ความยากจน-เหลื่อมล้ำของคนไทย ท่ามกลางโควิด “รุนแรง” ขนาดไหน?
ความยากจน-เหลื่อมล้ำของคนไทย ท่ามกลางโควิด “รุนแรง” ขนาดไหน?
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานข้อมูลสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของคนไทยปี 2563 ซึ่งเริ่มการแพร่ระบาดของโควิด 19 ท่ามกลางวิกฤตโควิด และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และครัวเรือนสูญเสียรายได้ เพราะหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ
ดังนั้นหากไม่มีมาตรการเยียวยาจากรัฐในปี63 โดยเฉพาะพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท สถานการณ์ “คนจน” ในประเทศไทยอาจจะพุ่งขึ้นเป็น 11.02 ล้านคน จาก 4.3 ล้านคนในปี62 และความเหลื่อมล้ำจะถอยหลังไปถึง 7 ปี แต่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาครัฐ ทำให้สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงต่ำกว่าคาด รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในรายการเศรษฐกิจinsight
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับนิยาม “คนจน” กันก่อน คือ ผู้ที่มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่า “เส้นความยากจน” ซึ่งเป็นการพิจารณาคนจนด้านตัวเงิน โดยเส้นความยากจนคำนวณจากความต้องการบริโภคอาหารขั้นต่ำของสมาชิกในครัวเรือน และการบริโภคสินค้าอื่นที่ไม่ใช่อาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน โดยในปี 2563 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กระทบกับประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยในระยะแรกจากการเป็นโรคอุบัติใหม่ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และทั่วโลกยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้มากนัก ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 (-12.1%) ผู้ประกอบการบางสาขาต้องปิดกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงานบางส่วน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 1 เท่าตัว
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย หรือนักวิชาการต่างมีข้อกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่าโควิด-19 จะส่งผลให้สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะธนาคารโลกที่ออกมาคาดการณ์ว่าสัดส่วนคนจนจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.8 ในปี 2563 จากปี 2562 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.24
แต่จากข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ล่าสุดพบว่าสถานการณ์ความยากจนปี 2563 ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากดังที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยมีจำนวนคนยากจนในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนที่ร้อยละ 6.84 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือคนจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านคน (5 แสนคน) จากปีก่อนเท่านั้น การที่สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวลงถึงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปีก่อนหน้า
ด้านความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกับความยากจน โดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคจีนี (Gini coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในปี 2563 อยู่ที่ 0.350 เพิ่มขึ้นจาก 0.348 ในปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของคนลดลง
ขณะเดียวกันยังทำให้ครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันโรค โดยเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของรายจ่ายครัวเรือนเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย มีรายจ่ายลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 ทั้งนี้ สาเหตุที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีรายจ่ายลดลง เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระมีข้อจ้ากัดในการหารายได้ จึงต้องปรับลดรายจ่ายลงโดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีการบริโภคลดลงถึงร้อยละ 4.36
แม้ภาพรวมครัวเรือนรายได้น้อยจะมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคลดลง แต่ค่าใช้จ่ายจำเป็นเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านเวชภัณฑ์ และการตรวจรักษาพยาบาล เนื่องจากต้องป้องกันตนเองในช่วงการแพร่ระบาด อีกทั้ง ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อาทิ อุปกรณ์การเรียน ค่าเล่าเรียน ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครัวเรือนรายได้สูงด้วย เนื่องจากครัวเรือนรายได้น้อยจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการสื่อสาร ยังพบว่ากลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายในด้านนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากลักษณะการประกอบอาชีพของวัยแรงงานที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำางานจากที่บ้านได้ ซึ่งแตกต่างจากครัวเรือนรายได้สูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าใช้บริการโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความยากจนยังต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีสาเหตุสำคัญมาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลที่ได้ออกมาตลอดช่วงเวลาการระบาดของ COVID-19 โดยรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ครอบคลุมประชากรมากกว่า 40 ล้านคน ประกอบด้วย
โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่ช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 // กลุ่มเกษตรกร // /กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กแรกเกิด อายุ 0-6 ปี ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา ผู้ที่มีบัตรคนพิการ // กลุ่มตกหล่น อาทิ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน และกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.6 ล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วงปลายปี (ต.ค.-ธ.ค.63) ในโครงการเริ่มกำลังซื้อระยะที่ 1
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะได้รับเงินช่วยเหลือโอนเข้าในแต่ละเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ยกเว้นกลุ่มตกหล่นที่จ่ายให้ครั้งเดียวจบจำนวน 15,000 บาท
ทั้งนี้ เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ทำให้โดยเฉลี่ยประชาชนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐทั้งปีที่ 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของเส้นความยากจน ( 1,123 บาท เท่ากับร้อยละ 40 ของ 2,762 บาท หรือเส้นความยากจน)
ทั้งนี้ สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นไม่มาก เกิดจากการช่วยเหลือของรัฐซึ่งเป็นผล ”ชั่วคราว” ซึ่งหากความช่วยเหลือหมดลงในช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงกว่าเดิม
โดยกรณีของความยากจน คาดว่าหากไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว จำนวนคนยากจนในปี 2563 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 11.02 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 15.9 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านคน
ขณะที่ความเหลื่อมล้ำหากไม่รวมผลของนโยบาย คาดว่าค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคจีนีจะเพิ่มขึ้นจาก 0.350 เป็น 0.383 หรือกล่าวได้ว่าหากไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำจะเทียบเท่ากับปี 2557 จะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐมีส่วนช่วยอย่างมากจากผลกระทบ COVID-19
สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุด(12 พ.ย.64) ของ ธนาคารโลก ซึ่งร่วมกับ UNICEF Thailand และ Gallup Poll เปิดผลสำรวจครัวเรือนและความยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า อัตราความยากจนของประเทศไทย ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 6.4 จากร้อยละ 6.2 ในปี 2562 จากก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.8
เนื่องจาก รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิดมากมาย เช่น โครงการเราชนะ โครงการเราไม่ทิ้งกัน และเงินช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมชี้ว่า มาตรการเหล่านี้ ครอบคลุมครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ที่มีรายได้ลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่า หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ความยากจนของประเทศไทยอาจเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ในปี 2563
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลง แต่จะมีผลกระทบต่อเนื่องที่ต้องติดตาม คือ 1) คนว่างงานเพิ่ม และว่างงานยาวนานขึ้น ส่งผลทั้งการขาดรายได้ การพัฒนาทักษะ และความสามารถในการหางานในอนาคต ในปี 2563 แม้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ร้อยละ 1.69 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการว่างงานในช่วงปกติที่ร้อยละ 1 ขณะที่ในปี 2564 สถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงแรงขึ้นในไตรมาส3 ปี 2564 ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น "สูงสุด" ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 แต่ยังต่ำกว่าอัตราการว่างงานในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีอัตราการว่างงานในปี 2541 สูงถึงร้อยละ 4.37
โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีทั้งสิ้น 5.8 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเด็กจบใหม่มีจำนวน 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ10 สะท้อนว่า โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างจะไม่สามารถรับภาระต่อได้จ้าเป็นต้องเลิกจ้างมากขึ้น และเด็กจบใหม่จะยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เพราะผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน
2) การเข้าถึงการศึกษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่การที่นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ ได้อย่างเต็มที่จะส่งผลให้ความรู้ที่ขาดหายไป ซึ่งจากรายงานผลกระทบของ COVID-19 ด้านสังคมของประเทศไทย โดย Oxford Policy Management และ United Nation ระบุถึงผลกระทบต่อการศึกษาว่า การที่เด็กไม่ได้เรียนเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน จะเกิดการสูญเสียทักษะทางการศึกษาเป็นเวลาถึง 1-1.5 ปี
ขณะเดียวกันอาจทำให้เด็กมีทักษะลดลงด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (ONET) เปรียบเทียบในปี 2562 และ 2563 ของนักเรียนในระดับชั้น ม.3 มีคะแนนเฉลี่ยลดลงเกือบทุกสาขาวิชายกเว้นวิชาภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้การปรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ยังทำให้โอกาสในการเรียนของเด็กระหว่างครัวเรือนรายได้น้อย และรายได้สูงมีความแตกต่างกันมาก โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุดยังขาดอุปกรณ์การเรียนจำนวนมาก ทำให้มีเด็กตกหล่นในการเรียนรู้นอกห้องเรียนประมาณ 8 หมื่นคน
3) วิกฤต COVID-19 ทำให้ครัวเรือนต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายเพื่อรักษาระดับการบริโภค และมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อครัวพยายามรักษาระดับการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินออมต่ำ โดยบัญชีเงินฝากที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาท มียอดเงินฝากลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับบัญชีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาทที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า มูลค่าหนี้ ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 13.49 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 14.03 ล้านล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 ดังนั้นแม้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว การบริโภคของครัวเรือนจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก และจะกระทบปัญหาความยากจน เพราะครัวเรือนจะมีภาระในการชำระหนี้
โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนยากจนที่ในช่วงปี 2563 มีครัวเรือนยากจนที่เป็นหนี้ ถึง 5.9 แสนครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนที่เป็นหนี้เพียง 4.5 แสนครัวเรือน ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยปรับโครงสร้างหนี้แต่ด้วยหนี้ที่มีมูลค่าสูงครัวเรือนยังต้องรับภาระในการชำระหนี้ต่ออีกช่วงหนึ่ง ซึ่งจากข้อมูลในปี 2564 โดยเฉลี่ยครัวเรือนต้องใช้ระยะเวลา 10 ปีถึงจะช้าระหนี้หมด (ข้อมูลจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ครึ่งปี2564 )
ทั้งนี้ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด ณ ในไตรมาส2 ปี 2564 มูลค่าหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท
4) สถานการณ์ COVID-19 กระทบต่อคนในวงกว้าง ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการช่วยเหลือเยียวยาและหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นน อาจทำให้รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต
โดยในปี 2563 เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตาม พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 7.09 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว 1.36 แสนล้านบาท
เพราะฉะนั้นปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แม้จะไม่รุนแรง แต่ย้งวางใจไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเนื่องหลังโควิด-19 หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข อาจส่งผลให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น และอาจกลายเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจในระยะต่อไป