TNN ‘คอร์รัปชันทำศรีลังกาล่มสลาย’ พิษเศรษฐกิจทำประชาชนลุกขึ้นสู้ 'ราชปักษา' หมดอำนาจทางการเมือง?

TNN

World

‘คอร์รัปชันทำศรีลังกาล่มสลาย’ พิษเศรษฐกิจทำประชาชนลุกขึ้นสู้ 'ราชปักษา' หมดอำนาจทางการเมือง?

ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายสุดในรอบ 74 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราช เนื่องจากขาดแคลนเชื้อเพลิง เงินตราต่างประเทศอย่างหนัก รัฐบาลต้องจำกัดการเติมน้ำมันให้แก่ยานพาหนะแต่ละประเภท รวมถึงต้องตัดไฟทั่วประเทศมากกว่า 10 ชั่วโมง เพื่อประหยัดพลังงาน

ประชาชนตกอยู่ภายใต้ความลำบากนานหลายเดือน ลุกขึ้นขับไล่รัฐบาล ‘ราชปักษา’ ตระกูลผู้มีอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดของประเทศ ผู้ได้รับความนิยมจากประชาชน และครองอำนาจศรีลังกานานเกือบ 2 ทศวรรษ 


มาในวันนี้ ผู้นำศรีลังกาและครอบครัวต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และอาจกลายเป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของตระกูลทางการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ อนาคตการเมืองและเศรษฐกิจของศรีลังกาต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ร่วมวิเคราะห์ไปกับ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ 


---‘ราชปักษา’ ผู้ครองศรีลังกาเกือบ 2 ทศวรรษ--- 


ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ และสถานการณ์ศรีลังกาที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่า ปัญหาของศรีลังกา ถ้ามองในมุมรัฐศาสตร์ และอำนาจ จะเห็นได้ชัดว่า ต้นตอของปัญหาประการหนึ่งมาจาก “การใช้อำนาจไม่เหมาะสมของประธานาธิบดีของศรีลังกาเอง” 


“การที่เขาจะสามารถใช้อำนาจในลักษณะนี้ได้ แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งมาจากคะแนนนิยมของชาวศรีลังกา ที่เทให้กับเขาในช่วงตระกูลราชปักษาเข้ามามีอำนาจตั้งแต่สมัยแรก ซึ่งก็คือ ปี 2005-2015” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว 


นอกจากนี้ ผศ.ดร.มาโนชญ์ ได้วิเคราะห์ถึงอำนาจฐานคะแนนนิยมของตระกูลราชปักษามาจาก 2 ปัจจัยหลักสำคัญ ที่ทำให้ศรีลังกาต้องเผชิญกับปัญหาในวันนี้ ได้แก่ 


“นโยบายประชานิยม” ที่เน้นการกู้หนี้ยืมสิน แล้วจัดการบริหารเงินตราระหว่างประเทศผิดพลาด กู้มาแล้วไม่สามารถบริหารโครงการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพได้ หนำซ้ำยังกระตุ้นคะแนนนิยมด้วยการลดอัตราภาษี งดเว้นภาษี ตั้งพิกัดรายได้ให้สูง จะได้ไม่ต้องเสียภาษี ชาวศรีลังกาจึงนิยมชมชอบนโยบายนี้

 

“นโยบายชาตินิยม” นับตั้งแต่ตระกูลราชปักษาเข้ามามีอำนาจ การต่อสู้กับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 2 ของศรีลังกา มีความทวีความรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การปราบปรามในปี 2009 อย่างรุนแรง และแทบจะทำให้กลุ่มติดอาวุธนี้หายไปจากประเทศ


“ด้วย 2 ปัจจัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมก็ดี การปราบปรามพยัคฆ์ทมิฬอีแลม แล้วให้ความสำคัญกับชาวสิงหล ซึ่งเป็นชนกลุ่มมากในศรีลังกา ทำให้คะแนนนิยมตระกูลราชปักษาในสมัยนั้น กระเตื้องสูงขึ้นมาก ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มถลายเมื่อปี 2010 ในสมัยที่ 2” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว 


---‘ทุจริตคอร์รัปชัน’ ทำชาติล่มสลาย--- 

 

เมื่อตระกูลราชปักษาได้รับคะแนนนิยมด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้การใช้อำนาจของพวกเขาเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสม นั่นคือการแต่งตั้งให้คนในตระกูลราชปักษา มีตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ท้ายที่สุดนำไปสู่การ “ทุจริตคอร์รัปชัน” เงินที่กู้มา เพื่อลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ 


นอกจากนี้ ความซับซ้อนทางการเมืองที่ผ่านมาของประเทศ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจไปมาระหว่างตระกูลราชปักษา และสิริเสนา ทำให้หลายโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยของแต่ละตระกูลเข้ามามีบทบาททางการเมืองของประเทศ ต้องหยุดชะงักไป หมดความน่าเชื่อถือจากต่างชาติ ทำให้กู้เงินมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจช่วงวิกฤตได้ยากขึ้น เนื่องจาก มีหนี้เก่าที่ยังไม่สามารถสร้างกำไรได้จำนวนมาก  


“รัฐบาลของราชปักษา เอาคนในตระกูลมาบริหารประเทศเป็นจำนวนมาก ก็มีปัญหาเรื่องของการถูกมองว่า ‘คอร์รัปชัน’ ดังนั้นความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เขาจะเอามาให้กับศรีลังกา เขาก็คงไม่มั่นใจว่า จะนำเงินที่ให้ช่วยเหลือไป ไปบริหารอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือจะมีการคอร์รัปชันกันอีก”


ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า ตระกูลราชปักษาถูกต่อต้านจากประชาชนอย่างมาก และคงมีบทบาท หรือ อิทธิพลต่อไปในศรีลังกาได้ยาก เพราะฉะนั้น การให้ความช่วยเหลือผ่านตระกูลราชปักษา ในระยะยาวไม่คุ้มแน่นอน 


“ตระกูลราชปักษา ถ้าสมมติว่าหลังจากนี้ จะมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา ที่มีตัวแทนมาจากทุกพรรค ผมคิดว่า ตระกูลราชปักษาคงจะถูกกั้นออกไปจากรัฐบาลชุดนี้ และทำให้อิทธิพลของตระกูลนี้ลดลงมากในศรีลังกา อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อนาคตเป็นไปได้ว่า อาจค่อย ๆ กลับฟื้นคืนมา” เขา กล่าว 


--- ความโกรธที่สั่งสม ประชาชนขับไล่รัฐบาล--- 


ประชาชนศรีลังกากว่า 22 ล้านคน ต้องตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากนานหลายเดือน จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จนทนไม่ไหวลุกขึ้นมาประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตระกูลราชปักษาลาออก และค่อย ๆ มีการยกระดับการชุมนุมมากขึ้น นำไปสู่เหตุการณ์บุกทำเนียบประธานาธิบดี และเผาบ้านพักของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเรียกการยกระดับครั้งนี้ว่า “เป็นการผลักดันครั้งสุดท้าย” และเหตุดังกล่าว ทำให้ผู้นำประเทศและครอบครัวต้องหลบหนีออกนอกประเทศไป 


ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่สะสมกันมา ทำให้ประชาชนทนกับประธานาธิบดีโกตาบายาไม่ไหว ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศที่ผิดพลาด ไม่สามารถจัดหาพลังงาน น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และสิ่งของจำเป็นในศรีลังกาได้ ปัญหาตรงนี้ ได้สร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชน


“ลองนึกสภาพดูนะครับ คนไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นวัน ๆ ต่อคิวเติมน้ำมัน 2-3 วัน โรงพยาบาลไม่สามารถที่จะทำงานได้เต็มที่ เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ในสภาพเช่นนี้ มันทำให้คนเกิดความเครียดแค้น โกรธโมโห แต่เขาก็พยายามที่จะแสดงออกด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลโกตาบายา รับผิดชอบด้วยการลาออกไป เขาก็ยกระดับมาเรื่อย ๆ แต่รัฐบาลไม่ลาออกสักที” 


“ในมุมของประชาชนที่เขาทนมานานคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จนแล้วจนรอดมีแต่แย่ลง ท้ายที่สุดมาประกาศไม่ขายน้ำมัน มันจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขาหมดความอดทน และบุกไปที่ทำเนียบประธานาธิบดี บ้านนายกฯ อย่างที่เราเห็นกัน” เขา กล่าว 


---ไม่ใช่แค่ลาออก แต่ต้องถูกดำเนินคดี---  


แม้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกา จะประกาศลงจากตำแหน่งในวันที่ 13 กรกฎาคม และหลบหนีออกนอกประเทศได้สำเร็จ แต่ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่ ต้องการให้กลุ่มตระกูลราชปักษารับผิดชอบ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทั้งหมด 


“มันเป็นความต้องการของผู้ประท้วงเลยนะ ไม่ใช่แค่ประกาศลาออกเท่านั้น แต่ว่าจะต้องเอาทรัพย์สินของหลวง ของราชการกลับคืนมาด้วย และต้องดำเนินคดีด้วย อันนี้คือสิ่งที่ผู้ชุมนุมเขาเรียกร้อง ดังนั้นภารกิจแรกที่สำคัญของรัฐบาลในอนาคต คือ ต้องเอาตัวของ ‘โกตาบายา ราชปักษา’ กลับมาให้ได้” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว  


ผศ.ดร.มาโนชญ์ ยังวิเคราะห์ถึงการตั้งคำถามว่า ทำไมโกตาบายจะต้องลาออกวันที่ 13 กรกฎาคม โดยชี้ให้เห็นถึงเหตุผล 2 ประการ เหตุผลแรกคือ ถ้าโกตาบายาประกาศลาออกเลย จะมีโอกาสถูกดำเนินคดีทันที แต่ถ้ายังยื้อตำแหน่งต่อไป เขาจะมีเอกสิทธิ์การได้รับความคุ้มครองในฐานะประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญของศรีลังกา


เหตุผลที่ 2 โกตาบายาต้องการความคุ้มครองจากทหาร เนื่องจากว่า หากเขามีฐานะเป็นประธานาธิบดีอยู่ ก็ยังมีศักดิ์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร ดังนั้น ทหารจะต้องฟังคำสั่งของประธานาธิบดี เพราะ เขายังมีอำนาจเหนือทหาร 


---อนาคตการเมือง-เศรษฐกิจศรีลังกา---   


เมื่อถาม ผศ.ดร.มาโนชญ์ ว่า ความซับซ้อน และความวุ่นวายทางการเมืองของศรีลังกายังคงมีอยู่ แม้ตัวโกตาบายาจะหนีออกนอกประเทศไปแล้ว อนาคตต่อจากนี้ ทั้งในเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจของศรีลังกาจะเป็นอย่างไรต่อไป 


ผศ.ดร.มาโนชญ์ ให้ความเห็นด้านการเมืองว่า อย่างแรกเลยที่ศรีลังกาต้องทำ และกำลังพยายามอยู่ คือ ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เกิด “สูญญากาศทางอำนาจ” ขึ้นมา หาพระเอกขี่ม้าขาว หาประธานาธิบดีคนใหม่ ที่จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย 


ส่วนด้านเศรษฐกิจ ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า ถ้าสามารถตั้งรัฐบาลเอกภาพขึ้นมาได้ สิ่งแรกที่เขาต้องดำเนินการเพื่อฟื้นสภาพเศรษฐกิจ คือ การสร้างความสงบสุขเรียบร้อยภายในประเทศ ซึ่งตรงนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลจัดหาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ยา สิ่งจำเป็นตามบริการสาธารณะที่ดีให้แก่ชาวศรีลังกาได้ 


นอกจากนี้ รัฐบาลเอกภาพจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวศรีลังกาเอง และคนต่างประเทศ ด้วยการวางนโยบายที่เหมาะสม ไม่ว่าจะการบริหารจัดการ ภาษี การออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออก 


“ถ้ารัฐบาลเอกภาพได้รับการยอมรับจากคนใน ผมคิดว่าคนนอก ก็คือ ต่างประเทศจะให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกามากขึ้น” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว

—————

เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: Reuters 

ข่าวแนะนำ