ธุรกิจโรงแรมโคม่า- สภาพคล่องหด ติงมาตรการฟื้นฟูสถาบันการเงินเข้าถึงยาก
ธปท.เผยโพลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนมิ.ย.ยังอ่วมจากพิษโควิด โดยสัดส่วน 26% สภาพคล่องหดมีไม่ถึง 1 เดือนกระจายทุกภาค ติงมาตรการฟื้นฟูสถาบันการเงินเข้าถึงได้ยาก
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แจ้งว่า ผลผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย
ผู้ประกอบการที่พักแรมยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการเข้าพักจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเฉพาะภูมิภาคที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจได้ไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งเป็นการสำรวจผู้ประกอบการที่พักแรม 220 แห่ง ( เป็น ASQ 17 แห่ง Hospitel 3 แห่งระหว่างวันที่ 14-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้พบว่าในเดือนมิ.ย.ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดกิจการสัดส่วน 41% จากพ.ค.อยู่ที่ 38.2% ขณะที่สัดส่วนการปิดกิจการชั่วคราวอยู่ที่ 19.5% จากเดิมอยู่ที่ 20.3% โดยโรงแรมที่ปิดกิจการส่วนใหญ่เป็นโรงแรมภาคใต้ที่ปิดมากกว่า 1 ปี โดยสัดส่วน 75% คาดว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้งหลังไตรมาส 4/64
เดือน มิ.ย. 64 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 10% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 6% โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดมาอยู่ที่ 13%ขณะที่ภาคเหนือ และภาคใต้ แม้ว่าอัตราการเข้าพักจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำมากที่ 6% คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย
ทั้งประเทศเดือน ก.ค. 64 ทรงตัวอยู่ที่ 12% จากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นของโรงแรมในภาคใต้เป็นสำคัญ
ด้านสภาพคล่องพบว่า 58% มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เทียบกับเดือนก่อน และ 68% มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน โดย 26% มีสภาพคล่องเพียงพอไม่ถึง 1 เดือน กระจายอยู่ในทุกภาคและเป็นกลุ่มที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มอื่น
ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่ต้องการคือ 1. การพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย2. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (สินเชื่อฟื้นฟู)3. การสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม 4. การจัดหาและกระจายวัคซีนให้เร็วกว่าแผน ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการเข้าถึงมาตรการฟื้นฟู 30% ระบุว่าสถาบันการเงิน สร้างเงื่อนไข / กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ทำให้เข้าถึงมาตรการได้ยากขึ้นโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ : ความไม่ชัดเจนของสถาบันการเงินในการให้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อฟื้นฟูฯ : อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงเกินไป วงเงินสินเชื่อที่ได้รับไม่เพียงพอ