ฟื้นฟูเมืองขุมทรัพย์ทางปัญญา ชาวอิรักหันมาเติมหนังสือบนชั้นอีกครั้ง หลังห้องสมุดถูกทำลายจากกลุ่มไอเอส
หลังจากสามารถยึดคืนเมืองมาจากกลุ่มรัฐอสลาม หรือ ไอเอสมาได้ รหน่วยงานรัฐและชาวอิรักต่างร่วมมือฟื้นฟูห้องสมุด เพื่อทำให้โมซูลกลับมาเป็นเมืองขุมทรัพย์ทางปัญญาอีกครั้ง
---รอยแผลจากสงคราม---
เป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว ที่อิรักสามารถยึดคืนเมืองโมซูลจากกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอสมาได้ แต่ร่องรอยบาดแผลจากสงครามทารุณกรรมกลับยังคงเด่นชัด ซากปรักหักพังตามสี่แยกต่าง ๆ ที่ครั้งหนึ่ง เมืองนี้ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งวรรณกรรม เต็มไปด้วยร้านขายหนังสือนับไม่ถ้วน ตลอดจนหอจดหมายเหตุ ที่เก็บรักษาต้นฉบับหายาก
มหาวิทยาลัยโมซูล เผยว่า ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเคยมีหนังสือมากมายกว่าล้านเล่ม แต่เมื่อกลุ่มไอเอส ได้เข้าบุกยึดเมืองโมซูล ทำให้ตำราโบราณอันมีค่าต่าง ๆ ต้องมลายหายไปในพริบตา
โมฮาเหม็ด ยูเนส ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าถึงการสังหารที่เกิดขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสามารถยึดโมซูลคืนมาได้จากกลุ่มไอเอสในกลางปี 2017 ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานและทรหดมาก
“เมื่อเรากลับมาถึง เราเห็นหนังสือถูกดึงออกจากชั้นวาง โยนทิ้งลงไปกับพื้นและถูกเผา” ยูเนส กล่าว
หนังสือปรัชญา กฎหมาย วิทยาศาสตร์ และบทกวีหลายหมื่นเล่ม เป็นหนังสือที่ขัดต่อหลักการสุดโต่งของไอเอส ถูกเผามอดไหม้อยู่ในกองไฟ โดยหนังสือบางเล่มที่มีมูลค่ามหาศาล ถูกนำไปขายในกลุ่มตลาดมืด
“ก่อนหน้านี้ เรามีหนังสือมากกว่าล้านเล่ม บางเล่มไม่สามารถหาได้จากมหาวิทยาลัยอื่นในอิรัก” เขา กล่าว
เมื่อนักรบญิฮาด บุกมาถึงประตูเมืองเป็นครั้งแรก ยูเนส กล่าวว่า เขาสามารถขนย้ายได้เพียงหนังสือหายาก และวารสารต่างประเทศจำนวนหนึ่ง การบุกยึดเมืองโมซูลอันโหดร้ายของไอเอส ทำให้หนังสือกว่า 85% ต้องสูญหายไป
“ก่อนที่ไอเอสจะยึดมหาวิทยาลัยโมซูล มันเคยได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แม่แห่งหนังสือทั้งหมด’” ทาเร็ก อัตติยา วัย 34 ปี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยโมซูล กล่าว
“มันแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างก่อนและหลังการบุกยึดจากไอเอส” เขา กล่าว
อาเหม็ด อับดุล อาเหม็ด หัวหน้าหอสมุดวากัฟ กล่าวว่า หอสมุดของวากัฟ หน่วยงานของรัฐที่จัดการเงินบริจาคของอิสลาม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีต้นฉบับอายุมากกว่า 400 ปี ตอนนี้มันได้หายไปทั้งหมดแล้ว
---ฟื้นฟูเมืองแห่งปัญญา---
ประชาชนต่างพยายามสร้างความภาคภูมิใจต่อวิถีชีวิตของพวกเขา ด้วยการเข้ามาฟื้นฟูโมซูล เพื่อหวังจะให้กลับมาเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและปัญญาที่มั่นคง
ทั้งนี้ การฟื้นฟูเมืองได้รับความช่วยเหลือจากการบริจาค ชั้นวางหนังสือค่อย ๆ เติมเต็มด้วยหนังสืออีกครั้ง
อาคารหอสมุด ได้รับการบูรณะจากเงินของหน่วยงานสหประชาชาติ หรือ UN และจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตึกสูงทั้งหมด 4 ชั้น ด้านนอกประดับประดาด้วยกระจกเงา และตอนเริ่มต้นจะมีหนังสือทั้งหมด 3.2 หมื่นเล่ม นอกจากนี้ ยังมีหนังสือ E-books เพื่อที่จะสร้างมุมมองของตึกที่มีหนังสือนับล้านเล่มขึ้นใหม่ในท้ายที่สุด
ผู้อำนวยการ กล่าวว่า การบริจาคที่สำคัญมาจากมหาวิทยาลัยอาหรับและมหาวิทยาลัยนานาชาติ เพื่อให้หอสมุดได้กลับมาเปิดใช้งานอีก
อย่างไรก็ตาม ทางตอนเหนือของโมซูล เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของเหล่าพ่อค้าและกลุ่มคนชนชั้นสูง ที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมและปัญญา
นอกจากนี้ โมซูลยังเป็นเมืองที่เก็บรักษาชิ้นงานหายากและโบราณไว้หลายพันชิ้น รวมถึงตำราทางศาสนาที่มีชื่อเสียง และแท่นพิมพ์แห่งแรกของอิรักเกิดขึ้นที่เมืองแห่งนี้ ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19
---ความอยากอ่านไม่มีวันหมดสิ้น---
สัญญาณของการฟื้นตัวทางวัฒนธรรมโมซูลที่เพิ่งเกิดขึ้น เริ่มหยั่งรากลึกขึ้นเรื่อย ๆ ถนนอัล-นูไจฟี ถนนสายประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือ ร้านค้าหลายแห่งถูกทอดทิ้ง และเต็มไปด้วยกองซากปรักหักพังอยู่ใต้ซุ้มกองหินเก่าแก่ เจ้าของร้านไม่กี่คน เริ่มกลับมาเปิดประตูอีกครั้ง หลังจ่ายเงินค่าซ่อมแซมบูรณะร้านค้าของตน
“ถนนและร้านค้าทั้งหมดพังทลาย โชคดีที่ผมสร้างร้านใหม่ได้ ผมเป็นคนแรกที่เข้ามาปรับปรุง ร้านค้าในถนนสายนี้” โอซามา อัล-คาร์กาจิ เจ้าของร้านหนังสือในย่านอัล-นูไจฟี
ห้องสมุดกลางสาธารณะโมซูล ที่มีอายุกว่าร้อยปี และมีหนังสือมากกว่า 1.2 แสนเล่ม กลับมาเปิดให้เข้าใช้งานได้อีกครั้งในปลายปี 2019 หลังจากได้รับการฟื้นฟู
“เราสูญเสียหนังสือวรรณกรรม, สังคมวิทยา และศาสนาราว 2,350 เล่ม” จามาล อับดุล รับโบ ผู้อำนวยการห้องสมุดกลางสาธารณะโมซูล กล่าว
เขา กล่าวเสริมว่า การบริจาคสาธารณะและการจัดซื้อ ทำให้เขาได้มีหนังสือสะสมมากว่า 1.32 แสนเล่ม
“หนังสือปกหนังเก่าและกระดาษที่มีรอยพับ ยังวางอยู่บนชั้นหนังสือของห้องสมุด ที่สำคัญ ความกระหายอยากอ่านวรรณกรรมของสาธารณชนยังคงไม่หายไป บางคนมาที่นี่ทุกวัน ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในการอ่านหนังสือ” เขา กล่าว
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: ZAID AL-OBEIDI / AFP