ตุรกีเจองานช้าง! ต้องเคลียร์ซากปรักหักพังนับร้อยล้านตันหลังแผ่นดินไหว
ตุรกีเจองานช้าง ต้องเคลียร์ซากปรักหักพังนับร้อยล้านตัน บางส่วนเจอปนสารพิษอันตราย หลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศ
ตุรกีเจองานช้าง ต้องเคลียร์ซากปรักหักพังนับร้อยล้านตัน บางส่วนเจอปนสารพิษอันตราย หลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศ
หลังจากเกิด แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงในตุรกีและซีเรีย และ อาฟเตอร์ช็อคหลายระลอกตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. ทำให้อาคารบ้านเรือนอย่างน้อย 156,000 หลังคา พังย่อยยับเหลือแต่ซาก หรือ ได้รับความเสียหายถึงจุดที่ต้องถูกทุบทำลาย ขณะที่หลายพื้นที่ในหลายเมือง อาคารพังถล่มราบเหลือแต่ซากคอนกรีตและเหล็ก
โครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพี เผยว่า แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อค ทำให้อาคารในตุรกีพังถล่มกลายเป็นซากปรักหักพังรวม 116-210 ล้านตัน ถ้าขนมากองซ้อนกันสูง 1 เมตร จะเทียบเท่าพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร หรือ เท่ากับพื้นที่ของเมืองบาร์เซโลนา แคว้นคาตาลันของสเปน และถือว่าทำให้เกิดซากปรักหักพังมากกว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีเมื่อปี2542 อย่างน้อย 10เท่า
ประธานาธิบดี เรเซฟ ทายยิบ เออร์โดกันของตุรกีที่เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปที่น่าจะจัดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. ประกาศให้คำมั่นจะฟื้นฟูสร้างบ้านใหม่ให้ประชาชนภายในหนึ่งปี โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของตุรกี ระบุด้วยว่า มีการเปิดประมูลและมอบสัญญาก่อสร้างแล้วในบางโครงการและให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง หลังเหล่าผู้เชี่ยวชาญเตือนควรให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมากกว่าความเร็วในการเร่งก่อสร้าง
ขณะเดียวกัน มีการขนซากปรักหักพังส่วนมากไปกองเก็บไว้ที่หลุมเก็บชั่วคราว ทำให้เกิดความเป็นห่วงเกี่ยวกับการปนเปื้อน เมื่อเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า วัสดุก่อสร้างอาคารเก่าอาจมีแร่ใยหิน หรือ เอสเบสทอส ผสมรวมอยู่ด้วย แร่ใยหิน เป็นเส้นใยหรือไฟเบอร์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่มีการสั่งห้ามใช้ในหลายประเทศรวมทั้งในตุรกี
เกี่ยวกับข้อวิตกเรื่องนี้ นายเมเหม็ต เอมิน เบอร์ปินาร์ รมช.กระทรวงสิ่งแวดล้อมของตุรกี ทวีตข้อความระบุว่า มีการใช้ระบบปิดควบคุมฝุ่นเพื่อป้องกันฝุ่นพิษ อย่าง แร่ใยหิน ลอยฟุ้งในอากาศ ขณะที่ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ สังเกตพบรถบรรทุกน้ำทำการฉีดน้ำไล่ฝุ่นบนซากความเสียหายขณะมีการขนย้ายขึ้นรถบรรทุกในหลายเมืองรวมทั้ง เมืองอันทัคยา และ ออสมานิเย แต่ในหลายกรณีอื่นๆไม่พบมีการใช้มาตรการป้องกันฝุ่นพิษดังกล่าว
ภาพจาก AFP