เมื่อคิดได้ก็สายไป ! บทเรียนจากการวางแผนทรัพย์สินครอบครัว
การล่มสลายของธุรกิจตระกูลดังส่วนหนึ่งเกิดจากผู้นำครอบครัวไทยที่มีสินทรัพย์สูงยังไม่ได้มีการวางกติกา-ไม่มีแผนการส่งต่อธุรกิจให้กับทายาทรุ่นต่อไป โดย พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Head of Non-capital Marker Solution Private Banking Group, ธนาคารกสิกรไทย
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเคยได้ยินถึงเหตุล่มสลายของธุรกิจตระกูลดังๆ มานักต่อนักแล้ว แต่จะมีสักกี่บ้านที่จะรู้ถึงต้นตอของความล้มเหลว และตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนและลงมือ จัดการทรัพย์สินอย่างจริงจัง
จากผลสำรวจของ KBank PRIVATE BANKING ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ Lombard Odier ในช่วงปลายปี 2020 และ PWC Family Business Survey 2019 พบว่า ผู้นำของครอบครัวไทยที่มีสินทรัพย์สูง 45% และ 65% ตามลำดับ ยังไม่ได้มีการวางกติกาในครอบครัว รวมถึงยังไม่มีแผนการส่งต่อธุรกิจให้กับทายาทรุ่นต่อไป
หากลองวิเคราะห์สาเหตุ ว่าทำไมครอบครัวไทยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวน้อย ข้อมูลเชิงสถิติชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังถือว่าอายุน้อย (อยู่ในช่วงระหว่าง 50-70 ปี และ 3 ใน 4 ยังอยู่ในการบริหารรุ่นที่สอง) เมื่อเทียบกับธุรกิจครอบครัวยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งมีอายุหลายร้อยปี และผ่านการส่งต่อมาถึง 6-7 รุ่น ธุรกิจครอบครัวไทยจึงมุ่งเน้นไปกับการขยายธุรกิจและการลงทุนมากกว่าการวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สิน ประกอบกับครอบครัวส่วนใหญ่ยังอยู่ในการส่งต่อจากรุ่นที่สองไปรุ่นที่สาม จึงอาจยังไม่เคยประสบกับปัญหามาก่อน และยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนในระยะยาว ปัญหาที่มักถูกมองข้ามนี้จึงกัดกร่อนธุรกิจครอบครัวทีละเล็กทีละน้อยจนทำให้หลายครอบครัวมาถึงทางตัน นอกจากขาดการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวแล้ว ความล่มสลายของธุรกิจครอบครัวยังมีสาเหตุมาจาก
“การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว” ทั้งนี้ เพราะสมาชิกในบ้านไม่เข้าใจสิทธิ และหน้าที่ของตนเอง ใครจะได้ถือหุ้นในบริษัทครอบครัว ใครจะได้บริหารธุรกิจ เหตุเหล่านี้นานวันเข้าอาจส่งผลให้เกิดประเด็นระหว่างสมาชิกในครอบครัว ตามที่ปรากฎเป็นข่าวเรื่องการทะเลาะกันในธุรกิจครอบครัวทุกช่วง 3-4 ปีครั้ง
“การจัดการที่ไม่เป็นระบบ” อันเนื่องมาจากความคุ้นเคย ครอบครัวส่วนใหญ่จึงมักเอาระบบการจัดการในครอบครัวมาใช้ในการจัดการธุรกิจ เช่น ในบ้านพ่อเป็นใหญ่ ในบริษัทการตัดสินใจของพ่อจึงเหนือการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นทั้งหมด เมื่อข้ามผ่านความเป็นครอบครัวไม่ได้ ธุรกิจจึงอ่อนไหวไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่มีลูก 2 คน คนโตเรียนจบมาไม่ตรงกับธุรกิจที่ครอบครัวทำ แต่เข้ามาช่วยงานครอบครัวก่อน โดยเรียนรู้จากพ่อแม่ ลูกคนถัดมาเรียนตรงสาขาที่เกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัว แต่เข้ามาทำงานทีหลัง เมื่อไม่มีการแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจน ผลคือพี่น้องทะเลาะกันจนทำให้ธุรกิจแตกเป็นเสี่ยง ๆ
นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังเกิดกับการจัดการทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในรุ่นพ่อ เงินที่มาจากการทำธุรกิจจะนำไปซื้อที่ดินเก็บเอาไว้ โดยไม่ได้ตัดสินใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของใคร เมื่อลูกคนไหนมีบัตรประชาชนตอนที่ซื้อที่ดิน ก็เอาชื่อลูกคนนั้นใส่ในโฉนด เมื่อวันหนึ่งที่พ่อตัดสินใจจะจัดการกับทรัพย์สินเหล่านี้ อาจทำให้พี่น้องทะเลาะกัน เพราะคนที่ถือที่แปลงนั้นอาจจะไม่อยากเอาชื่อตนเองออก นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินให้เป็นไปตามโจทย์ของบ้านก็จะสูงตามไปด้วย
“การขาดแผนส่งต่อธุรกิจให้ทายาท” เป็นปัจจัยสุ่มเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเกิดความอ่อนแอ เนื่องจากความแตกต่างระหว่างความคิด การศึกษา ความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และความยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ทำให้การบริหารธุรกิจครอบครัวร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
นอกจากนี้ทายาทรุ่นที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและประสบการณ์ที่สามารถมาต่อยอดธุรกิจครอบครัวได้ การกำหนดทิศทางเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ยิ่งบางครอบครัวที่เปิดโอกาสให้ทายาทตัดสินใจที่จะเข้ามารับช่วงธุรกิจต่อหรือไม่ก็ได้ ยิ่งต้องเตรียมความพร้อมในทางเลือกต่าง ๆ อย่างรัดกุม เมื่อไม่มีแผนที่ชัดเจนแล้ว ย่อมต้องส่งผลต่อธุรกิจอย่างแน่นอน
ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ แค่จะต้องบริหารจัดการก็ยากแล้ว เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจครอบครัวจึงต้องยิ่งตามความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน แล้วยิ่งมาเกิดเหตุการณ์โรคระบาดอย่างในปัจจุบัน ยิ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกธุรกิจครอบครัวยิ่งต้องตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัวมากยิ่งขึ้น ความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวในอนาคตข้างหน้าจึงขึ้นอยู่กับความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง