TNN ส่อง "Work from Home" ใครทำได้-ไม่ได้

TNN

Wealth

ส่อง "Work from Home" ใครทำได้-ไม่ได้

ส่อง Work from Home ใครทำได้-ไม่ได้

การทำงานที่บ้าน Work form Home พบว่าราว 63% ของแรงงานทั้งหมด ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ขณะที่ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือช่วงไวรัสระบาดพุ่ง 11.4%

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ของต่างประเทศนอกประเทศจีน  เริ่มมีความเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง  ตั้งแต่ตรวจเข้มการเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ  การปิดสถานที่เสี่ยง จนถึงการปิดเมือง หรือ ล็อกดาวน์ โดยเฉพาะประเทศที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19  จำนวนมาก อาทิ 

“สหรัฐอเมริกา” ที่ตอนนี้ถือเป็น “จุดศูนย์กลาง” การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แห่งใหม่ของโลก เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด รัฐบาลกลางยังไม่ได้ประกาศคำสั่งล็อกดาวน์อย่างเด็ดขาด แต่ทำเนียบขาวได้ร้องขอให้ผู้คนจำกัดการรวมตัวกันในที่สาธารณะ  พร้อมทั้งมอบอำนาจให้แต่ละรัฐออกคำสั่งอย่างเหมาะสม โดยในรัฐนิวยอร์กที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้ประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยสั่งปิด บาร์ ร้านอาหาร โรงหนัง ร้านตัดผม-เสริมสวย ร้านสัก และสปา รวมทั้งสั่งให้ลูกจ้างอยู่บ้าน ยกเว้นทำงานที่มีความจำเป็น

“อิตาลี”  ถือเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ประกาศคำสั่งล็อกดาวน์ โดยสั่งให้ผู้คนกักตัวอยู่แต่ภายในบ้าน  รวมทั้งสั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ สระว่ายน้ำ และการแข่งขันกีฬา เป็นต้น แต่บริการรถสาธารณะและสนามบินจะยังคงให้บริการอยู่ แต่อนุญาตเฉพาะการเดินทางที่จำเป็นเท่านั้น 

ส่อง Work from Home ใครทำได้-ไม่ได้

“สเปน”  ซึ่งเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในทวีปยุโรปรองจากอิตาลีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมสั่งห้ามประชาชนออกจากบ้าน ยกเว้นมีความจำเป็น เช่น เหตุผลทางการแพทย์ ทำงานที่มีความจำเป็น ซื้อของที่จำเป็นต้องการดำรงชีวิต ออกไปรับเงิน และพาสุนัขเดินเล่น โดยผู้คนที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเริ่มต้นที่ 100 ยูโร หรือประมาณ 3,600 บาท

“อังกฤษ” สั่งปิดร้านขายสินค้าและห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง ยกเว้นร้านค้าสินค้าจำเป็น สั่งยกเลิกงานทางสังคมทั้งหมด ยกเว้นงานศพ และห้ามบุคคลรวมตัวกัน 2 คนขึ้นไปในที่สาธารณะ ยกเว้นผู้ที่อยู่ร่วมกันหรือคนในครอบครัว โดยจะอนุญาตให้ประชาชนออกนอกบ้านเพื่อซื้อสินค้าจำเป็นพื้นฐาน และเดินทางไปทำงานต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ให้ทำงานจากบ้าน (Work from home) รวมทั้งอนุญาตให้ออกกำลังกาย 1 ครั้งต่อวัน

และ “อินเดีย” ออกคำสั่งล็อกดาวน์ประเทศเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 21 วัน ใน 36 รัฐและดินแดนทั้งหมดของอินเดีย หรือ ครอบคลุมจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน หลังยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งสูง โดยมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ได้แก่ คำสั่งปิด ร้านค้า สถานประกอบการเชิงพาณิชย์ โรงงาน ที่ทำงาน ตลาด และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และ ยุติการบริการรถประจำทางระหว่างรัฐและเมืองใหญ่ รวมถึงกิจกรรมการก่อสร้าง แต่ยังคงอนุญาตให้สถานบริการที่จำเป็นสามารถเปิดดำเนินการได้ เช่น บริการประปา บริการไฟฟ้า บริการสุขภาพ บริการดับเพลิง ร้านขายของชำ และเทศบาล เป็นต้น

ส่อง Work from Home ใครทำได้-ไม่ได้

สำหรับประเทศไทย เริ่มทยอยออกมาตรการเข้มงวดควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มี.ค.2563 ประกาศมาตรการป้องกัน “ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง” โดยสั่งปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชาและสถานศึกษาทุกสถาบัน ชั่วคราว 

รวมถึงปิดสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ปิด ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ ฟิตเนส โรงภาพยนตร์ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ชั่วคราว 14 วัน

นอกจากนี้ สถานบริการในต่างจังหวัดหัวเมืองใหญ่ หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อในจังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดได้ตามสถานการณ์ และให้งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น จัดคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา

รวมถึงให้ทุกหน่วยงานราชการพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทำแผนทำงานจากบ้าน (Work from Home)

จากนั้นได้เพิ่มระดับความเข้มงวด โดยนายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. – 30 เม.ย.2563 และมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว (Lockdown)  ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. - 30 เม.ย. 2563 ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล  

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) นายกรัฐมนตรี ประกาศการยกระดับมาตรการในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม โดยกำหนด “เคอร์ฟิว” ทั่วประเทศระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันศุกร์นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยกเว้นผู้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์ การขนส่งเวชภัณฑ์ การขนส่งผู้ป่วย การขนส่งด้านพลังงาน และการขนย้ายประชาชนสู่พื้นที่ควบคุม เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังยกเว้นผู้ที่ทำงานเป็นกะ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ข้าราชการ พนักงานโรงงาน แต่จะต้องมีใบรับรองจากบริษัทถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในเวลาที่ห้ามออกจากเคหสถาน

ส่อง Work from Home ใครทำได้-ไม่ได้

จากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ทำให้ในหลายจังหวัดมีการปิดพื้นที่เสี่ยงเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางจังหวัดก็เลือกที่จะ "ล็อกดาวน์" ปิดเมือง ปิดทางเข้า-ออก เพื่อป้องกันและสกัดโรค-19  อาทิ  บุรีรัมย์  ปัตตานี ตาก  ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต  พังงา  ระนอง   เป็นต้น  ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะดำเนินการถึงเมื่อไร ระบุเพียงแต่ว่า “จนกว่าจะมีคำสั่ง”  หรือจนกว่า “สถานการณ์คลี่คลาย” ยกเว้นภูเก็ตที่กำหนดล็อคดาว ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร  (ประกาศล็อกดาวน์ ก่อนจะมีการประกาศเคอร์ฟิว) 

ส่อง Work from Home ใครทำได้-ไม่ได้

การเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้  “การทำงานที่บ้าน” หรือ Work from Home  เป็นทางเลือกที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการรณรงค์ภายใต้แคปเปญ  “ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  หากทำได้จริงก็น่าจะเป็น “ทางรอด” ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น 

แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินการปิดสถานที่เสี่ยง และล็อกดาวน์  ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศ (แบงก์ชาติ) โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในปี 2562 ซึ่งผู้มีงานทำทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 37 ล้านคน แล้วจัดกลุ่มอาชีพตามลักษณ์งาน รวมถึงดูผลการศึกษาของต่างประเทศประกอบด้วย  พบว่า การปิดสถานที่เสี่ยงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับผู้มีงานทำในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นักร้อง นักแสดง บริกรตามสถานบันเทิงต่างๆ  ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 20% ของแรงงานทั้งหมด หรือราว 7.4 ล้านคน  

และเมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า 20% ของแรงงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือราว 61% เป็นผู้จ้างงานตนเอง หรือ Self-employed ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับลูกจ้าง โดยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่  

ขณะที่มาตรการ “การทำงานที่บ้าน”  จะส่งผลกระทบต่อแรงงานส่วนใหญ่ซึ่งไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ซึ่งมีสัดส่วนถึง 63% ของแรงงานทั้งหมด หรือราว 23.31 ล้านคน  โดยเป็นผู้ที่ทำงานกับเครื่องมือเฉพาะ หรือมีงานที่เกี่ยวข้องกับการพบปะผู้คน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิศวกร นายช่างคุมเครื่องจักร เจ้าหน้าที่คุมท่าอาศยาน เจ้าหน้าที่เค้าเตอร์ธนาคาร หรือคนขับรถบรรทุก มอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับรถสามล้อ แท็กซี่ รวมถึงเกษตรกร เป็นต้น 

ดังนั้น กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่เสี่ยงและล็อกดาวน์ให้ทำงานที่บ้านรวมกันแล้วจะมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 80% โดยแรงงานในภาคที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวจะถูกกระทบด้านรายได้มากที่สุด  ขณะที่กลุ่มไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้มากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่อาชีพว่าจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหนด้วย 

อย่างไรก็ดี มีกลุ่มที่สามารถทำงานที่บ้านได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมีราว 6% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการทำงาน สามารถทำงานได้ทุกที หรือไม่จำเป็นต้องออกไปพบปะผู้คน เช่น ผู้บริหารโปรแกรมเมอร์ นักการเงิน ฯลฯ เป็นต้น และกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูง

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 8% ของแรงงานทั้งหมด หรือราว 2.96 ล้านคน  ก็ไม่ถูกกระทบต่อรายได้จากมาตรการ Work from Home   สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1.3% หรือราว 4.81 แสนคน ก็ไม่ถูกกระทบต่อรายได้ แต่อาจต้องทำงานหนักมากขึ้น 

ขณะที่กลุ่มด้านการศึกษา หรือผู้มีงานทำในภาคการศึกษาที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น โรงเรียนเอกชน โรงเรียนกวดวิชา อาจได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน แต่บางส่วนอาจเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ได้ กลุ่มนี้สัดส่วนประมาณ 0.5% ของแรงงานทั้งหมด หรือราว 1.85 แสนคน   

ดังนั้นจะเห็นว่า กลุ่มที่ทำงานจากบ้านได้รวมๆ แล้วจะมีประมาณ 16-17% ซึ่งเป็นตัวที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศ เช่น อเมริกา ที่พบว่ามีแรงงานสามารถทำงานที่ Work from Home  ประมาณ 29% 

ส่อง Work from Home ใครทำได้-ไม่ได้

ทั้งนี้  ในส่วนของภาครัฐซึ่งสามารถ Work from Home ได้ ก็เริ่มปรับตัวทำงานที่บ้าน โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจลงทะเบียนเพื่อใช้งาน Application สำหรับ Work from Home โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งข้อมุลล่าสุด ณ วันที่ 1 เม.ย. 2563 มีหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ลงทะเบียนใช้แพลตฟอร์มในการทำงานจากบ้านกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว 865 หน่วยงาน และจำนวนการลงทะเบียนเพื่อขอใช้งานแอพพลิเคชั่นมีจำนวน 682,152 ยูสเซอร์  

ส่อง Work from Home ใครทำได้-ไม่ได้

อย่างไรก็ดี  ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพิ่มขึ้นสูง โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเผย ตัวเลขปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในภาพรวมของทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ ดีแทค เอไอเอส และทรู  ในช่วงระหว่างเดือน ก.พ.และเดือน มี.ค. 2563 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการทำงานที่บ้านตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้มีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 79,727 เทระไบท์ หรือเพิ่มขึ้น 11.14 %  ซึ่งในเดือนกุมภาพันธมีการใช้งานอยู่ที่ 715,509 เทราไบท์ มีนาคมมีการใช้งานอยู่ที่ 795,236 เทราไบท์

ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของค่ายเอไอสมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 12.29 %  ทรูมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 10 %   ส่วนค่ายดีแทคมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 9.95 %

ส่วนช่วงเวลาที่มีการใช้งานมากที่สุด คือ เวลา 12.00 น.-17.00 น. มีการใช้งาน 13% โดยช่วงเวลาที่ใช้งานน้อยที่สุดคือ เวลา 20.00 น.-21.00 น. มีการใช้งาน 5% และส่วนใหญ่ใช้งานในวันธรรมดา 12% แต่ช่วงเวลา เสาร์-อาทิตย์ ใช้งาน 7%

จากนี้ไปเชื่อว่าจะมีปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และในวันที่ 10 เม.ย.นี้ กสทช. จะเพิ่มเน็ตมือถือให้ประชาชนอีกคนละ 10 GB เพื่อสะดวกต่อการทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ work from home แค่กดรหัส USSD ไปยังโอเปอเรเตอร์ที่ต้องการ คือ * 170* ตามด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก # โทรออก

ส่วนมาตรการที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลประกาศยกระดับความเข้มงวดนั้น ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีมาตรการออกมาดูแลและเยียวยผลกระทบเพิ่มเติมอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ