อุตสาหกรรมแฟชั่นโลก จำนน COVID-19 จ่อล้มละลาย
“บิซซิเนส ออฟ แฟชั่น” สื่อชั้นนำ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงการธุรกิจแฟชั่น และ “แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี” บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ระดับโลก เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า ยอดขายของบริษัทแฟชั่น และบริษัท Luxury ทั่วโลกน่าจะลดลงมากกว่า 40 %
ขยายประเด็น เศรษฐกิจ Insight (20 เมษายน )รายงานว่า จากคลื่นลูกแรกของการระบาดในจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับผลกระทบหนักแล้ว เพราะชาวจีนเป็นผู้ซื้อกลุ่มสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น แล้วคลื่นลูกที่สองที่มาซ้ำให้อ่วมหนักไปอีกก็คือการระบาดหนักในหลายประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งหนึ่งในประเทศที่สถานการณ์หนักที่สุดคือ อิตาลี เมืองหลวงแห่งแฟชั่นซะด้วย
หากย้อนกลับไปดูภาพรวมตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้า ปี 2561 ก่อนไวรัสโคโรนาเริ่มระบาด จะพบว่า อิตาลี ผลิตเสื้อผ้ามากมาถึง 42 เปอร์เซ็นต์ ของสหภาพยุโรป และนับเป็นประเทศที่ผลิตเสื้อผ้ามากที่สุดในภูมิภาค ส่วนสหราชอาณาจักรมีมูลค่าสิ่งทอและเสื้อผ้าสูงถึง 360,000 ล้านบาท / เบลเยียม ผลิตพรมให้ทั้งภูมิภาค ถึง 27 เปอร์เซ็นต์ และ สิ่งทอที่ต้องใช้ฝีมือและเทคนิคขั้นสูง ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ มาจากเยอรมนี
The Business of Fashion บอกว่า ในปีนี้ธุรกิจภาคสินค้าแฟชั่นแบรนด์หรูอาจสูญรายได้รวมกว่า 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว
มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ****กราฟฟิค 1****นิตยสาร GQ สหราชอาณาจักร เขียนบทความวิเคราะห์ผลกระทบอุตสาหกรรมแฟชั่นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไว้ดังนี้
1.ฤดูคั่นเวลาถูกยกเลิก ทำรายได้หาย : ฤดูคั่นเวลา (resort season หรือ cruise season) เป็นหนึ่งในฤดูกาลทางแฟชั่นที่สร้างรายได้ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้มาก เพราะเป็นการออกคอลเล็กชันที่เหล่าบรรณาธิการแฟชั่น ผู้ทรงอิทธิพลในวงการ และลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ แต่ด้วยสถานการณ์ไวรัส หลายแบรนด์ได้ยกเลิกคอลเลกชั่นฤดูคั่นเวลาเป็นที่เรียบร้อย ทั้ง กุชชี (Gucci), เบอร์เบอร์รี (Burberry) และพราดา (Prada)
2.อนาคตการจัดแฟชั่นโชว์ ต้องคิดทบทวนหนัก : สถานการณ์ไวรัสทำให้เหล่าดีไซเนอร์ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจำเป็นต้องจัดงานแสดงแฟชั่นเพื่อขายสินค้าและสร้างแบรนด์หรือไม่ ถึงขณะนี้ มีบางแบรนด์ยกเลิกการแสดงไปแล้ว บางแบรนด์เปลี่ยนมาถ่ายทอดสดการแสดงแฟชั่นทางอินเทอร์เน็ต แต่บางแบรนด์ก็ยืนยันที่จะจัดงานตามเดิม
3.แฟชั่นสโตร์มีปัญหาในการซื้อสินค้าเข้าร้าน : ในโลกธุรกิจแฟชั่น เหล่าดีไซเนอร์ไม่ได้ไปยุโรปเพียงเพื่อแสดงเสื้อผ้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไปเพื่อขายของให้บรรดาแฟชั่นสโตร์ในยุโรปด้วย แต่นักออกแบบดีไซเนอร์จำนวนหนึ่งค้นพบว่าฤดูกาลนี้พวกเขาสามารถทำยอดขายได้โดยไม่ต้องเจอกับผู้ซื้อตัวต่อตัว แต่สามารถขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้
4.การช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับผลกระทบ ที่ปรึกษาด้านการจัดการของบริษัท Bain พบว่า หลักจากทางการจีนประกาศปิดประเทศ การซื้อขายทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Tmall เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยอดซื้อขายสินค้าแฟชั่นกลับลดลง สอดคล้องกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของซาร์ส (SARS) ที่ส่งผลต่อยอดขายสินค้าแบรนด์เนมเช่นเดียวกัน แต่หลังจากสามารถควบคุมเชื้อได้ ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมก็พุ่งสูงขึ้น
ส่วน ****กราฟฟิค 2 ****นี้ ทาง The Business of Fashion รายงานว่า 60% ของบริษัทแฟชั่น เสื้อผ้า สิ่งทอ ในอิตาลีตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แบรนด์ดังหลายแบรนด์มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองมิลาน ไม่ว่าจะเป็น พราดา (Prada), อาร์มานี (Armani) และเวอร์ซาเช (Versace) แม้กระทั่งแบรนด์เนมจากต่างแดนอย่าง หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) และสเตลลา แม็กคาร์ตนีย์ (Stella McCartney) ยังต้องพึ่งพาโรงงานที่อยู่ทางตอนเหนือของอิตาลีในการผลิตเสื้อผ้า ฉะนั้นการที่เมืองในทางตอนเหนือถูกปิดไปก่อนจะมีการปิดทั้งประเทศนั้น แบรนด์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ตอนเหนือของอิตาลีนั้นได้รับผลกระทบไปเรียบร้อย
และข้อมูลจาก The Wall Street Journal ระบุว่า เฉพาะประเทศอิตาลีมีมูลค่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอมากถึง 107,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท )และจะแย่ลงไปอีกอย่างน้อง 6 เดือนหลังจากนี้
และเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาแบรนด์ดังอย่าง ชาแนล ประกาศว่าจะพักสายการผลิตในโรงงานที่ อิตาลี ฝรั่งเศส และ สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนแบรนด์กุชชี่ ก็มีการประกาศปิดโรงงาน 6 แห่งในอิตาลีชั่วคราวด้วย ขณะที่แบรนด์เซโฟร่า(Sephora) ได้ปลดพนักงานพาร์ทไทม์และพนักงานไม่ประจำบางส่วนออก โดยมีมาตรการชดเชยให้
****กราฟิก 3 ***รวมมูลค่าความเสียหายธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้า
เมื่อโรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศถูกยกเลิกคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจากแบรนด์ดังทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งบางคำสั่งซื้อแม้ผลิตเสร็จพร้อมจัดส่งก็ถูกยกเลิก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 88,000 ล้านบาท และพนักงานก็ไม่ได้รับค่าจ้าง ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานกว่า 1 ล้านชีวิตตกงาน โดยทั้งบังกลาเทศมีแรงงานเย็บเสื้อผ้าราว 4,100,000 คน ซึ่งถือว่ามีแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นอันดับ 2 รองจากจีน
สำนักข่าว BBC รายงานผลการวิจัยว่า ธุรกิจแฟชั่น ขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจไม่รอดจากความรุนแรงของ โควิด-19 นี้ไปได้ หากรัฐบาลไม่ลงมาช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ ข้อมูลดังกล่าวมาจากนักบัญชีที่เปิดเผยกับ BBC ว่า จะมีบริษัทในสหราชอาณาจักรราว 800,000 ถึง 1 ล้านบริษัทต้องปิดตัวลง เพราะขาดสภาพคล่องและธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินให้กับบริษัทเหล่านี้
****กราฟิก 4 ****ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจเสื้อผ้าและสิ่งทอในยุโรป
แต่สำหรับแบรนด์ดังใหญ่ ๆ ก็มีการคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถทำยอดขายได้สูงเหมือนกับการเปิดหน้าร้านก่อนช่วงไวรัสระบาด โดยผลสำรวจของสมาพันธ์ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายและสิ่งทอของยุโรป หรือ ยูลาเทค(EuraTex) โดยการส่งแบบสำรวจไปยังบริษัทต่าง ๆ พบว่า บริษัทเหล่านั้นคาดว่ายอดขายและการผลิตเสื้อผ้าจะลดลงกว่าร้อยละ 50 / บริษัท 9 ใน 10 บริษัท จะขาดสภาพคล่องและประสบปัญหาทางการเงิน ที่ผ่านมามีบริษัทในอุตสาหกรรมสิ่งทอกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เริ่มลดพนักงานลงและ 1 ใน 4 ของบริษัทเหล่านั้นจะปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอของยุโรปในปี 2562 เนื่องจากการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ
ส่วนผลกระทบที่เกิดกับงานเดินแฟชั่นโชว์ คือ ทำให้เหล่าดีไซน์เนอร์ไม่สามารถจัดงานแสดงแฟชั่นในคอเล็คชั่นที่ตนเองออกแบบได้ โดยงานใหญ่อย่าง Met Gala และ CFDA Awards ก็ไม่สามารถจัดได้ ขณะที่งาน ออสเตรเลีย แฟชั่น วีค ในวันที่ 11-15 พฤษภาคม ซึ่งปีนี้จะครบรอบ 25 ปี ก็ถูกยกเลิก
มีการคาดการณ์ว่างานกิจกรรมใหญ่ ๆ จะถูกจัดในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น โดยงาน GirlBoss Rally งานประชุมสำหรับสตรี ในวันที่ 25 เมษายนนี้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการจัดงานเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมดและไม่คิดค่าเข้าชม ซึ่งหากเป็นงานปกติจะมีการขายบัตรเข้าร่วมงานในราคาราว 12,000 – 23,000 บาท ส่วน จอร์โจ อาร์มานี(Giorgio Armani) ตัดสินใจในวันสุดท้ายของ มิลาน แฟชั่น วีค ที่จะถ่ายทอดสดแฟชั่นโชว์ของเขา
นอกจากนี้สถานการณ์ในยุโรปจะไม่มีทีท่าที่จะลดความรุนแรงลงเอกชนหลายรายเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนร้านตัดเสื้อผ้าแฟชั่นมาตัดเย็บหน้ากากผ้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน อย่าง ชาแนล ประกาศผลิดหน้ากากผ้า โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบและจะเริ่มผลิตได้ทันทีหลังจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสอนุมัติให้ผลิต ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ประกาศพักการผลิตสินค้าของตนเองไว้ก่อน แต่ยังคงจ่ายเงินเดือนพนักงานต่อไปอีกราว 8 สัปดาห์ และได้บริจาคเงินถึง 1.2 ล้านยูโรให้กับระบบสาธารณสุขกลางของฝรั่งเศส
และเจ้าของร้านตัดเสื้อเล็ก ๆ ใน เมืองมอลเฟตต้าของอิตาลี พร้อมน้องสาวของเธอ และพนักงานอีก 3 คน ช่วยกันทำหน้ากากผ้าเพื่อช่วยลดการระบาดในเมืองของเธอ ซึ่งผลิตได้ราว 150 ชิ้นต่อวัน และแจกจ่ายหน้ากากไปแล้วกว่า 1,000 ชิ้น พวกเขาตั้งใจที่จะส่งหน้ากากนี้ไปแจกจ่ายยังเมืองอื่น ๆ ด้วย โดยบนหน้ากากดังกล่าวจะมีหัวใจเล็ก ๆ เขียนว่า มาจากเมืองมอลเฟตต้า และสายรุ้งที่มีสโลแกนว่า เราจะต้องดีขึ้น
แต่ที่น่าสนใจคือ ในรายงานของ The Business of Fashion ที่ทำร่วมกับ McKinsey & Company วิเคราะห์ว่า หลังจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 จบลง อุตสาหกรรมแฟชั่นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปใน 5 แนวทาง พร้อมทั้งเสนอแนวทางการปรับตัวด้วย ได้แก่
1. ใช้สัญชาตญาณการเอาตัวรอด
The Business of Fashion แนะนำให้บริษัทแฟชั่นต่างๆ มุ่งรักษาเสถียรภาพให้ Core Business ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงค่อยเริ่มมองหาตลาดใหม่ๆ รวมไปถึงโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ
2. ลดราคาเท่านั้นจึงอยู่รอด
The Business of Fashion จึงแนะนำให้แบรนด์ต่างๆ ลดราคาสินค้าลง หรือหาหนทางสร้างคุณค่าของสินค้าอย่างสร้างสรรค์
3. ยุคทองของดิจิทัลแพลตฟอร์ม
The Business of Fashion จึงแนะนำให้ บริษัทแฟชั่นต่างๆ ควรปรับตัว หรือเพิ่มความสามารถทางออนไลน์ของตนเองมากขึ้น ระหว่างช่วงช่วงฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นขยายช่องทางไปสู่แพลทฟอร์มต่างๆ หรือ การปรับปรุงวิธีขนส่งสินค้าให้รวดเร็วขึ้น มิฉะนั้น อาจจะได้รับผลกระทบต่อไปในระยะยาว
4. อ่อนแอก็แพ้ไป
ตามทฤษฎีของชาลส์ โรเบิร์ต ดาวินส์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ หรือ natural selection ฉะนั้นรายงานฉบับนี้ จึงแนะนำให้บริษัทแฟชั่นต่างๆ ปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
5. นวัตกรรมต้องมา
bussiness of fashion ได้แนะนำให้ บริษัทต่างๆ ออกเครื่องมือและกลยุทธใหม่ๆ ผ่านการใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้บริษัทอยู่รอดต่อไป เมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป...
ติดตามรายละเอียด https://www.youtube.com/watch?v=KFdVX2jLRkU
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand