ปี 63 นายจ้าง-แรงงาน เสี่ยงกระทบกระทั่งรุนแรงจากปัจจัยเศรษฐกิจ
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยสถานการณ์แรงงานสัมพันธ์ปี 2563 มีความเสี่ยงกระทบกระทั่งกันมากขึ้น ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จากปัจจัยรุมเร้ารอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทแข็ง และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
วันนี้ (22 ม.ค.63) นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ปี 2563 มีปัจจัยหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแข่งขันทางการค้า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้สถานประกอบกิจการต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างการจ้างงาน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อลูกจ้าง ทั้งนี้ กสร. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และส่งเสริมเชิงรุกให้นายจ้าง ลูกจ้าง ใช้ระบบทวิภาคีในการสื่อสารทำความเข้าใจ พูดคุย ปรึกษาหารือและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว
ในปี 2562 พบว่า มีสถานประกอบกิจการที่นายจ้างปิดงาน จำนวน 3 แห่ง และมีทั้งนายจ้างปิดงานและลูกจ้างนัดหยุดงาน จำนวน 2 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีเพียงนายจ้างปิดงาน จำนวน 1 แห่ง จากสาเหตุเนื่องจากสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและประสบปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถจัดสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงินตามข้อเสนอของลูกจ้างได้ ในขณะที่ลูกจ้างมีความต้องการสิทธิประโยชน์มากกว่าหรือต้องไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้จ่ายในการดำรงชีพ จึงทำให้การเจรจาตกลงกันได้ยากขึ้น แต่ก็สามารถยุติได้โดยไม่ยืดเยื้อรุนแรงแต่อย่างใด
ส่วนนายจ้าง ลูกจ้างจะมีการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง 446 แห่ง ข้อพิพาทแรงงาน จำนวน 69 แห่ง ซึ่งลดลงจากปี 2561 ที่มีข้อเรียกร้อง จำนวน 471 แห่ง ข้อพิพาทแรงงาน จำนวน 82 แห่ง ทั้งนี้ เมื่อคิดอัตราการเกิดข้อพิพาทแรงงานต่อข้อเรียกร้องของปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 15.47 พบว่ามีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 17.41 แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงกันเองในระบบทวิภาคีได้มากขึ้น
เกาะติดข่าวที่นี่website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand