เผยภาพสแกน “ซากเรือไททานิก” ครั้งแรก ไขปริศนาจมทะเลได้อย่างไร?
เผยภาพสแกนดิจิทัลของ“ซากเรือไททานิก” จมอยู่ใต้ทะเลลึกมานานกว่าหนึ่งร้อยปีเป็นครั้งแรก อาจช่วยไขปริศนาจมสู่ก้นทะเลได้อย่างไร
วันนี้ ( 18 พ.ค. 66 )มีการเปิดเผยภาพสแกนดิจิทัลของเรือไททานิคที่จมอยู่ใต้ทะเลลึกมานานกว่าหนึ่งร้อยปีเป็นครั้งแรก ซึ่งภาพชุดนี้แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของเรือไททานิค ที่อาจจะช่วยไขปริศนาว่าเรือลำนี้จมสู่ก้นทะเลได้อย่างไร
ภาพชุดดังกล่าวประกอบไปด้วยภาพถ่ายมากกว่า 7 แสนใบ ที่ถ่ายทุกตารางเซนติเมตรของซากเรือไททานิค และนำมาประกอบเป็นภาพสามมิติ โดยใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำซึ่งใช้เวลาทำงานรวมมากกว่า 200 ชั่วโมง
ภาพที่ได้เผยให้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเห็นกระทั่งเลขทะเบียนของอุปกรณ์ในเรือ ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องเรือไททานิคระบุว่า ภาพชุดนี้เป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การวิจัยเรื่องราวของไททานิคที่ตั้งอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริง โดยไม่ใช่การคาดเดา
ทั้งนี้ซากเรือไททานิคถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1985 แต่การสำรวจยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเรือจมอยู่ที่ระดับความลึก 3,800 เมตร ภาพที่ได้ก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นตัวเรือเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด
บริษัทที่ดำเนินการและผลิตภาพสแกนเรือไททานิค คือบริษัททมาเจลแลน (Magellan Ltd) ที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำแผนที่ใต้ทะเล และบริษัทแอตแลนติก โปรดัคชั่นส์ ที่ร่วมผลิตสารคดีชุดนี้
ทั้งนี้เรือไททานิค ประสบเหตุอับปางในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปี 1912 หรือเมื่อ 111 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างที่เดินทางจากเมืองเซาท์แธมตัน ของอังกฤษ มุ่งหน้าสู่นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ แต่เกิดอุบัติเหตุชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง จนทำให้เรืออับปาง และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,500 คน
ภาพจาก : รอยเตอร์