เงินบาทอ่อน! ทุบสถิติใหม่รอบ 4 ปี 2 เดือน
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงมากสุดรอบ 4 ปี 2 เดือน กังวลน้ำท่วมทวีความรุนแรงเหมือนปี 54 -ความเสี่ยงเอเวอร์แกรนด์ ตลาดจับตาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ-ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลัง Yellen
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน นับจากวันที่ 18 ก.ค. 60 เป็นผลมาจากแรงเทขายหุ้นไทยจากความกังวลปัญหาน้ำท่วมที่ตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 หรือไม่ ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินในฝั่งเอเชียก็ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนักจากประเด็น Evergrande
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้น มีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ โดยจะต้องติดตามการทดสอบแนวต้านของเงินบาทว่าจะยืนเหนือแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้สหรัฐ หรือไม่ เพราะหากเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับดังกล่าวได้ ในขณะที่โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังมีอยู่ เราคาดว่าเงินบาทก็สามารถอ่อนค่าไปถึงระดับ 33.80-33.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
นอกจากนี้ในระยะสั้นช่วงปลายเดือนเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้า ส่วนผู้เล่นในตลาดทองคำ อาจใช้จังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวแตะระดับ 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในการเข้าทยอยซื้อ buy on dip ทำให้เรายังไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน โดยแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่กล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณพร้อมสนับสนุนการลดคิวอีในไม่ช้า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด อนึ่ง แม้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมสนับสนุนการลดคิวอี แต่ก็ยังไม่ได้มีการระบุชัดเจนถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งแรก
นอกจากนี้ตลาดการเงินโดยรวมยังคงถูกกดดันจากปัญหาหนี้ของ Evergrande หลังจากที่ทางบริษัทไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนในวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งตลาดจะจับตาว่า ในช่วงปลายเดือนนี้และต้นเดือนตุลาคมที่ Evergrande มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยอีก 193.3 ล้านดอลลาร์ ทางบริษัทจะผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยอีกหรือไม่
ภาพตลาดในฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อหุ้นเทคฯ พอสมควร เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดที่ 1.51% ก่อนจะย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.48% กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.52% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาด -0.28% ในขณะที่ ดัชนี Dowjones รีบาวด์ขึ้น +0.21% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มการเงิน รวมถึง หุ้นในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ
ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +0.17% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะ กลุ่มการเงินและพลังงาน อาทิ ING +4.51%, Total Energies +3.44% ในขณะที่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ได้ส่งผลกดดันหุ้นในกลุ่มเทคฯ ยุโรป ทำให้ ASML -3.04%, Adyen -1.01%
ในฝั่งตลาดบอนด์ แรงสนับสนุนการลดคิวอีในอนาคตอันใกล้จากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ได้ บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.48%
ทั้งนี้เรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเผชิญความผันผวนต่อได้ เนื่องจากทั้งสัปดาห์จะมีบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดออกมาแถลงอีกหลายท่าน รวมถึง ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการเจรจา Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร เพราะหากสภาคองเกรสยังไม่อนุมัติขยายเพดานหนี้ก็อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในไม่ช้า
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด จากประเด็น Evergrande ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.40 จุด กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าหลุดระดับ 1.17 ดอลลาร์ต่อยูโร
ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 111 เยนต่อดอลลาร์ ในขณะที่ ค่าเงินปอนด์ (GBP) กลับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 1.37 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ระบุว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ BOE
สำหรับวันนี้มองว่า นอกเหนือจากประเด็นปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ ผ่านการติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยตลาดมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนกันยายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 115 จุด ตามสถานการณ์การระบาดในฝั่งสหรัฐฯ ที่ไม่ได้น่ากังวลนักและรัฐบาลก็เตรียมทยอยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
นอกจากนี้ตลาดจะติดตามการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาของประธานเฟด รวมถึงรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ โดยไฮไลท์สำคัญอาจอยู่ที่ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลัง Yellen ต่อประเด็นขยาย Debt Ceiling เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
ที่มา : นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย
ภาพประกอบข่าว :พิกซาเบย์ ,TNN Online