TNN หุ้นไทยเดือนมี.ค.สู่โหมดตลาดหมีหรือกระทิง

TNN

Wealth

หุ้นไทยเดือนมี.ค.สู่โหมดตลาดหมีหรือกระทิง

หุ้นไทยเดือนมี.ค.สู่โหมดตลาดหมีหรือกระทิง

ตลาดหุ้นไทยเดือนมี.ค.ขึ้นร้อนแรงหรือร่วง ปัจจัยบวก-ลบจะเป็นอย่างไร ฉีดวัคซีนโควิดดึงความเชื่อมั่นหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมากแค่ไหน หาคำตอบได้ที่ TNNONLINE

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือน มี.ค. ช่วง10 ปีที่ผ่านมา พบว่าต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 7 ครั้ง( ตั้งแต่ปี 54-60) แต่  3 ปีหลัง ช่วงระหว่างปี 61-63  นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาขายสุทธิหุ้นไทย เห็นได้จากข้อมูลสถิติย้อนหลังปี 61 พบว่าขายสุทธิ 11,036 ล้านบาท SET Index -2.9%   ปี 62   ขายสุทธิ  16,397 ล้านบาท SET Index -0.9% ปี 63  ขายสุทธิ  78,404 ล้านบาท SET Index - 16% ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกและไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด อย่างไรก็ตาม จากสถิติข้อมูลดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 6 ครั้ง ปรับลง 4 ครั้ง และค่าเฉลี่ย 10 ปีดัชนีลดลงเล็กน้อย 0.4%

 

สำหรับแนวโน้มภาพรวมหุ้นไทยเดือน มี.ค.  เป็นทิศทางขาขึ้นและเป็นที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ Fund flow ในระยะถัดไป โดยมีปัจจัยหนุนมาจาก 4 ปัจจัยหลักประกอบด้วย 1.  สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย จำนวนผู้เชื้อเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง    และความคืบหน้าวัคซีนมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง  ปัจจุบัน ทั่วโลกเร่งฉีดไปแล้วรวมราว 123 ล้านคน   ในส่วนไทยวัคซีนชุดแรกของบริษัท Sinovac (ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีน) เริ่มต้นฉีดวัคซีนวันนี้ หลังจากนั้นเริ่มทยอยฉีดเดือน มี.ค. – เม.ย. และไปจนถึงสิ้นปี  จากเป้าหมายที่รัฐตั้งไว้ในการฉีดวัคซีน 31.5 ล้านคน


2.  เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัว เริ่มตั้งแต่  GDP งวด 4Q63 หดตัว -4.2%yoy ซึ่งดีกว่าตลาดคาดหดตัว -5.7%yoy และแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อในงวด 1Q64 มีแรงหนุนสำคัญจาก 2 ส่วน คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ  เราชนะ, เรารักกัน, เราเที่ยวด้วยกัน วงเงินรวมกว่า 3.29 แสนล้านบาท    และ การผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากรัฐบาล  ทั้งผ่อนปรนประเภทธุรกิจ จนใกล้กลับมาภาวะปกติ  หรือ  เพิ่มพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) เชื่อว่าแรงหนุนเศรษฐกิจข้างต้นจะช่วยให้ GDP ปีนี้ ของไทยมี Downside ที่จำกัด โดยตลอดทั้งปีนี้  ASPS คาด GDP จะขยายตัว 2.6%yoy


3.กำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ Upside อาจเปิด คือ คาดกำไรงวด 1Q64 ยังฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำจากปีก่อนหน้า ถือเป็นตัวช่วยหนุน Fund Flow ให้ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงต่อไปส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 4Q63 Downside ค่อนข้างจำกัด และมีหลายบริษัทฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด น่าจะเห็นการเติบโตก้าวกระโดด YoY ในงวด 1Q64 จากฐานที่ต่ำจากปีก่อนหน้า โดยกำไรทั้งปี  64F ยังมีโอกาสฟื้นตัวมากกว่า 30% (สูงเป็นลำดับต้นๆในภูมิภาค)


 4. Valuation ยังน่าสนใจในมุมของ Market Earning Yield Gap โดยดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ 1478.14 จุด คิดเป็น PER64F ได้ 22.72 เท่า(จากสมมุติฐาน EPS64F ที่ 65.04 บาท/หุ้น) และคิดเป็น Market Earning Yield Gap ที่ระดับ 3.90%(ในสภาวะดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%)  ณ สิ้นปี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่น่าสนใจในการลงทุน 


ขณะที่ความกังวล QE tapering จากสหรัฐลดลงในช่วงสั้น หลังผลตอบแทนพันธบัตร อายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นแรงในเดือน ก.พ. เนื่องจากปลายเดือน ก.พ.  ประธาน Fed ยังยืนยันใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป(อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐปัจจุบัน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25% และมาตรการ QE)  เนื่องจาก Fed ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และที่สำคัญคือ มองไปที่ 12 เดือนข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ตั้งไว้ 2% (ปัจจุบัน เงินเฟ้อสหรัฐ PCE เดือน ธ.ค.อยู่ที่ 1.3%yoy  Core PCE อยู่ที่ 1.5%) 

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนคงน้ำหนักหุ้นไทยไว้ที่ 35% ประเมิน ต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องในระยะกลาง-ยาว ดังนั้นเลือกหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าตลาดในปีนี้  แนะนำ PTT, CPN, MINT, SPVI รวมถึงควรมีหุ้นปันผลติดพอร์ต เพื่อลดความผันผวนหรือความเสี่ยงจากต่างประเทศ แนะนำ SPALI, MCS  ส่วนหุ้น Overvalue DELTA ต้องระมัดระวังในการชื้อขายหรือเก็งกำไร  โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1,450-1,550 จุด


หุ้นไทยเดือนมี.ค.สู่โหมดตลาดหมีหรือกระทิง

ข่าวแนะนำ