"จุรินทร์"สั่งผู้ผลิตกะทิเพิ่มขั้นตอนตรวจสอบย้อนกลับ โต้"PETA"
พาณิชย์ สั่งโรงงานผู้ผลิตกะทิเพิ่มกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับเข้มงวด พร้อมออกโรงชี้แจงต่างชาติร่วมตรวจสอบถึงแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวและโรงงานผลิตกะทิไทย หลังผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในอังกฤษถูกแบน
วันนี้ ( 8 ก.ค.63) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว เช่น ผู้แปรรูปกะทิแบรนด์ชาวเกาะ แบรนด์สุรีย์ และแบรนด์อร่อยดี รวมถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์ ในการประเมินผลกระทบ และหาแนวทางการรับมือถึงการชี้แจงกับประเทศคู่ค้า กรณีองค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีต้า (PETA) ระบุว่าไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้ห้างในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหลายแห่ง แบนสินค้าในกลุ่มมะพร้าวจากไทย
ซึ่งจากการหารือในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่า ในกลุ่มโรงงานผลิตจะต้องเพิ่มกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่เข้มงวดมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีระบบควบคุมคุณภาพที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องระบุผลผลิตที่ได้มาจากสวนไหน มีการใช้แรงงานอย่างไร โดยจะต้องใส่รหัสบนแพ็กเกจจิ้งของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน รวมทั้งในกระบวนการผลิตจะต้องตรวจสอบได้
ในส่วนของทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ จะมอบหมายให้นัดพบผู้นำเข้าเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับข้อสรุปดังกล่าว ขณะเดียวกัน เตรียมเชิญเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำไทย สื่อมวลชน และองค์กรพิทักษ์สัตว์ เข้าร่วมตรวจสอบถึงแหล่งเพาะปลูกและโรงงานผลิต
- PETA เตือนไทยไม่ยอมรับปม "ลิงเก็บมะพร้าว" ยิ่งทำให้สังคมโกรธ
- "อรรถวิชช์" อัด PETA ปม ลิงเก็บมะพร้าว ย้อนฝรั่งใช้หมูเก็บเห็ด
- จุรินทร์ เตรียมเปิดทำเนียบฯนัดถก PETA กล่าวหาไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว
- ซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษเลิกขายมะพร้าวจากไทย อ้างใช้แรงงานลิง
"มองปัญหานี้ไม่ใช่เป็นการกีดกันทางการค้าเพราะเป็นปัญหาระดับของภาคเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน แต่ทางภาครัฐจะพยายามเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจทุกด้านเพื่อไม่ให้กระทบต่อสินค้าของไทย" นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยผลผลิตในปี 62 ตกประมาณ 788,000 ตันและมีโรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 โรงงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตันร้อยละ 70 บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือส่งออกมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากจะไม่เพียงพอการส่งออก ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 2,250 ล้านบาทและในสหภาพยุโรปเป็นประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรร้อยละ 8 มูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น
นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงานกะทิชาวเกาะ บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ยอมรับว่า ตั้งแต่กระแสข่าวไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว ส่งผลให้เกิดการแบนสินค้ากะทิชาวเกาะที่ประเทศอังกฤษ และถูกถอดออกจากชั้นวางสินค้าในห้างขนาดใหญ่ 2-3 ห้าง กระทบยอดขายหายไปร้อยละ 30 ซึ่งถือว่ากระทบมาก เนื่องจากในรายงานของพีตาได้ระบุชื่อแบรนด์กะทิชาวเกาะชัดเจน ส่วนที่สหรัฐอเมริกามีการสอบถามแต่ยังไม่กระทบยอดขาย
ด้านนางสาวศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส (ยี่ห้ออร่อยดี) บริษัทไทย อกริ ฟู๊ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงงานผลิตกระทิต่างๆในไทยที่มีอยู่ 15 ราย โดยใน 9 รายใหญ่ที่มีสัดส่วนผลิตมากกว่าร้อยละ 80-90 ยืนยันใช้แรงงานคนในกระบวนการผลิตทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือแม้จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนแต่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนมากกว่าแรงงานลิงอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ ประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยกล่าวว่า เตรียมจะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งออกกฎหมายการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในส่วนของลิง เข้าไปภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว ช้าง แต่ยังไม่รวมสวัสดิภาพของลิง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าไทย มีการใช้แรงงานลิงอยู่จริง ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมมะพร้าว การท่องเที่ยว การแสดงละครสัตว์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนเลี้ยงลิง! ออกโรงโต้ ถอดเขี้ยวลิงเก็บมะพร้าว
ผู้ก่อตั้ง มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า สะท้อนมุมมอง ว่าด้วยเรื่อง ลิงเก็บมะพร้าว
องค์กรสัตว์ฯ แนะรัฐทำหนังสือชี้แจงกรณีใช้ "ลิงเก็บมะพร้าว"
เกาะติดข่าวที่นี่
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline