จับตานโยบายต่อรัสเซีย หลังพรรคฝ่ายขวาชนะเลือกตั้งอิตาลี
จับตานโยบายอิตาลีที่มีต่อรัสเซีย หลังอิตาลีจ่อได้นายกฯ หญิงคนแรกของประเทศที่มาจากพรรคฝ่ายขวา
อิตาลีกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ และจะมีรัฐบาลที่เป็นการรวมตัวกันของพรรคฝ่ายขวาและฝ่ายขวาจัด จึงทำให้มีการจับตามองว่า นโยบายที่มีต่อรัสเซีย จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่
---นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี---
จอร์เจีย เมโลนี ผู้นำพรรคขวาจัด Brothers of Italy กำลังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลีแล้ว หลังผลเอ็กซิตโพลเผยว่า พรรคของเธอได้ที่นั่งมากสุดร้อยละ 26 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ส่วนพรรคพันธมิตรของเธอ คือ พรรค League ของมัตเตโอ ซัลบินี และพรรค Forward Italy ของอดีตนายกรัฐมนตรีซิลบิโอ แบร์ลุสโคนี ได้ที่นั่งร้อยละ 8.7 และ 8.2 ตามลำดับ ซึ่งหากรวมกันสามพรรค จะได้ที่นั่งเพียงพอสำหรับการมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
เมโลนีแถลงข่าวว่า “หากมีเสียงเรียกร้องให้เราปกครองประเทศนี้ เราก็จะทำเช่นนั้นเพื่อชาวอิตาเลียนทุกคน ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างเอกภาพ และทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นชาวอิตาเลียน และโบงธงชาติอิตาลี ในเมื่อคุณเลือกเรา เราก็จะไม่ทรยศคุณ”
ทั้งนี้ พรรคฝั่งตรงข้าม Democratic Party ซึ่งล้มเหลวในการรวมพรรคสายกลางและฝ่ายซ้ายอื่น ๆ คาดว่าจะได้ที่นั่งร้อยละ 18.3
---โอกาสที่ ‘เมโลนี’ ได้รับจากชาวอิตาเลียน---
สำหรับพรรคของเมโลนีนั้น ถือว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง จากเดิมที่ตัวเลขการสนับสนุนจากประชาชนนั้นอยู่ในหลักเดี่ยวในปี 2018 แต่ด้วยความที่การเมืองอิตาลีไม่มีเสถียรภาพมากว่า 11 ปีแล้ว และมีมากถึง 7 รัฐบาล ทำให้ผู้คนเริ่มเหนื่อยหน่าย และมองว่าเมโลนี เป็นตัวเลือกเดียวที่ยังเหลืออยู่ ที่ยังไม่ได้โอกาส
เมโลนี ยังมีชื่อเสียงมากขึ้น จากการที่เธอไม่สนับสนุนรัฐบาลของนายมาริโอ ดรากี และตอนนี้เธอกำลังจะเป็นผู้นำคนแรกของประเทศที่มาจากฝ่ายขวาจัด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่นโยบายที่เธอหาเสียงไว้ คือ การลดภาษี การใช้มาตรการปิดกั้นทางทะเลเพื่อยับยั้งคลื่อนผู้อพยพ และการชูให้ผลประโยชน์ออกชาวอิตาลีอยู่เหนือสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ แต่รัฐบาลชุดใหม่จะจัดตั้งได้ไม่เกินกลางเดือนพฤศจิกายน
---สัมพันธ์อิตาลี-รัสเซีย---
อย่างไรก็ตาม การที่เมโลนีชนะการเลือกตั้ง ทำให้มีการจับตานโยบายต่อรัสเซียของอิตาลีว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ในปี 2018 ที่ประธานาธิบวลาดิเมียร์ ปูติน ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 4 บรรดาผู้นำพรรคฝ่ายขวาบางคนของอิตาลีต่างเร่งแสดงความยินดีต่อปูติน รวมถึงเมโลนี ที่โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ของเธอว่า “เจตนารมณ์ของชาวรัสเซียในการเลือกตั้งนั้นชัดเจน”
โพสต์ดังกล่าวของเธอในอดีต ทำให้เกิดกระแสในสังคมออนไลน์อีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ เพราะพรรคพันธมิตรของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่นั้น ล้วนมีอดีตที่มีสายสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัสเซียทั้งนั้น จึงทำให้เกิดความกังวลว่า รัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลี อาจกลับมาใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังทำทุกวิถีทางในการกดดันรัสเซียให้ยุติสงครามในยูเครน
เอ็นริโค เล็ตตา ผู้นำพรรคฝ่ายซ้ายกลาง Democratic Party ซึ่งชูนโยบายของตนเองว่าอิตาลีจะอยู่ในใจของยุโรป เตือนว่า ในเวทีระหว่างประเทศ คนที่ยินดีที่เมโลนีชนะการเลือกตั้ง เห็นทีจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ วลาดิเมียร์ ปูติน และในยุโรป ก็คงเป็นวิกเตอร์ ออร์บาน
ที่ผ่านมา เมโลนี พยายามคลายความกังวลของยุโรป ด้วยการประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับอียูและนาโตจะยังคงแน่นแฟ้น และเธอแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะสนับสนุนยูเครนต่อไป
พรรค Brothers of Italy ของเมโลนี พยายามที่จะมุ่งสู่ความเป็นกระแสหลัก หรือ mainstream ทั้งในการการเมืองและวัฒนธรรมมากขึ้น แต่บรรดานักวิจารณ์มองไปถึงต้นกำหนดของพรรค ซึ่งย้อนไปถึงการก่อตั้ง Italian Social Movement หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยกลุ่มผู้สนับสนุนเบนิโต มุสโสลินี ผู้ก่อตั้งพรรค National Fascist
ขณะที่พรรค Brothers of Italy ได้สัญลักษณ์นีโอ-ฟาสซิสต์ และยังมีพันธมิตรเป็นทายาทของมุสโสลินี โดยเหลนของมุสโสลินี เป็นผู้สมัครของพรรคชิงที่นั่งในรัฐสภายุโรปเมื่อปี 2019
---จับตานโยบายของอิตาลีที่มีต่อรัสเซีย---
นอกจากนี้ ซัลบินี ผู้นำพรรค League พันธมิตรของเมโลนี ยังถูกกล่าวหาว่ารับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างผิดกฎหมายจากรัฐบาลรัสเซีย ส่วนแบร์ลุสโคนีนั้น เป็นเพื่อนของปูติน และผู้นำทั้งสอง มักไปเยือนบ้านพักฤดูร้อนซึ่งกันและกัน
ในเดือนกรกฎาคม ที่รัฐบาลของนายดรากีล่มสลาย รัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลีในเวลานั้น กล่าวหาว่า ผู้นำรัสเซียกำลังทำงานเพื่อทำให้อิตาลีและยุโรปไร้เสถียรภาพ
ขณะที่สื่ออิตาลีรายการงานว่า พรรคของซัลบินีและแบร์ลุสโคนี ติดต่อสื่อสารกับสถานทูตรัสเซียในกรุงโรม หลังจากนั้น ทั้งสองพรรคก็ถอนตัวจากรัฐบาลของนายดรากี จนทำให้รัฐบาลล่มสลาย จึงทำให้มีการกล่าวหาว่า รัสเซียแทรกแซงการเมืองอิตาลี แต่แน่นอนว่า สองพรรคของอิตาลีปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุกับ Al Jazeera ว่า แม้รัสเซียจะยินดีกับการที่รัฐบาลของนายดรากีล่มสลายไป และแม้พรรคฝ่ายของของอิตาลีในอดีต จะนิยมชมชอบรัสเซียในบางจุดยืน เช่น เรื่องอธิปไตยของชาติ
แต่บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากอดีต การที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน จึงทำให้การเปลี่ยนนโยบายหันเข้าหารัสเซียนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: