TNN กนอ.ห่วง “น้ำ” ไม่พอกระทบลงทุน อีอีซี

TNN

Wealth

กนอ.ห่วง “น้ำ” ไม่พอกระทบลงทุน อีอีซี

กนอ.ห่วง “น้ำ” ไม่พอกระทบลงทุน อีอีซี

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หารือ กรมชลประทาน แก้ปัญหาภัยแล้ง หวั่นน้ำไม่พอกระทบความเชื่อมั่นลงทุนใน อีอีซี ขณะที่ ผลกระทบโควิด-19 ทำให้ตัดสินใจลดเป้ายอดขายพื้นที่นิคมฯ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและไทย ล่าสุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ  กนอ.  ปรับลดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.  จาก 3,000-3,500 ไร่ต่อปี เหลือ ประมาณ 2,000-2,500 ไร่ต่อปี  เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมกันนี้ ยังได้เตรียมแผนเชิงรุก เพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี หลังโควิด-19 จบลง 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  กนอ. ปรับลดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ หรือ ยอดขาย เพื่อให้สอดรับกับข้อเท็จจริง  ขณะเดียวกัน ปรับแผนเชิงรุกมากขึ้น นอกจากนี้ กนอ.เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่อคณะกรรมการ กนอ. ให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

ส่วนการรับมือวิกฤตภัยแล้ง ได้มีการหารือร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งตัวเลขน้ำต้นทุนในปัจจุบันสามารถมีใช้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน   แต่ทั้งนี้  กนอ. ยังคงมีความเป็นห่วงปัญหาในช่วงหลังเดือนมิถุนายน และในระยะยาว  จึงได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งผลักดันโครงการวางท่อสูบน้ำจากคลองสะพาน จังหวัดระยอง เพื่อวางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ 1,800 มิลลิเมตร ซึ่งจะสามารถดึงน้ำเข้ามาเก็บที่อ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่มถึง 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากปัจจุบันที่ได้วางท่อสูบน้ำชั่วคราว ขนาด 900 มิลลิเมตร สูบน้ำได้ประมาณ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2563-2565 จะมีการตั้งโรงงานเพิ่มประมาณ 2 เท่าตัว หากมีน้ำไม่เพียงพอก็อาจกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนใน  อีอีซี ได้ ขณะที่ ความคืบหน้าของการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด อยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ก่อสร้างเสร็จจะสามารถแบ่งปันน้ำเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ได้ประมาณ 100-150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

สำหรับมาตรการขอความร่วมมือให้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ลดการใช้น้ำลง 10% ในปีนี้ ทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย แต่หากเกิดภัยแล้งในปีหน้าขึ้นอีก ก็จะเป็นการยากที่จะลดการใช้น้ำลง 10% ได้ตามเป้า เนื่องจากเกิดการขยายโรงงาน และการลงทุนโรงงานใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม


ข่าวแนะนำ