ส่งออกข้าวไทยส่อ "วิกฤต" หนักสุดในรอบ 6 ปี
สถานการณ์การส่งออก "ข้าวไทย" เมื่อเทียบกับคู่แข่ง หลังจาก 9 เดือนของปีนี้การส่งออกข้าวไทยลดลง 28% และมูลค่าในรูปเงินบาทลดลง 24% จากสาเหตุหลักค่าเงินบาทแข็ง และคู่แข่งตีตลาด
ปีนี้นับเป็นที่ยากลำบากที่สุดอีกปีหนึ่ง สำหรับการส่งออก “ข้าวไทย” หลังจากล่าสุดปริมาณส่งออกข้าวของไทยลดลงอย่างหนัก และต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยมีสาเหตุจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าและคู่แข่งรุกตีตลาดข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ไทยสูญเสียตลาดไปแล้วมากกว่า 2 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน ในการประชุมข้าวโลกปีล่าสุด (world rice conference 2019) ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ปรากกฎว่า “ข้าวหอมมะลิไทย” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก พ่ายแพ้ให้กับข้าวหอมมะลิเวียดนาม พันธุ์ “เอสที 24” หรือข้าวพันธุ์ “หลกเจ่ย 28” ที่ปีนี้คว้าตำแหน่งข้าวที่ดีที่สุดในโลกไป (the World's Best Rice award 2019)
การสูญเสียตลาดส่งออกข้าวไทยให้กับ "คู่แข่ง" และการที่ “ข้าวหอมมะลิ” หล่นมาอยู่อันดับ 2 ในการประกวดข้าวโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากปีที่แล้วพ่ายแพ้ให้กับข้าวหอมมะลิกัมพูชา “ลีอังกอร์” และปีนี้พ่ายแพ้ให้กับข้าวมะลิเวียดนาม จากที่ก่อนหน้านี้ ข้าวหอมมะลิไทยคว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกในปี 2559-60 และปี 2552-54 รวมแล้ว 5 ปีจาก 10 ปีที่ผ่านมา
สัญญาณตรงนี้สะท้อนว่าข้าวไทยกำลังเผชิญกับ “วิกฤติ” แล้วหรือไม่ หรือเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว และปีหน้าการส่งออกข้าวไทยจะกลับมาได้หรือไม่ เราจะมาวิเคราะห์กันครับ/ค่ะ
หากไม่นับปี 2556-57 ซึ่งเป็นรัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด จนข้าวสารส่วนใหญ่ไหลมาอยู่ในสต๊อกรัฐบาล และทำให้ไทยส่งออกข้าวไม่ถึง 7 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้านี้ที่ไทยส่งออกข้าวได้สูงถึง 9-12 ล้านตัน
จะพบว่า 9 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.62) ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 5.93 ล้านตัน ลดลง 28.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไทยส่งออกข้าวได้ 8.25 ล้านตัน หรือลดลง 2.32 ล้านตัน และมูลค่าอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านลดลง 24.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มูลค่าอยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท หรือเม็ดเงินหายไปมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้การส่งออกข้าวไทยลดลงอย่างมาก เป็นเพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง และขายได้ยาก เพราะหากไปดูค่าเงินบาทจะพบว่า ณ สิ้นปี 61 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าต่อเนื่องเป็น 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 30.18 บาท/ดอลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากกว่า 2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่ามากกว่า 7% เมื่อเทียบกับต้นปี
นอกจากนี้ เมื่อพิจาณาปริมาณการส่งออกข้าวเป็นรายประเทศ จะพบว่าคู่แข่งส่งออกข้าวรายสำคัญอย่างเวียดนาม สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น 5.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ และหากไปดูปริมาณการส่งออกจะพบว่าเวียดนามส่งออกข้าวได้ 5.2 ล้านตัน หรือเรียกได้ว่าไล่หลังไทยมาติดๆ และอาจแซงหน้าไทยได้ในปีนี้
เนื่องจากฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดันต้นๆของไทย โดยปี 61 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวไทย 1.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 406 ล้านดอลาร์สหรัฐ
แต่ในปีนี้ ฟิลิปปินส์กลับนำเข้าข้าวจากไทยไม่ถึง 3 แสนตัน และมูลค่าลดลงเหลือ 112 ล้าน หรือลดลง 72% ในขณะที่ปีนี้เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์ไปแล้ว โดย 8 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ส.ค.62) เวียดนามส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์แล้ว 1.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 290% และมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 260%
ในขณะที่จีน ซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกและจากไทย ได้ทยอยระบายสต็อกข้าวที่มีอยู่กว่า 100 ล้านตัน ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีน ส่งออกข้าวไปต่างประเทศแล้ว 2.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 56.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯสหรัฐ หรือ USDA ประเมินว่าปีนี้จีนจะส่งออกข้าว 3.2 ล้านตัน จากปีก่อนที่การส่งออกข้าวจีนอยู่ที่ 1.8 ล้านตัน
โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของจีน คือ ตลาดในแถบแอฟริกา ซึ่งมีไทยและอินเดียเป็นเจ้าตลาดอยู่เดิม แต่ด้วยราคาข้าวขาวจีนที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทย 100 ดอลลาร์ฯ/ตัน ส่งผลให้จีนรุกคืบเข้ายึดตลาดข้าวในแถบแอฟริกาได้ไม่ยากเย็นนัก
เช่นเดียวกัน เมียนมาร์ อดีตมหาอำนาจส่งออกข้าวโลกเมื่อ 50 ปีก่อน มีการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากเปิดประเทศ ซึ่งล่าสุดเมียนมาร์ติด 1 ใน 10 ประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก และแม้ว่าปีล่าสุด (ต.ค.61-ก.ย.62) เมียนมาร์จะส่งออกข้าวได้เพียง 2.29 ล้านตัน ลดลง 36% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ในช่วง 2 ปีหลังเมียนมาร์ส่งออกข้าวได้สูงถึง 3-3.6 ล้านตัน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังไป 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2559-61 จะพบว่าไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวไปให้กับอินเดียเป็นปีที่ 3 แล้ว และปี 62 อินเดียก็ส่งออกข้าวแซงหน้าไทยเช่นกัน โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 ส.ค.62 อินเดียส่งออกข้าวไปแล้ว 7 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน สต็อกข้าวอินเดีย ณ วันที่ 1 ต.ค.62 ที่สูงถึง 27.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 19.74 ล้านตัน ทำให้อินเดียมีศักยภาพที่จะระบายข้าวออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากได้ต่อเนื่อง
เหล่านี้สะท้อนได้ว่าการส่งออกข้าวไทยเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในทุกตลาด และเริ่มสูญเสียตลาดอย่างเนื่อง ที่สำคัญในขณะที่ข้าวขาวไทยราคาแพงกว่าข้าวคู่แข่งในเกรดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย และจีน อย่างน้อย 40-50 ดอลลาร์สหรัฐ บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยิ่งทำให้สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น
ขณะที่ "การพัฒนาพันธุ์ข้าว" จะพบว่าในขณะที่หลายประเทศเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดี และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่ม เช่น ข้าวนางฮวา, เอสที 21 ,เอสที 24, ดีที 8 พร้อมๆกับพันธุ์ข้าวหอมมะลิอย่างพันธุ์ "เอสที 26"
แต่ในส่วนของไทยกลับมีการพัฒนานาพันธุ์ข้าวขาวเพียงไม่กี่พันธุ์ ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 จะพบว่า 10 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการพัฒนาพันธุ์เลย จุดแข็งที่เคยมี เช่น มีกลิ่นหอม นุ่ม พองตัว และอร่อยเป็นเวลาสองชั่วโมงหลังจากที่ข้าวสุก เริ่มได้เปรียบข้าวหอมมะลิพันธุ์อื่นๆน้อยลง
และด้วยคุณภาพข้าวเวียดนามที่มีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ "เอสที 24" ซึ่งมีเมล็ดยาวมีความเหนียวนุ่ม แม้ความหอมจะน้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทย แต่มีความหวานมากกว่า จนชนะใจกรรมการในการประกวดข้าวโลกปีล่าสุด ประกอบกับข้าวหอมมะลิเวียดนามราคาถูกกว่าข้าวไทยแบบครึ่งต่อครึ่ง
กล่าวคือ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยมีราคา 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ข้าวหอมมะลิเวียดนามราคาอยู่ที่เพียง 500-600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิเวียดนามแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวพรีเมียมไทยในหลายตลาด เช่น ตลาดฮ่องกงที่ข้าวหอมมะลิไทยเคยครองส่วนแบ่งตลาด 90-95% แต่วันนี้ส่วนแบ่งลดเหลือ 40-50% โดยมีข้าวหอมมะลิเวียดนามและกัมพูชาเข้ามาแทนที่
ขณะที่ในปีหน้า 2563 การส่งออกข้าวไทยน่าจะยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าเงินบาทอาจหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ยาก ขณะเดียวกันการแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้ข้าวไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือ USDA คาดว่า ในปี 63 แม้ว่าความต้องการข้าวโลกจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง แต่อินเดีย จีน เวียดนาม สหรัฐ เมียนมาร์ จะมีการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยอินเดียจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 คือ อินเดีย 12 ล้าน ไทย 8.5 ล้านตัน เวียดนาม 6.7 ล้านตัน ปากีสถาน 4 ล้านตัน จีน 3.6 ล้านตัน สหรัฐฯ 3.1 ล้านตัน เมียนมา 2.5 ล้านตัน และกัมพูชา 1.4 ล้านตัน
แม้ว่าขณะนี้การส่งออกข้าวไทยยังไม่อยู่ในภาวะ "วิกฤต" รุนแรง แต่ต้องถือว่าวันนี้การส่งออกข้าวไทยและแม้แต่ข้าวไทยกำลังถูกผลักไปอยู่ปากเหว ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ของประเทศและชาวนาที่ได้จากการส่งออกไทยจะลดลงเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยปัจจุบันที่มีจำนวนกว่า 4.1 ล้านครัวเรือน
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
ข่าวแนะนำ
-
ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน
- 10:41 น.