใหม่คือ การขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน และพบปะกับภาคธุรกิจทั้งสหรัฐฯ และไทย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโอกาสที่มีอยู่ ไม่ใช่แค่ด้านการผลิต แต่ยังรวมถึงด้านเกษตรกรรม เป็นต้น ตลอดจน การแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาระหว่างกัน


“ในแง่ของความคาดหวังจากรัฐบาลชุดใหม่ เราได้ทำงานกับรัฐบาลมาหลายชุดแล้ว สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ผมหวังว่าเราจะสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ตามแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (Strategic Communique) ได้” 


“เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสัมพันธไมรตรีกับไทย และนั่นคือสิ่งที่เราทำมาตลอดเกือบ 200 ปี เราต้องการที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ความสัมพันธ์นี้โดยการสร้างการสื่อสาร มีบางพื้นที่ที่เราทำงานร่วมกัน ในการเจรจา IPEF ตัวอย่างเช่น การสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจ การศึกษา ผู้คน และอีกมากมายที่เราสามารถทำด้วยกันได้” โกเดค กล่าว 


ด้านสำนักข่าว TNN ได้มีโอกาสถามคำถามต่อเอกอัครราชทูตในประเด็นการพลิกฟื้นบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน ว่ามีเรื่องใดที่สหรัฐฯ อยากให้ไทยผลักดันเป็นพิเศษ ? 


เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ตอบว่า สหรัฐฯ เคารพหลักการแกนกลางของอาเซียนและความเป็นผู้นำของไทย อาเซียนมีบทบาทที่สำคัญต่อภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ มีส่วนร่วมกับอาเซียนโดยมีเอกอัครราชทูต ที่ทำงานใกล้ชิดกับอาเซียน ไทยมีบทบาทสำคัญ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งที่ได้ทำอะไรหลายอย่างกับอาเซียนในฐานะผู้นำ และสหรัฐฯ อยากเน้นย้ำบทบาทสำคัญมากของไทยเกี่ยวกับเมียนมา


“ในฐานะหนึ่งสมาชิกก่อตั้งและยังทำหลาย ๆ อย่างในฐานะผู้นำของอาเเซียน ผมอยากเน้นย้ำว่า ไทยควรแสดงบทบาทที่สำคัญต่อเมียนมา สำหรับผม นี่เป็นโอกาสที่จะทำอะไรสักอย่างกับเมียนมา เพื่อให้รับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ ขณะนี้ เมียนมากำลังทำร้ายประชาชนของตัวเองซึ่งผมคิดว่าเราสามารถร่วมมือกันทำอะไรสักอย่างได้”


“นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายด้านที่ผมคิดว่าไทยสามารถแสดงความเป็นผู้นำได้ เช่น พันธะสัญญาในเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ ก๊าซเรือนกระจก และแม่น้ำโขงซึ่งไทยมีบทบาทสำคัญ” โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค กล่าว


---การแข่งขันสหรัฐฯ-จีน หวั่นกระทบไทย ?--- 


ในช่วงที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพิ่มมากขึ้นในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ไทยเอง ก็พยายามเดินหน้า และฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งไทยก็ต้องผูกสัมพันธ์กับทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากมีสัมพันธไมตรีที่ยาวนาน โดยเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่ว่าที่รัฐบาลไทยชุดใหม่ มุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ มีกฎหมาย CHIPS and Science Act ที่พยายามกีดกั้นจีนในอุตสาหกรรมดังกล่าว 


เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ตอบคำถามจากสำนักข่าว Sanook ในประเด็นที่ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จะสามารถทำงานร่วมกับไทยในอนาคตได้หรือไม่ ในขณะที่มีความกังวลว่า เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ อาจรั่วไหลไปถึงประเทศจีน 


โกเดค ตอบว่า ไทยเป็นผู้เล่นที่สำคัญอยู่แล้วในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์อันดับที่ 6 ของสหรัฐฯ และบริษัทของสหรัฐฯ เองก็เพิ่งประกาศการลงทุนใหม่ในไทยราว 1,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยการขยายหรือเพิ่มการดำเนินงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ มีการตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทยเมื่อไม่กี่เดือนก่อน 


“ไทยมีความเป็นไปได้มากสำหรับสายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ สภาพแวดล้อมก็เหมาะ และน่าดึงดูดการลงทุน ตลอดจนบริษัทต่าง ๆ มากขึ้นให้เข้ามาสู่ที่นี่” เขา กล่าว  


ขณะเดียวกัน สำนักข่าว The Standard ได้ตั้งคำถามว่า จะมีผลกระทบอะไรบ้าง ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการแข่งขันของ 2 ชาติมหาอำนาจ 


“ผมคิดว่าสหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะรักษาช่องทางการติดต่อสื่อสารกับจีน นี่เป็นสิ่งสำคัญ และเราจะจัดการความสัมพันธ์นี้ ด้วยความรับผิดชอบ เราต้องการการสื่อสาร และเราต้องทำงาน เพื่อจัดการความสัมพันธ์นี้ ด้วยความรับผิดชอบ และเราจะทำเช่นนั้น” โกเดค กล่าว 

—————

แปล-เรียบเรียง: ณัฏฐ์ โสโน, สรวิชญ์ ฉ.โรจน์ประเสริฐ และพรวษา ภักตร์ดวงจันทร์  

ภาพ: TNN World

ข่าวแนะนำ