บีทีเอสกรุ๊ปผนึก 10 องค์กรชั้นนำ ตั้ง Carbon Markets Club
บีทีเอส กรุ๊ป จับมือ 10 องค์กรชั้นนำ ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club หวังลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งสู่สังคม Net Zero
นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการลงทุนและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือรูปแบบออนไลน์ระหว่างพันธมิตรรวม 11 องค์กร ที่เป็นสมาชิกตั้งต้นของเครือข่ายฯ ในการทำธุรกิจผ่านการซื้อขายคาร์บอน ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายประเทศในโลกต่างร่วมกันรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 - 2 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายหลักของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ทั้งนี้ ปัจจุบันการเปลี่ยนผ่านหรือการลดปริมาณพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดนับเป็นการดำเนินการสำคัญที่จะช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็ยังทำได้ไม่เร็วพอ
ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสีเขียวยังต้องมีมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐหรือนำภาษีจากประชาชนมาสนับสนุนอยู่ บีทีเอส กรุ๊ปฯ เห็นว่าการซื้อขายคาร์บอน จะเป็นหนึ่งในการดำเนินการที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งการจัดตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club ในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับความท้าทาย และโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ได้
“กลุ่มบริษัทบีทีเอสของเรา ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพราะสภาพภูมิอากาศถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขร่วมกันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม กลุ่มบริษัทบีทีเอส น้อมรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) โดย UN SDG 13 ให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของเรา รวมทั้งมีนโยบายในการเป็นผู้นำในการลดคาร์บอนในภาคคมนาคมขนส่งในประเทศไทย เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนอีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ พันธมิตรทั้ง 11 องค์กร มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งการซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบซื้อขายกันโดยตรง (over the counter) แต่สมาชิกเครือข่ายฯ มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาการซื้อขายไปสู่ platform ระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัยรองรับตั้งแต่การทำ e-registration กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง ไปจนถึงการทำ e-carbon trading และอาจจะนำ blockchain มาใช้ในการซื้อขาย สู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า DeFi หรือ decentralised finance ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น
นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมแสดงความยินดีกับการก่อตั้งเครือข่ายฯ และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายเครือข่ายฯ ไปในวงกว้างขึ้น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียน รวมถึงบริษัทสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้าร่วมด้วยในอนาคต