เปิดไทม์ไลน์ "เรือดำน้ำไททัน" สูญหาย ขณะดำดิ่งดูซากเรือไททานิค
เปิดไทม์ไลน์ "เรือดำน้ำไททัน" สูญหายขณะพาลูกเรือดำดิ่งดูซากเรือไททานิค กลางมหาสมุทรแอตแลนติก
ณ เวลานี้ทั้งโลกยังคงเฝ้าลุ้นภารกิจค้นหาและช่วยเหลือเรือดำน้ำ ไททัน (Titan) ของบริษัท โอเชียนเกต (Oceangate) ที่ขาดการติดต่อไปขณะพาลูกเรือ 5 คนดำดิ่งลงไปดูซากเรือไททานิคกลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีออกซิเจนหายใจได้ 70-96 ชั่วโมง
ผู้สูญหายทั้ง 5 รายไปพร้อมกับเรือดำน้ำไททัน ได้แก่
-นายฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) นักผจญภัยชาวอังกฤษวัย 58 ปีที่เคยมีประสบการณ์เดินทางไปอวกาศและขั้วโลกใต้หลายครั้ง
-นายชาซาดา ดาวู้ด (Shahzada Dawood) นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกของหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของปากีสถานและเป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิ 2 แห่งที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ
-นายซูเลมาน ดาวู้ด (Suleman Dawood) บุตรชายวัย 19 ปีของนายชาซาดา ดาวู้ด
-นายปอล อองรี นาร์โฌเลต์ (Paul-Henry Nargeolet) อดีตนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศสวัย 77 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สำรวจซากเรือไททานิกมากกว่านักสำรวจคนอื่น ๆ และเป็นหนึ่งในคณะสำรวจซากเรือไททานิกกลุ่มแรกในปี 2530
-นายสต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโอเชียนเกตวัย 61 ปี โดยโอเชียนเกตเป็นผู้ทำทริปเที่ยวชมซากเรือไททานิก
ไทม์ไลน์เรือดำน้ำไททัน
วันที่ 17 มิถุนายน 2566
ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นทั้งนักบินและนักสำรวจ ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า กำลังเข้าร่วมปฏิบัติการสำรวจ ซากเรือไททานิค Mission V กับทางบริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชันส์ (OceanGate Expeditions) โดยจะเริ่มออกเดินทางในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้
วันที่ 18 มิถุนายน 2566
เรือดำน้ำไททันเริ่มต้นเดินทางไปยังซากเรือไททานิคตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนสูญเสียการติดต่อกับเรือโพลาร์ ปรินซ์ (Polar Prince) ในเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาทีให้หลัง เร็วกว่ากำหนดการเดินทางสู่จุดหมาย 2 ชั่วโมง โดยเรือโพลาร์ ปรินซ์เป็นเรือแม่ที่ขนส่งไททันไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทาง เจ้าหน้าที่เริ่มต้นออกปฏิบัติการค้นหาในวันเดียวกัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไททัน
วันที่ 19 มิถุนายน 2566
บริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชันส์ แถลงยืนยันการสูญหายของเรือดำน้ำไททัน โดยมีการยืนยันลูกเรือสูญหายคือ ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ
วันที่ 20 มิถุนายน 2566
ต่อมาได้มีการยืนยันรายชื่อลูกเรือสูญหายพร้อมเรือดำน้ำไททันเพิ่มอีก 4 ราย คือ ชาซาดา ดาวู้ด , ซูเลมาน ดาวู้ด , ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ และ สต็อกตัน รัช โดยทีมงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งประจำอยู่ที่บอสตัน ได้เริ่มภารกิจค้นหาเรือดำน้ำไททันและบุคคลทั้ง 5 คนที่อยู่บนเรืออย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง
วันที่ 21 มิถุนายน 2566
-หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์เมื่อเช้าตรู่วันนี้ โดยระบุว่า เครื่องบินของแคนาดา ตรวจพบสัญญาณเสียงรบกวนใต้น้ำในทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ในระหว่างค้นหายานดำน้ำที่พานักท่องเที่ยวไปชมซากของเรือไททานิค แต่ได้สูญหายไปในระหว่างการเดินทาง โดยทีมค้นหาได้กำหนดตำแหน่งใหม่สำหรับปฏิบัติการค้นหาของหุ่นยนต์ใต้น้ำ เพื่อพยายามเสาะหาต้นกำเนิดของเสียง
- เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ เทคครันช์ (Techcrunch) รายงานว่า ในปี 2018 ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท โอเชียนเกต (OceanGate) ชื่อเดวิด ลอชริดจ์ (David Lochridge) ถูกไล่ออกจากบริษัท หลังจากที่เขาได้แสดงความกังวลด้านความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททันหลายครั้ง จนในที่สุดเขาจึงได้ตัดสินใจทำรายงานข้อบกพร่องของเรือไททันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และได้นำเสนอแผนการควบคุมคุณภาพต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โอเชียนเกต ก่อนจะถูกทีมผู้บริหารระดับสูงปัดตก
วันที่ 22 มิถุนายน 2566
- การค้นหาเรือดำน้ำและผู้สูญหาย เต็มไปด้วยความกดดันและท้าทาย เพราะยิ่งเวลาผ่านไปหลายวัน ปริมาณออกซิเจนในเรือก็เหลือน้อยลงไปทุกที ซึ่งคาดว่าจะหมดลงในเวลาประมาณ 17.00 น. วันนี้ตามเวลาในไทย
-พลเรือตรี จอห์น มอเกอร์ ผู้บัญชาการยามฝั่งสหรัฐฯ เขตที่ 1 ซึ่งเป็นเหมือนผู้นำในปฏิบัติการค้นหาครั้งนี้ ระบุล่าสุดว่า ยังไม่ทราบแหล่งที่มาของเสียงใต้น้ำ และขณะนี้ยังคงวิเคราะห์หาแหล่งที่มาของเสียงอยู่ ยังไม่ได้ข้อสรุปใด ๆ
ส่วนสื่อหลายสำนักให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เสียงปริศนาจากใต้น้ำ ดังเป็นระยะ ๆ ห่างกันประมาณ 30 นาที เกิดขึ้นอยู่นานประมาณ 4 ชั่วโมง
- บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นว่า หากยานดำน้ำไททันยังคงอยู่ในสภาพปกติใต้ทะเล มีหนทางเดียวที่จะช่วยกู้เรือขึ้นมาได้ ซึ่งก็คือการลากหรือดึงยานดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำ
ปฏิบัติการค้นหายานดำน้ำไททันชมซากเรือไททานิค ได้ค้นหาลึกลงไปประมาณ 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) จากผิวน้ำ ทำให้ต้องเพิ่มเครื่องบินและเรืออีกหลายลำเข้าร่วมในปฏิบัติการค้นหา ล่าสุดคือเครื่องบินของกองทัพอากาศแคนาดาหลายลำ และเพิ่มเรืออีกหลายลำ นอกจากนี้ ยังมียานที่ปฏิบัติการอย่างหุ่นยนต์ หรือ ROV เข้าร่วมล่าสุดด้วย
ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เตรียมเรือและเครื่องจักรที่จะใช้ดึงยานไททันขึ้นจากใต้ทะเลลึก เตรียมพร้อมปฏิบัติการแล้ว ระบบช่วยเหลือนี้เรียกว่า FADOSS ใช้ในกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการกู้วัตถุจมน้ำทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เคยมีผลงานกู้วัตถุใต้น้ำลึกที่สุด 19,750 ฟุตมาแล้ว สามารถกู้ยานดำน้ำไททันได้แน่ เพราะคาดว่ายานน่าจะอยู่ใกล้กับซากเรือไททานิคที่จมอยู่ใต้น้ำที่ความลึก 12,467 ฟุต
หากอ้างอิงกันตามทฤษฎี ออกซิเจนในเรือดำน้ำไททัน ที่ลงไปชมซากเรือไททานิค ได้หมดลงแล้ว เมื่อเวลา 17:00 น.ของวันที่ 22 มิ.ย.66 ตามเวลาประเทศไทย
- อัปเดตล่าสุด ยานสำรวจใต้น้ำระยะไกล (ROV) ที่ได้ส่งลงไปค้นหาเรือดำน้ำไททัน ได้ตรวจพบชิ้นส่วนบริเวณใต้ซากเรือไททานิค แต่อย่างไรก็ดียังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า เศษชิ้นส่วนดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำไททันหรือไม่
วันที่ 23 มิถุนายน 2566
-แคนาดาส่งหุ่นยนต์ดำน้ำไร้คนขับ (ROV) ลงไปค้นหาบริเวณซากเรือไททานิค ปรากฏว่าพบชิ้นส่วนบังคับลงจอดและส่วนท้ายของไททันอยู่ห่างจากหัวเรือไททานิคราว 480 เมตร ต่อมายังพบชิ้นส่วนอื่น ๆ อีก 3 ชิ้น และพบเศษกระจัดกระจายในบริเวณเดียวกัน
-หน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ แถลงข่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย สาเหตุคาดว่าเกิดจากยานถูกแรงดันน้ำมหาศาลบดอัด จนเกิดการยุบตัวเข้าหาตัวเองอย่างรวดเร็วรุนแรงก่อนระเบิด
นอกจากนี้ พลเรือตรี จอห์น เมาเกอร์ แห่งหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ ยังได้กล่าวเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด เพื่อแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของทั้ง 5 คน และกล่าวเสริมว่า เขาไม่สามารถยืนยันได้ว่า หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ จะสามารถกู้ร่างของผู้โดยสารทั้ง 5 คนที่อยู่ในยานดำน้ำไททันมาได้หรือไม่
- สำนักงานข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ตรวจพบเสียงระเบิดได้ตั้งแต่วันแรกที่ "ไททัน" ขาดการติดต่อ การระเบิดของไททันเป็นการระเบิดแบบยุบตัวลงภายใน อาจไม่สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ได้
ขนาดของเรือดำน้ำไททัน
เรือดำน้ำไททันที่สูญหายเป็นของบริษัทเอกชน ‘โอเชียน เกท’ เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ยาว 6.7 เมตร มีขนาดประมาณรถบรรทุก 1 คัน จุดคนได้ 5 คน ดำน้ำได้ลึก 4,000 เมตร มีออกซิเจนสำรองกรณีฉุกเฉินนาน 4 วัน
ส่วนราคาตั๋วเรือดำน้ำไปชมซากไททานิค มีราคา 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 ล้าน 7 แสนบาท สำหรับการท่องเที่ยวนาน 8 วัน ที่รวมถึงการลงเรือดำน้ำดูซากเรือไททานิคด้วย ที่จมอยู่ที่ความลึก 3,800 เมตร