TNN หนุน 3 แรงต้านตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ VI ต้องจับตา

TNN

Wealth

หนุน 3 แรงต้านตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ VI ต้องจับตา

 หนุน 3 แรงต้านตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ VI ต้องจับตา

การลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็ถือเป็นทางเลือกนึงที่น่าสนใจ และประเทศที่โดดเด่นและเป็นที่พูดถึงอยู่เสมออย่างเวียดนามว่าที่เสือเศรษฐกิจตัวใหม่

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังมีประเด็นร้อนแรงรายวัน สหรัฐฯ กำลังจะมีเลือกตั้งในอีกไม่กี่วันนี้ ขณะที่จีนเองก็ยังคงมีการอัดมาตรการชุดใหญ่ที่นักลงทุนเคยรอคอยมานาน นักลงทุนคงอยากรู้ว่าเวลาเช่นนี้ ตลาดหุ้นไหนที่ยังมีความน่าสนใจ ผมมีคำแนะนำดีๆ มาฝากครับ

หากจะลองมองให้กว้างขึ้น การลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็ถือเป็นทางเลือกนึงที่น่าสนใจ และประเทศที่โดดเด่นและเป็นที่พูดถึงอยู่เสมออย่างเวียดนามว่าที่เสือเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาผมอยากจะพาไปส่องกันสักนิดว่าเวลานี้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่สนับสนุนการเติบโตมีอะไรบ้างและจะเป็นที่พักใจให้กับคุณๆ ได้หรือไม่ในช่วงที่ตลาดโลกยังผันผวนความน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามสำหรับผมแล้ว เรียกว่ามีไม่น้อยเลยและไม่ใช่แค่กระแสที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามนะครับ เผลอๆจะน่าสนใจมากกว่าในการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา และตลาดหุ้นจีนเสียด้วยผมจะพาไปดูแต่ละปัจจัยกันครับ

ปัจจัยแรกคือเรื่องของ Performance ของตลาดในปีนี้ ถ้าเราไปดูเปรียบเทียบผลตอบแทน 9 เดือนที่ผ่านมา จะพบว่าดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 20.81% ตลาดหุ้นจีน H-share (HSI) ให้ผลตอบแทน 23.97% แต่หากเป็น CSI300 อยู่ที่ 17.10% ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามดัชนี VNI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.98% การที่ตลาดหุ้นยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ประเทศ มี Performance ที่โดดเด่นขนาดนี้ ทำให้ความน่าสนใจที่จะได้เห็นโอกาสการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเวียดนาม

ปัจจัยถัดมาที่สนับสนุนโอกาสการลงทุนในเวียดนามก็คือเรื่องของโอกาสจากความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นนี้ โดยเฉพาะจากปัจจัยในเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ก็ยังไม่แน่นอนว่าผลสุดท้ายจะเป็นใครที่ได้รับเลือก และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะหนักเบามากน้อยเพียงไหน จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ประเทศอย่างไรได้บ้าง และสุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะถูกรับเลือกเป็นประธานาธิบดี รวมถึงระดับความรุนแรงของสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้น ผมก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในประเทศเวียดนามไม่มากก็น้อยอยู่ดีครับ และจากปัจจัยสุดท้ายที่จะหนุนโอกาสการลงทุนในเวียดนาม ก็มาจากเศรษฐกิจของเวียดนามเอง โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาพบว่า GDP เติบโต 7.4% ถือเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 2 ปี และโตสูงที่สุดในภูมิภาค อาเซียนอีกด้วย


ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี GDP เวียดนามเติบโตแล้ว 6.8% สูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ทั้งปี 6.5% และทางรัฐบาลยังมองว่าในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มที่ดี ทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลง การส่งออก และการบริโภคในประเทศก็จะเติบโตได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่ 4 อาจจะโตได้ถึง 7.6-8% และจะทำให้ GDP ทั้งปีของปีนี้ไม่ต่ำกว่า 7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ทางรัฐบาลตั้งไว้ การเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ได้รับแรงสนับสนุน จาก 2 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรก คือ ในส่วนของภาคการผลิต (Industrial) คิดเป็น 49% ของ GDP เติบโต 9.1% ซึ่งมีส่วนสำคัญมาก และอีกปัจจัยนึงคือส่วนของภาคบริการ (Service) คิดเป็น 47% ของ GDP เติบโต 7.5% ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามมาก เพราะมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของ GDP ทั้งคู่ การส่งออกเติบโต 15.4% และทางด้านเงินเฟ้อก็มีการควบคุมได้ดีมาก 

โดยช่วง 9 เดือนแรกออกมาที่ 3.88% จากเป้าหมายที่ 4.5% และที่สำคัญที่สุดคือนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในเวียดนามกว่า 12.7 ล้านคนคิดเป็นการเติบโต 43% และมีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะได้เห็น New High ยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศไหลเข้าเวียดนามเพิ่มเกิน 18 ล้านคนทะลุสถิติที่เวียดนามเคยทำได้ก่อนโควิด และนี่เองที่จะช่วยให้ภาคบริการมีการเติบโตหนุนเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง จริงอยู่ว่าตลาดหุ้นเวียดนามในเวลานี้ยังเป็นตลาดชายขอบ (Frontier Market) อยู่ แต่กำลังเป็นที่จับตากันว่าอีกไม่นานนี้ตลาดหุ้นเวียดนามจะได้รับการยกระดับจากตลาดหุ้นชายขอบมาเป็นตลาดเกิดใหม่(Emerging Market) ผมเชื่อว่านักลงทุนที่ถือหุ้นเวียดนามอยู่ ต่างก็ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในการที่จะดึงดูดเม็ดเงิน หรือ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติระดับโลกเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม แม้ว่าก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นเวียดนามจะติดปัญหาในเรื่องของการเข้าถึง เช่น ข้อจำกัดการเป็นเจ้าของสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ข้อกำหนดในการวางเงินให้เพียงพอ และการขาดการเปิดเผยข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ แต่จากข้อมูลล่าสุด ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งรัฐ หรือ กลต. ของทางเวียดนาม ก็ได้มีการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในการประเมินของบริษัทจัดทำดัชนีระดับโลก 

โดยฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) บริษัทจัดทำดัชนีหุ้นของอังกฤษอาจจะยกระดับสถานะของตลาดหุ้นเวียดนาม จาก Frontier Market เป็น Emerging Market ในเดือนกันยายนปีหน้า (2025) และทาง MSCI ก็อาจจะยกระดับในปี 2026 ต่อไปครับ ผมมองว่าผลจากการยกระดับสถานะของตลาดหุ้นเวียดนามจะทำให้ดึงดูด Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนครับ โอกาสมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ หากจะไม่พูดถึงปัจจัยกดดันในตลาดหุ้นเวียดนามที่นักลงทุนควรจับตาก็คงจะไม่ได้

ผมขอพูดถึงแรงกดดัน 3 สิ่งที่จะเป็นปัจจัยกดดันสำหรับตลาดหุ้นเวียดนามนับจากนี้ ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจากพายุไต้ฝุ่นที่พัดเข้าถล่มในภาคเหนือของประเทศเวียดนามในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีทั้งผู้เสียชีวิต และการปิดโรงงานไปหลายสัปดาห์ ยังต้องคอยประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยถัดมาคือการชะลอตัวของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งขยายตัวเพียง 0.3% YoY ในไตรมาสที่ 3 ชะลอลงจาก 3.2%YoY ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากกระแสการปราบปรามการคอร์รัปชันในเวียดนามที่ทำให้การอนุมัติโครงการรวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนภาครัฐเกิดความล่าช้า 

สุดท้ายคือปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย ธนาคารกลางเวียดนามได้ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ออกไปจนถึง 31 ธ.ค. 2567 ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ในขณะที่ สัดส่วน NPL ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากหนี้เสียภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ปัญหาหนี้เสียได้ส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นและส่งผลให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว เมื่อประเมินโอกาสและความเสี่ยงแล้ว ผมเชื่อว่าคุณจะคิดเหมือนผมว่าตลาดหุ้นเวียดนามมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นในระยะยาว แต่ก็ใช่ว่าคุณจะทุ่มเม็ดเงินลงไปเสียทั้งหมดได้นะครับ ด้วย Valuation ในปัจจุบันที่อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังเหมาะที่จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามควรจะอยู่ที่ 5-10% ของพอร์ต

ทั้งนี้ ผมยังคงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนด้วยการจัดพอร์ต Core  Satellite โดยพอร์ตหลัก (Core Port) ที่เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนมีเสถียรภาพ ด้วยสัดส่วน 80% และพอร์ตรอง (Satellite Port)ที่เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นแต่มีโอกาสที่ผลตอบแทนจะเติบโตสูงเช่นหุ้นกลุ่มเติบโตในสัดส่วน 20% ซึ่งหุ้นเวียดนามเหมาะสมที่จะจัดไว้ในส่วนของพอร์ต Satellite ขณะเดียวกันคุณสามารถใช้วิธีการลงทุนด้วยการถัวเฉลี่ยต้นทุนหรือ DCA ไปเรื่อยๆได้ เพื่อสะสมต้นทุนไปในทุกจังหวะ และไม่ให้เสียโอกาสทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง 

คุณสามารถหาข้อมูลหุ้นเวียดนามเพื่อเลือกลงทุนได้ใน Jitta Rankingหุ้นเวียดนามที่อัลกอริทึ่มของ Jitta ได้มีการจัดอันดับหุ้นไว้แล้ว แต่หากคุณไม่พร้อมที่จะไปลงทุนในหุ้นเวียดนามโดยตรง สามารถเลือกลงทุนในกองทุนดัชนีหรือ ETF หุ้นเวียดนามได้ เช่น VanEck Vietnam ETF ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม และมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปอย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตของคุณได้ นับจากนี้ไปถึงเดือน ก.ย. 2568 หากตลาดหุ้นเวียดนามได้รับการยกระดับขึ้นเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่จริง เราคงได้เห็นตลาดหุ้นเวียดนามคึกคักจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าอย่างเด่นชัด ผมว่าคุณไม่ควรพลาดโอกาสนี้เอาไว้ก่อนที่ราคาหุ้นจะพุ่งไปไกลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้นะครับ

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ 
CEO Jitta Wealth









ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง