เล็งเปิดประมูลแลนด์บริดจ์ระนอง–ชุมพร 3 แสนล้าน หนุนลงทุนหลังโควิด
คมนาคมเดินหน้าแลนด์บริดจ์ “ระนอง–ชุมพร” สั่งสนข.เร่งศึกษาแผนลงทุน เล็งเปิดประมูลปี 65–66 กระตุ้นการลงทุนหลังโควิด ใช้รูปแบบ PPP มูลค่า 3 แสนล้าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังศึกษารายละเอียดคาดว่าในต้นปี 65 จะเห็นรูปแบบการโครงการชัดเจนขึ้น โดยรูปแบบดำเนินการจะเป็นการเปิดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแบบ PPP ประกวดราคาแบบ Inter national Bidding ในวงเงินงบประมาณกว่า 2-3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้คาดว่าในปี 66-67 จะเปิดประกวดราคา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี ซึ่งหากทำตามแผนจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 70-72 ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับกำหนดการแล้วเสร็จของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับโครงการดังกล่าว ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่า ในเมื่อไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จะทำอย่างไรให้มีการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางน้ำลง เนื่องจากในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบ มะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 100,000 ลำ/ปี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 67 การรองรับปริมาณเรือของช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพ โดยปี 93 ประเมินว่าปริมาณเรือที่ผ่านจะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า ซึ่งโครงการจะก่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงต่อพื้นที่ภาคใต้ มั่นใจว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีของพื้นที่ภาคใต้เติบโตจากสัดส่วน 2% เป็น 10% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี เมื่อมีการเปิดใช้โครงการแล้ว
นอกจากนั้นในส่วนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เส้นทางเรือจากตะวันออกของภูมิภาค ไปยังตะวันตกของภูมิภาค ในปี 62 ยังพบว่ามีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์กว่า 500 ล้านทีอียู ซึ่งไม่รวมการขนส่งน้ำมัน หากไทยเริ่มแลนด์บริดจ์ จะแบ่งส่วนแบ่งการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ได้ 20% ประมาณ 100 ล้านทีทียู
“การสร้างแลนด์บริดจ์ ประเทศไทยไม่ได้เป็นคนทำแห่งแรก อย่างประเทศจีนก็มีความพยายามที่จะมาทำที่ประเทศมา เลเซีย เนื่องจากไม่ต้องไปผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งในแต่ละปีมีจราจรหนาแน่นมาก ซึ่งได้ให้โจทย์กับทาง สนข.ว่า การทำแลนด์บริดจ์ต้องให้มีระยะทางสั้น ราบ เส้นทางตรงมากที่สุด กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยสุด แม้ว่าการลงทุนจะใช้งบประ มาณมาก แต่หากพิจารณาระยะยาวจะพบว่ามีความคุ้มค่าการลงทุน และอยู่ไปกับประเทศไทยนาน และในอนาคตอาจขยายไปที่อื่นๆได้อีก”
ขณะเดียวกันจากที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้มีแนวคิดขุดคอคอดกระ ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 4 ล้านล้านบาท และหากดำเนินการอาจจะมีปัญหาตามมาทั้งในเรื่องของการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ ที่จะต้องทำสะพานเชื่อมสองฝั่ง
ที่สำคัญคือเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากระดับน้ำของ 2 ฝั่งทะเล อันดามันและอ่าวไทย มีปริมาณความสูงของน้ำที่ต่างกันกว่า 1.5 เมตร หากมีเรือผ่านต้องมีการทำประตูเปิดปิด ซึ่งจากหลายๆปัจจัยทำให้เห็นว่า หากทำแบบนั้นไทยจะไม่มีความได้เปรียบ และหากพิจารณาจากมิติของความมั่นคงก็ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นการแบ่งประเทศไปโดยปริยาย
สำหรับบทบาทของแลนด์บริดจ์ จะเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้าส่งออกของไทย รวมถึงเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค เช่น อาเซียน และ BIMSTEC
นอกจากนี้จะเป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นการขนส่งทางเรือจากช่องแคบฮอร์มุซมายังท่าเรือระนอง และส่งผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อกระจายในภูมิภาค เช่น อาเซียน BIMSTEC รวมถึงจีนบางส่วน
ทั้งนี้การก่อสร้างจะสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องตาม แผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน
ที่มา : คมนาคม
ภาพประกอบข่าว : คมนาคม