TNN ไทยติดอันดับโลกเส้นทางบินผู้โดยสารมากที่สุด ถึง 2 เส้นทางบิน

TNN

Wealth

ไทยติดอันดับโลกเส้นทางบินผู้โดยสารมากที่สุด ถึง 2 เส้นทางบิน

ไทยติดอันดับโลกเส้นทางบินผู้โดยสารมากที่สุด ถึง 2 เส้นทางบิน

OAG เปิดเผยข้อมูลเส้นทางการบินที่พลุกพล่านที่สุดในปี 2024 พบเส้นทาง ประเทศไทย ติด 10 อันดับแรก ถึง 2 เส้นทางบิน

โอเอจี (OAG) บริษัทให้บริการข้อมูลด้านอุตสาหกรรมการบินระดับโลก  ได้เผยแพร่รายงาน เส้นทางการบินที่พลุกพล่านที่สุดในปี 2024 (THE BUSIEST FLIGHT ROUTES OF 2024)  โดยรายงานฉบับนี้ นอกจากจะเผยให้เห็นอันดับเส้นทางบินยอดนิยมในปี 2024 แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศในบางประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่บางเส้นทางบินก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่องช้าของการฟื้นตัว  โดย 5 เส้นทางบินระหว่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2024  โดยวัดจากจำนวนที่นั่งในแต่ละเส้นทางบินตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม 2024 ได้แก่


1. เส้นทาง ฮ่องกง-ไทเป  กว่า 6.7 ล้านที่นั่ง ซึ่งปีนี้เลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 3 ในปี 2023  แต่จำนวนที่นั่งยังน้อยกว่าปี 2019  หรือก่อนโควิดระบาดอยู่ร้อยละ 15   

2. เส้นทางไคโร-เจดดาห์ กว่า 5.4  ล้านที่นั่ง   

3. โซล -โตเกียว กว่า 5.4 ล้าน ที่นั่ง   

4.กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ กว่า 5.3 ล้านที่นั่ง โดยปีนี้ร่วงจากอันดับ 1 ลงมาเป็นอันดับ 3 อันดับ  

5.โซล -โอซาก้า กว่า 4.9 ล้าน ที่นั่ง   


ส่วน เส้นทางบินของประเทศไทยติด 2 อันดับ คือ เส้นทาง สุวรรณภูมิ - ฮ่องกง ติดอันดับ 7  ด้วยจำนวนที่นั่งกว่า 4.2 ล้าน ที่นั่ง  และเส้นทาง สุวรรณภูมิ-สิงคโปร์  ติดอันดับ 9 ด้วยจำนวนกว่า 4 ล้านที่นั่ง  


โอเอจี ระบุว่า ข้อมูลที่น่าสนใจใน 10 เส้นทางบินระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในปี 2024 นี้ พบว่า มีถึง 7 เส้นทางบิน ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก รวมถึงกรุงเทพมหานคร  เมืองหลวงของประเทศไทย ที่ติดอันดับเส้นทางบินยอดนิยมถึง 2 อันดับ 


ถึงแม้ว่าจำนวนที่นั่งในบางเส้นทางอาจยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากปี 2019 มากนัก เช่น จำนวนที่นั่งในเส้นทางฮ่องกง-ไทเป ซึ่งเป็นเส้นทางอันดับที่ 1 ในปี 2024 จำนวนที่นั่งยังน้อยกว่าปี 2019 อยู่ร้อยละ 15 แต่ยังมีบางเส้นทางที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินได้อย่างชัดเจน เช่น เส้นทาง โซล อินชอน-โตเกียว นาริตะ ที่มีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 68 จากปี 2019 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปี 2023 


สรุปแล้ว สามารถกล่าวได้ว่า ภาพรวมการบินระหว่างประเทศมีการเติบโตขึ้นจากปี 2023 แต่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงระดับปี 2019 หรือก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19


ภาพจาก: AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง