ดีเดย์ 1 ก.ย. เตรียมเก็บภาษีอี-เซอร์วิส ทั้งเฟซบุ๊ก-กูเกิล-ยูทูป
ดีเดย์ 1 ก.ย. เตรียมเก็บภาษีอี-เซอร์วิส ทั้งเฟซบุ๊ก-กูเกิล-ยูทูป
วันนี้ (13ก.พ.64) นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 53 พ.ศ.2564 เรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ e-Service ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญ กำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ รวมทั้งอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนให้แก่กรมสรรพากร ภายใต้ระบบ pay-only หรือ ห้ามหักภาษีซื้อ โดยไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและรายงานภาษีซื้อ
กฎหมายดังกล่าว จะครอบคลุมผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ ได้แก่ การให้บริการดาวน์โหลด หนัง/ภาพยนตร์ เพลง เกม สติกเกอร์ นายหน้า สื่อโฆษณา เป็นต้น แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในไทย เช่น Apple, Google, Facebook, Netflix, Line, Youtube และ Tiktok เป็นต้น และต้องมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ช่วยปิดช่องโหว่ของกฎหมาย
กฎหมายนี้ จะยกระดับการจัดเก็บภาษีของไทย ช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประเทศ คาดว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จะได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในประเทศ ให้บริการ e-Service ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ยื่นชำระภาษีมาโดยตลอด
ขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในไทย ไม่ต้องดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ครอบคลุม