TNN พื้นที่ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ทำไมรัสเซีย-ยูเครนถึงต้องแย่งชิง แม้กัมมันตภาพรังสียังมีอยู่ทั่วเมือง

TNN

World

พื้นที่ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ทำไมรัสเซีย-ยูเครนถึงต้องแย่งชิง แม้กัมมันตภาพรังสียังมีอยู่ทั่วเมือง

พื้นที่ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ทำไมรัสเซีย-ยูเครนถึงต้องแย่งชิง แม้กัมมันตภาพรังสียังมีอยู่ทั่วเมือง

เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารรัสเซียและยูเครนเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่เชอร์โนบิลในวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีกัมมันตภาพตรังสีจากเหตุการณ์อุบัติเหตุของนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก และเป็นปัจจัยที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย

“กองกำลังของเราได้สละชีวิตของพวกเขา เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมในปี 1986 เกิดขึ้นซ้ำอีก” ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ทวีตข้อความก่อนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เลิกใช้งานไปแล้ว เพราะเกิดเหตุเพลิงไหม้และระเบิดร้ายแรงในปี 1986 จะถูกยึดโดยกองกำลังทหารรัสเซีย 


แต่คำถามที่ทำให้หลายคนต่างสงสัยกันว่า ทำไมใคร ๆ ก็อยากได้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งานไม่ได้ และพื้นที่ยังรอบล้อมไปด้วยกัมมันตภาพรังสี?


---เพราะที่ตั้ง ‘ภูมิศาสตร์’---  


คำตอบก็คือ ‘ภูมิศาสตร์’ เชอร์โนบิลตั้งอยู่บนเส้นทางที่สั้นที่สุดจากเบลารุสไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และวิ่งไปตามแนวเส้นทางการโจมตีจากกองกำลังรัสเซียที่บุกรุกยูเครน


ในการยึดเชอร์โนบิลครั้งนี้ นักวิเคราะห์ทางทหารจากชาติตะวันตก กล่าวว่า รัสเซียใช้วิธีที่ง่ายและรวดเร็วด้วยการเดินทางจากเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียและเป็นพื้นที่เตรียมกองกำลังทหารรัสเซียไปยังกรุงเคียฟ


“มันคือวิธีที่เร็วที่สุด จาก A ไป B” เจมส์ แอคตัน จากองค์กรคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ กล่าว 


แจ็ค คีน อดีตเสนาธิการกองทัพสหรัฐฯ กล่าวว่า เชอร์โนบิลไม่มีความสำคัญทางทหาร แต่เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางที่สั้นที่สุดจากเบลารุสไปยังเคียฟ ซึ่งเป็นเป้าหมาย ‘กลยุทธ์เด็ดหัว’ (decapitation strategy) ที่รัสเซียใช้เพื่อขับไล่รัฐบาลยูเครน


คีน กล่าวว่า มันเป็นเส้นทางหนึ่งในสี่ ที่รัสเซียใช้ในการบุกรุกยูเครน รวมถึงเส้นทางที่สองจากเบลารุส ที่มุ่งหน้าไปสู่ทางใต้ของเมืองคาร์คีฟ และพื้นที่ทางเหนืออย่างแคว้นไครเมีย ที่รัสเซียผนวกเมื่อปี 2014 เข้าสู่เมืองเคอร์สัน


---โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล---   


การรุกรานครั้งนี้ เป็นการโจมตีที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  


การยึดเชอร์โนบิลเป็นส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครน กล่าวว่า เชอร์โนบิลถูกยึดเมื่อวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) โดยกองกำลังรัสเซีย แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ ยังไม่มีการยืนยันต่อเหตุการณ์นี้ 


เครื่องปฏิกรณ์ที่ 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ตั้งอยู่ห่างจากทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ 108 กิโลเมตร เกิดระเบิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 1986 ระหว่างการทดสอบความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดรังสีแผ่กระจายไปทั่วยุโรปจนถึงพื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐฯ 


กัมมันตภาพรังสี ได้ส่งผลกระทบต่อยูเครนและเบลารุส รวมถึงพื้นที่บางส่วนของรัสเซียและยุโรป มีการคาดการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภัยพิบัติครั้งนี้ ตั้งแต่หลักพันราย ไปจนถึง 9.3 หมื่นราย จากโรคมะเร็งทั่วโลก


ช่วงเริ่มแรกทางสหภาพโซเวียตพยายามที่จะปกปิดภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และไม่ยอมรับการระเบิดในทันที ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้นำโซเวียตอย่างมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช เสื่อมเสียในทันที และส่งผลกระทบต่อนโยบาย ‘กลาสนอสต์’ (glasnost) ที่ส่งเสริมการเปิดกว้างในสังคมโซเวียตด้วย และภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายในอีกไม่กี่ปีต่อมา 


ทั้งนี้ ที่กำบังชั่วคราวถูกสร้างขึ้น 6 เดือนหลังเกิดเหตุระเบิดขึ้น เพื่อครอบคลุมเครื่องปฏิกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ และปกป้องสิ่งแวดล้อมจากกัมมันตรังสี และในเดือนพฤศจิกายน 2016 ได้มีการนำหลังคาครอบเพื่อกักกันสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล คลุมเหนือที่กำบังอีกทีหนึ่ง 


---โรงไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่เสี่ยงมากกว่า---   


แอคตัน กล่าวว่า การยึดเชอร์โนบิลของรัสเซีย ไม่ได้เป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และกล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่งของยูเครนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงมากกว่าเมืองเชอร์โนบิล ซึ่งตั้งอยู่ใน ‘เขตยกเว้น’ ที่มีขนาดเทียบเท่ากับประเทศลักเซมเบิร์ก


“เห็นได้ชัดว่าอุบัติเหตุภายในเชอร์โนบิลเป็นปัญหาที่ใหญ่ แต่เพราะมันเป็นเขตยกเว้น มันอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนชาวยูเครนมากหนัก” แอคตัน กล่าว 


“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่งของยูเครน ยังดำเนินการด้วยความปลอดภัย และยังไม่มีการทำลายของเสีย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ในเชอร์โนบิล” หน่วยเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ หรือ UN กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) โดยอ้างอิงจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของยูเครน


แอคตัน กล่าวว่า เครื่องปฏิกรณ์อื่น ๆ ของยูเครน ไม่ได้อยู่ในเขตยกเว้น และมีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ที่มีกัมมันตภาพรังสีเข้มข้น แต่ความเสี่ยงของการต่อสู้รอบตัวพวกเขานั้นสูงกว่ามาก

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ