ยุโรปอ้างเหตุท่อก๊าซ ‘นอร์ด สตรีม’ รั่ว เป็นการก่อวินาศกรรม
ยุโรปอ้างเหตุท่อก๊าซรั่วเป็นการก่อวินาศกรรม อาจทำราคาก๊าซช่วงฤดูหนาวพุ่งสูงขึ้น
ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งข้อสงสัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่อก๊าซ 'นอร์ด สตรีม' เป็นการก่อวินาศกรรม ขณะที่นอร์เวย์ได้เพิ่มกำลังพลบริเวณท่อส่งก๊าซ เหตุการณ์ในครั้งนี้ส่งผลกระทบในหลายแง่ทั้งราคาก๊าซที่อาจพุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว รวมถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม
---ยุโรปตั้งข้อสงสัยท่อส่งก๊าซรั่วเป็นการก่อวินาศกรรม---
ประเทศในยุโรป ระบุว่า จะยกระดับรักษาความปลอดภัยบริเวณท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หลังพบท่อก๊าซนอร์ด สตรีม ที่เชื่อมระหว่างรัสเซียและเยอรมนีรั่ว โดยสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และนาโต ระบุว่า เหตุการณ์ท่อก๊าซรั่วเกิดขึ้นจากความตั้งใจ ขณะที่ฝ่ายรัสเซียระบุว่า ไม่ใส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับตั้งคำถามกลับว่า การที่ท่อก๊าซรั่วนั้นเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ หรือไม่
รอยรั่วบริเวณท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 1 และ 2 ถูกพบเมื่อวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งท่อส่งก๊าซทั้งสองไม่ได้ถูกใช้งานขณะที่พบรอยรั่ว โดยท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 ไม่ได้ถูกใช้งาน ขณะที่รัสเซียปฏิบัติการณ์ทางทหารในยูเครน ส่วนท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ได้ถูกระงับการใช้งานเพื่อซ่อมแซมเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา
ท่อส่งก๊าซทั้งสองยังคงมีก๊าซอยู่ภายใน ซึ่งผุดขึ้นมาสามารถสังเหตเห็นได้เหนือผิวน้ำ กินพื้นที่ราว 1 กิโลเมตร ยามฝั่งสวีเดินเปิดคลิปภาพถ่ายจากทางอากาศ เห็นพื้นผิวน้ำทะเลกำลังผุดขึ้นเป็นพรายฟองอย่างต่อเนื่องเมื่อวานนี้ ( 27 ก.ย.) ในทะเลบอลติก นอกชายฝั่งเดนมาร์ก บริเวณเหนือท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 และ 2 ที่วางอยู่ใต้ทะเล หลังท่อส่งก๊าซทั้ง 2 เกิดแตกรั่วโดยไม่ทราบสาเหตุ
ด้านนักแผ่นดินไหววิทยาในเดนมาร์กและสวีเดน ตรวจพบการระเบิดอย่างรุนแรงหลายครั้ง ในพื้นที่ท่อก๊าซแตกรั่วเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ส่วนเยอรมนีพบว่า เครื่องตรวจจับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนเกาะบอร์นโฮล์มของเดนมาร์ก บันทึกแรงสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้น 2 ครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเช่นกัน
ด้านแดน จอร์เกนเซน รัฐมนตรีพลังงานของเดนมาร์ก ระบุว่า อาจเกิดการรั่วต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จนกว่าก๊าซที่สะสมอยู่ในท่อรั่วออกมาจนหมด และได้มีการเริ่มต้นสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว
---รัสเซียปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับเหตุ ‘นอร์ด สตรีม’ รั่ว---
ก่อนหน้านี้รัสเซียได้ถูกกล่าวหาว่า ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องมือเพื่อต่อกรกับชาติตะวันตก ที่ให้ความช่วยเหลือยูเครน
ด้าน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อมทั้งระบุว่า การกล่าวหาว่าท่อก๊าซรั่วเป็นการก่อวินาศกรรมนั้น เป็นการกล่าวหาที่โง่เขลาและไร้สาระ
ขณะเดียวกันก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกัน และยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าจะต้องใช้เวลาซ่อมแซมท่อก๊าซนานขนาดไหน
---ยุโรปยกระดับความมั่นคงด้านพลังงาน---
โดยหัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป โจเซฟ บอร์เรลล์ แถลงในวันพุธว่า หลักฐานต่าง ๆ ล้วนชี้ให้เห็นว่าการเกิดฟองอากาศขนาดใหญ่กลางทะเลบอลติกในสัปดาห์นี้เกิดจาก "การกระทำโดยมีการวางแผนไว้ก่อน" เพื่อโจมตีท่อส่งก๊าซ นอร์ดสตรีม (Nord Stream) ทั้งสองแห่ง
โจเซฟ บอร์เรลล์ ระบุในแถลงการณ์ว่า "จะสนับสนุนการสืบสวนที่มีเป้าหมายไขความกระจ่างว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไม รวมทั้งจะใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน" และว่า "การกระทำใด ๆ ที่มีจุดประสงค์ทำลายโครงสร้างด้านพลังงานของยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้และต้องเผชิญการตอบโต้อย่างรุนแรง"
อียูให้คำมั่นว่าจะตอบโต้อย่างรุนแรงต่อเจตนาใด ๆ ก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน หลังจากระบุว่า อียูสงสัยว่า การก่อวินาศกรรมอยู่เบื้องหลังการรั่วไหลของก๊าซที่พบในสัปดาห์นี้
ด้านประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซมากที่สุดในยุโรป ได้ระดมกำลังทหารเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นที่ฐานที่สำคัญ โดยนายกรัฐมนตรี โจนาส การ์ สโตร์ ของนอร์เวย์ ระบุว่า จะเพิ่มกำลังทหารบริเวณท่อน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง และจะมีการรับมือกับการถูกโจมตีพร้อมกับพันธมิตร ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวขบริเวณชายฝั่งด้วย
---อาจเกิดการรั่วต่อเนื่องอย่างน้อย 1 สัปดาห์---
ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 เป็นท่อส่งก๊าซแบบคู่ขนาน มีระยะทาง 1,200 กิโลเมตร ถูกฝังอยู่ใต้ทะเลบอลติก เชื่อมระหว่างชายฝั่งของรัสเซีย ใกล้นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กับทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี
ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อท่อส่งก๊าซครั้งนี้ จะทำให้ไม่สามารถส่งก๊าซไปยังยุโรปในช่วงฤดูหนาวได้ ทำให้ราคาก๊าซพุ่งสูง ซ้ำเติมวิกฤตพลังงาน
ด้านผู้เชี่ยวชาญจาก Eurasia Group ได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า การรั่วของท่อก๊าซในครั้งนี้ อาจหมายถึงการปิดท่อก๊าซอย่างถาวร ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหาย และการรั่วที่ใหญ่ขนาดนี้เป็นภัยต่อความปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการลอยตัวของเรือที่แล่นผ่านจุดที่ก๊าซรั่ว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงว่าจะเกิดไฟลุกบริเวณดังกล่าวอีกด้วย
—————
แปล-เรียบเรียง: นัฐชา กิจโมกข์
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: