TNN เอาเงินออกไปลงทุนอย่างไร เมื่อ ‘ทรัมป์’ รีเทิร์น

TNN

Wealth

เอาเงินออกไปลงทุนอย่างไร เมื่อ ‘ทรัมป์’ รีเทิร์น

เอาเงินออกไปลงทุนอย่างไร เมื่อ ‘ทรัมป์’ รีเทิร์น

เอาเงินออกไปลงทุนอย่างไร เมื่อ ‘ทรัมป์’ รีเทิร์น โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

สิ้นสุดการรอคอยไปแล้ว สำหรับการชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของโลกและสหรัฐฯ ด้วยการคว้าชัยชนะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่ไม่ใช่แค่นั้น และต่อด้วยการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25%  

 

หลายคนก็ถามผมมาว่า ใกล้สิ้นปีแล้วจะจัดพอร์ตลงทุนอย่างไรดี ปีนี้เป็นอีกปีที่ความผันผวนเยอะไปหมดจนหลายคนบ่นอุบ  ไม่ว่าจะหุ้นในหลายๆ ประเทศที่พุ่งขึ้นแล้วไหลลงเหมือนรถไฟเหาะจนมึนไปหมด บางคนก็โชคดีพอร์ตรวมๆ ออกมาเป็นบวก แม้จะมีบางสินทรัพย์ไม่ดีแต่ก็มีบางสินทรัพย์ที่ทำกำไรมาช่วยดึง 

 

ผมจะมาอัพเดตโค้งสุดท้ายนี้ บรรยากาศการลงทุนจะเป็นอย่างไร โอกาสลงทุนดีๆยังมีอยู่ไหม หลายคนขอเคล็ดลับจัดพอร์ตให้มีกำไร ผมจะจัดให้ในช่วงท้ายๆ นะครับ


 

โลกจับจ้อง   รอโอกาสลงทุนหลังการเมืองชัด

 

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่ตลาดการเงินของโลกจะมีความผันผวนมากครับ แน่นอนว่าผลชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นตัวแปรที่กำหนดทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า  การเลือกตั้งที่สิ้นสุดลงช่วยสร้างความชัดเจนให้กับตลาดการลงทุนในระดับหนึ่ง แม้ผลกระทบระยะสั้นจากการที่นายทรัมป์ ได้กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง อาจจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนขึ้นลงได้บ้าง   เพราะด้วยบุคคลิกของนายทรัมป์ที่ค่อนข้างแข็งกร้าวในการดำเนินนโยบายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ แต่ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะผันผวนในขาขึ้น   

 

ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมองจุดเปลี่ยนการเมืองสหรัฐฯ มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน และการที่   'โดนัลด์ ทรัมป์ ' ชนะการเลือกตั้งและสามารถครองเสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง (Republican Sweep) มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเร่งสูงขึ้นจากมาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าและมาตรการกีดกันแรงงานอพยพ อาจส่งผลให้เฟดอาจไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เท่าที่ควรในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2568 ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังมีความหนืดอยู่ 

 

ขณะที่ข้อมูลสำคัญในตลาดแรงงานชี้วัดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่งออกมาเร็วๆ นี้ ส่งผลให้มุมมองของตลาดเปลี่ยนไป โดยนักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสัปดาห์หน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี

 

ในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเอกฉันท์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75%   ตามการคาดการณ์ของตลาด  โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 71.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. และให้น้ำหนัก 54.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนม.ค.2568  นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนมี.ค.2568

 

แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในรายงาน World Economic Outlook ฉบับเดือนต.ค. 2567 โดยคาดการณ์ว่า ปี 2567 นี้ เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.8% ลดลงเล็กน้อยจาก 2.9% ในปีที่แล้ว โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ และในปี 2568 คาดการณ์ GDP โตชะลอตัวอยู่ที่ 2.2% เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การบริหารของประธานาธิบดีและรัฐสภาชุดใหม่ อีกทั้งยังคาดว่า ตลาดแรงงานจะสูญเสียโมเมนตัมในปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลเริ่มพยายามควบคุมการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลด้วยการชะลอการใช้จ่าย การเพิ่มภาษี หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน 

 

ทั้งนี้หากพิจารณานโยบายของนายโดนัลด์ทรัพป์ที่ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงนั้น มีแนวโน้มจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นอยู่ในทิศทางขาขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% มาอยู่ที่ 20% และในอนาคตจะลดมาเหลือ  15% ซึ่งหากสามารถทำได้จริง ก็จะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้แนวโน้มเงินทุนจะไหลเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้นในอนาคต

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายตั้งกำแพงภาษี และนโยบายการกีดกันผู้อพยพของนายทรัมป์อาจจะช่วยให้คนอเมริกันมีรายได้ และใช้จ่ายอุปโภค บริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจได้รับการกระตุ้นและเมื่อเศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นก็จะเติบโตไปด้วยนั่นเอง  

 

ในการลงทุนระยะยาวนั้น หากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 2471-2559 พบว่าภายหลังการเลือกตั้ง 19 ครั้ง หรือ 83% ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น โดยปีที่ได้ประธานาธิบดีจากพรรค Republican ตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนเป็นบวก 15.30% และหากเป็นพรรค Democrat จะมีผลตอบแทนเป็นบวก 7.6% ดังนั้นในระยะยาวตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็จะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นได้ และผมเองก็เชื่อว่าจะได้เห็นตลาดหุ้นสหรัฐทำ all time high ได้เสมอ 

 

 

@ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า กระทบต้นทุนการลงทุนในอนาคต

 

 

ในช่วงโค้งท้ายปีนี้ ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและค่าเงินบาทในช่วงนับจากนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ปีนี้เป็นปีที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงมากๆ และหนักไปทางแข็งค่ามาก ซึ่งปัจจัยหลักๆ มาจากค่าเงินดอลลาร์ หลังจากที่เฟดคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงสุด 5.00-5.25% และดอกเบี้ยไทยยืนอยู่ที่ระดับ 2.50% (ส่วนต่างดอกเบี้ย 2.50%-2.75%) 

 

 

โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2567 ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าจนปลายเดือนเมษายน ทะลุแนว 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเงินบาทอ่อนค่าราว 7% มากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเซีย หรือเป็นรองเพียงเงินเยนของญี่ปุ่น 

 

 

ส่วนในช่วงกลางปี เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามหลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณแนวโน้มการลดดอกเบี้ยชัดเจนขึ้น ทำให้ครึ่งปีหลัง เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าหลุดแนว 34 บาท/ดอลลาร์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึง 31 ตุลาคม 2567 ปิดตลาดที่ 33.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคก็ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวตามๆ กันครับ

 

อย่างไรก็ตามภายหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าเราจะได้เห็นเม็ดเงินที่ไหลเข้าสหรัฐฯ จากการผลักดันนโยบายต่างๆ หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายทรัมป์ เราจะได้เห็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น กระทบต่อค่าเงินบาทที่จะอ่อนค่าเร็วได้ด้วย ประกอบกับ  แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่คาดการณ์จะปรับลดลงในปีหน้าด้วย จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทยแคบลงได้ในระดับหนึ่ง

 

ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ตลาดยังคาดการณ์ว่า ในระยะต่อไป กนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือน มี.ค. ปีหน้า และให้โอกาสราว 80% ที่จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือน มิ.ย. ปีหน้า สิ้นสุดวัฏจักรการลดดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% ซึ่งจะทำให้ปีหน้า ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ อยู่ที่ 1.5%   ซึ่งส่วนต่างที่แคบลงจะมีนัยต่อการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

ดังนั้นหากพิจารณาในแง่ของค่าเงินที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กระทบกับผลตอบแทนการลงทุน หากนักลงทุนเห็นภาพแล้วว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง อาจกระทบต่อต้นทุนการลงทุนให้ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นักลงทุนก็ควรใช้โอกาสนี้ในการลงทุนก่อนที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงได้อีก ผมจึงย้ำว่า นอกจากความชัดเจนในเรื่องผลการเลือกตั้งแล้ว เมื่อได้เห็นว่าค่าเงินบาทในอนาคตจะอ่อนค่าลง เวลานี้จึงถือเป็นจุดที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นะครับ 

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณคงอยากถามว่า แล้วเราควรจะบริหารจัดการพอร์ตลงทุนอย่างไรดี ให้มีความทนทานและยืดหยุ่น เพื่อให้ระยะยาว พอร์ตยังคงเติบโตต่อไปได้ตามแนวทางของนักลงทุนสาย VI  

 

@ จัดพอร์ตให้สมดุล-DCA ช่วยปลดล็อคตลาดผันผวน 

 

จริงอยู่ว่า ‘ค่าเงิน’ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อมูลค่าของพอร์ต แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครควบคุมได้ เพราะมีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างความผันผวน สภาพไม่ต่างจากหุ้นครับ แต่ไม่ว่า ‘เงินบาท’ จะแข็งหรืออ่อน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่ากลัวอะไรเลยครับ   เพราะเรามีเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยควบคุมความเสี่ยงให้ลดลงได้ นั่นก็คือวิธีการลงทุนถัวเฉลี่ย หรือ DCA ที่จะช่วยให้เราฝ่าความผันผวนต่างๆ ไปได้ ไม่ว่า ค่าเงินจะแข็งหรือจะอ่อนค่า ล้วนสร้าง ‘โอกาส’ การลงทุนให้กับคุณ

 

และอีกเครื่องมือสำคัญนอกจาก DCA ก็คือ การกระจายลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Alocation) ตัวช่วยปรับระดับความเสี่ยงการลงทุนให้อยู่ระดับเหมาะสมเท่าที่คุณรับไหว 

 

เพราะทุกวันนี้ โลกการลงทุนไม่ว่าสินทรัพย์ไหนๆ ก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เคยปลอดภัยมีความเสี่ยงต่ำมากๆ แต่วันนี้ก็เผชิญกับความผันผวนเช่นกัน ความเสี่ยงต่างๆ ที่เข้ามาเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เปรียบเสมือนฝนฟ้าอากาศ 

 

การจัด Asset Alocation ที่ดี มักให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า เพราะจะทำให้พอร์ตโดยรวมของคุณจะมีความผันผวนเพียงเล็กน้อย และเมื่อใดที่เกิดวิกฤติขึ้น ไม่ว่าจะกี่วิกฤติก็ตาม พอร์ตของคุณก็จะมีสินทรัพย์บางตัวที่ให้ผลตอบแทนได้ ในขณะที่สินทรัพย์อีกตัวอาจย่ำแย่ 

 

ผมจะเน้นย้ำกับลูกค้าทุกคนเสมอว่า การจัดพอร์ตที่กระจายการลงทุนและ DCA อย่างน้อยลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป หรือ 10 ปี แม้ระหว่างทางจะเผชิญกับกระแสลบ ไม่ว่าเป็นช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยนแปลง กระทบเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนก็ตาม สหรัฐฯ ะเปลี่ยนประธานาธิบดีคนใหม่อีก สงครามการค้า สงครามต่างๆ หรือเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยหรือขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้เติบโต หรืออีกหลายๆปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อข่าวร้ายผ่านไปแล้ว พอร์ตของคุณที่อึดทนด้วยสินทรัพย์ที่มีคุณภาพอยู่จริง สุดท้ายสินทรัพย์เหล่านี้ก็จะยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้คุณมีกำไรเติบโตต่อเนื่องยาวๆครับ 

 

การสร้างพอร์ตให้สมดุลทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก 

 

เพราะแม้แต่คุณปู่ Warren Buffet นักลงทุนสาย VI ระดับโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีการปรับพอร์ตให้บาลานซ์ เมื่อเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นการลงทุนอย่างมีวินัย และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายในระยะยาว

 

ช่วงโค้งท้ายปี คุณได้ตรวจสุขภาพพอร์ตลงทุนเหมือนปู่ Buffet หรือยังครับ เพราะนับจากนี้โลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้ง ใต้เงาโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศไปอีก 4 ปีข้างหน้านี้ 

 

เมื่อใดที่คุณขยันทำการบ้านดูแลพอร์ตลงทุนอย่างมีวินัย กระจายการลงทุนให้สมดุลสอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาว ความเสี่ยงการลงทุนของคุณจะลดลงได้ครับ 

 

และผมมั่นใจว่า คุณจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ตามเป้าหมายเหมือนปู่ Buffet ครับ ผมฟันธงเลยครับ



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง