กสิกรฯ จี้รัฐเร่งจัดหา-กระจายวัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์การจ้างงานที่เปราะบางส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน มาตรการภาครัฐเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจำเป็นเร่งด่วน
วันนี้( 9 ก.ค.64) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย. ปัจจุบันยังคงไม่สามารถควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องฉุดให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเดือนมิ.ย. 2564 อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงต้นปี โดยดัชนีปรับลดลงอยู่ที่ 36.7 จาก 37.3 ในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าในเดือนม.ค.2564 ที่ 37.2 นอกจากนี้เมื่อพิจารณาดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นกันอยู่ที่ 38.9 จาก 39.4 ในเดือนพ.ค. บ่งชี้ว่าครัวเรือนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานให้ปรับลดลงจากเดือนก่อนอย่างมาก (ผลสำรวจจัดทำในช่วงปลายเดือนมิ.ย.)
แม้ผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรจะระบุว่ามีสถานการณ์การเลิกจ้างเริ่มมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา หรือปรับลดเงินเดือนลงชั่วคราวแทนการเลิกจ้างกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจเพิ่มเติมที่ระบุว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงและส่งผลกระทบให้ครัวเรือนเริ่มปรับพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้จ่าย
มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจากภาครัฐทั้งโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และมาตรการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะเข้ามาช่วยประคับประคองกำลังซื้อของครัวเรือนได้บางส่วน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่สิ้นสุดจะยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจให้ยังไม่สามารถกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นควบคู่ไปกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงการจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ