แกะรอยไทยเสี่ยงฟิทช์ลดเครดิตประเทศ
Fitch Rating พบ “หนี้ภาครัฐ-เสถียรภาพการเมือง-เศรษฐกิจโตต่ำ” เป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันไทยอาจถูกปรับลดเครดิตเรตติงประจำปีนี้
เปิดข้อมูล SCB EIC แกะรอยการจัดอันดับเครดิตเรตติงประเทศไทยของ Fitch Rating พบ ““หนี้ภาครัฐ-เสถียรภาพการเมือง-เศรษฐกิจโตต่ำ” เป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันไทยอาจถูกปรับลดเครดิตเรตติงประจำปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ BBB+ มุมมอง Stable outlook โดย Fitch จะมีการประเมินอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ พร้อมแนะแนวทางลดความเสี่ยง
ติดตามได้ในรายการเศรษฐกิจอินไซต์
อันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign credit rating) เป็นเครื่องมือที่มีมาตรฐานชี้วัดความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนในประเทศหนึ่ง ๆ สะท้อนความสามารถในการชำระคืนหนี้ตามกำหนด (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ซึ่งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารภาคเอกชนในประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันอันดับความน่าเชื่อถือหรืออันดับเครดิตเรตติงของไทยยู่ที่ BBB+ มุมมองมีเสถียรภาพ (Stable outlook) ตามระบบของ S&P และ Fitch Rating (เทียบเท่า Baa1 ของ Moody’s rating) ซึ่งเป็นอันดับความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน (Investment grade)
แต่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC แกะรอยการจัดอันดับเครดิตเรตติงประเทศไทยของ Fitch Rating ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลที่มีสัดส่วนของจำนวนการจัดการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ Government Securities มากที่สุด
พบว่าไทยมีความเสี่ยงจากการถูกปรับมุมมองเป็นลบหรือปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในปีนี้ จากการประเมินอันความความน่าเชื่อถือของ Fitch Rating ซึ่งจะมีการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทยประจำปีนี้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2567
เนื่องจากผลประเมินอันดับไทยโดย Fitch ล่าสุด ณ 13 พ.ย. 2566 ระบุปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับ (Ratingsensitive) ใน 2 ประเด็น คือ (1) การคลังภาครัฐ โดยเฉพาะความสามารถในการดูแลสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ให้มีเสถียรภาพ และ (2) ลักษณะเชิงโครงสร้างประเทศ โดยเฉพาะความไม่สงบทางการเมืองรุนแรงในระดับที่อาจกระทบประสิทธิผลการวางนโยบายภาครัฐและการเติบโตของเศรษฐกิจได้
และล่าสุด Fitch ได้ออกรายงานเพิ่มเติมในวันที่20 ส.ค. 2567 โดยยังคงมุมมองเดิมไว้ก่อนจะประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทยประจำปีนี้อย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2567 โดยมองว่าการที่ไทยได้นายกรัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับผลโหวตเป็นเอกฉันท์ในสภาฯ จะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบาย นอกจากนี้ Fitch ได้ระบุถึงพัฒนาการที่แย่ลงของปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องข้างต้นที่อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับอีกด้วย
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงอันดับเครดิตเรตติงไทยมีความท้าทายขึ้นในหลายประเด็น โดยเฉพาะความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ (มิติPublic finance) // เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล (มิติStructural features) //และอัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (มิติ Macroeconomic)
ไปดูรายละเอียดแต่ละประเด็น
1. ความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ (มิติPublic finance) โดยแผนการคลังระยะปานกลางตามมติคณะรัฐมนตรี 28 พ.ค. 2567 สะท้อนความยั่งยืนทางการคลังที่ต่างไปจากแผนฯปลายปี 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อ GDP ในระยะปานกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก จากการใช้จ่ายที่สูงขึ้นแต่การจัดเก็บรายได้ไม่มากพอ
และแผนการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1- 4.5 ต่อ GDP สูงกว่าระดับปกติที่ไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP เพื่อรองรับการขาดดุลงบประมาณปกติและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในระยะปานกลางปรับสูงขึ้น และทำจุดสูงสุดใหม่ที่ร้อยละ 68.9 ของ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2570 แตกต่างจาก Peers ที่สามารถปรับลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐลงมาได้หลัง Covid-19
หากเทียบกับแผนการคลังระยะปานกลางช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ Fitch ประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทยครั้งล่าสุดไว้ พบว่าแผนขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางเดิมค่อนข้างต่ำกว่านี้อยู่ในช่วงราวร้อยละ 3.3–3.7 ต่อ GDP และสัดส่วนหนี้สาธารณะในระยะปานกลางสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 64.9 ของ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2569
นอกจากนี้ ในรายงานเพิ่มเติมของ Fitch เดือน ส.ค. 2567 ระบุว่า หากไทยลดขนาดโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลจะเพิ่มพื้นที่การคลังได้ แต่ถ้ามีแรงกดดันทางการเมืองให้ใช้จ่ายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีกในช่วงหลังปีงบประมาณ 2568 จะทำให้ควบคุมการขาดดุลการคลังในระยะปานกลางได้ยาก ซึ่งจะทำให้แนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะหากการใช้จ่ายมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น แทนที่จะนำไปใช้จ่ายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศเพื่อยกระดับการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว
2. เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยงด้านการเมืองอย่างรุนแรงของไทยลดลงมากในระยะหลัง และการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ประกอบกับประกาศใช้พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปีพ.ศ. 2568 แล้วเมื่อ 30 ก.ย. 2567 ทำให้สามารถเริ่มเบิกจ่ายต้นปีงบประมาณได้ตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่า ประเด็นการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้อาจจะมีผลกระทบต่ออันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทยจากการประเมินโดยธนาคารโลก ว่าจะปรับแย่ลงหรือไม่ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่ Fitch เคยคาดการณ์ไว้ปลายปีที่แล้วว่าน่าจะมีอันดับที่ดีขึ้น เนื่องจากคะแนนปัจจุบันของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า Peers มาก จึงทำให้อันดับเครดิตเรตติงไทยในภาพรวมยังอยู่ที่BBB+ ได้
ความกังวลข้างต้นสอดคล้องกับรายงานเพิ่มเติมของ Fitch เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ที่ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนมาโดยตลอด อีกทั้งสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้อาจทำให้อันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทยไม่ปรับดีขึ้น เช่นที่ Fitch เคยมองไว้ช่วงปลายปีก่อน
นอกจากนี้ Fitch ยังมองว่า แม้การเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่และการยุบพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการวางนโยบายเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตประเทศได้
3. อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพหลายด้าน
โดย SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มโตช้าต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.5 และ ร้อยละ 2.6 ตามลำดับ (ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล) ซึ่งต่ำกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ3.8 และร้อยละ 3.4 อยู่มาก
นอกจากนี้ SCB EIC ประเมินว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มต่ำลงในระยะยาวเหลือร้อยละ 2.7 จากมุมมองเดิมร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.2 อยู่มาก
สาเหตุหลักมาจาก 1) ผลิตภาพการผลิตของไทยต่ำลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งจากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลงและกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
2) ปัจจัยทุน ของไทยที่มีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือประมาณร้อยละ 24 ของ GDP ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง อีกทั้งความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติของไทยยังต่ำลงหากเทียบประเทศในภูมิภาคอาเซียน
และ 3) ปัจจัยกำลังแรงงาน มีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว โดยในปี 2566 ไทยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีราวร้อยละ 14 ของประชากร และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของ ประชากรภายในปี 2593
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ช้ากว่าอดีตแล้ว ยังมีแนวโน้มเติบโตตัวช้ากว่า Peers โดยในปี 2023 เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.9 นับว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศระดับเครดิตเรตติง BBB+ ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.8 และยังถือว่าขยายตัวได้ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศระดับเครดิตเรตติง BBB ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.2
อีกทั้ง ยังต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 2.7 และหากพิจารณาแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยใช้ตัวเลขคาดการณ์ของ IMF เป็นมาตรฐานจะพบว่าไทยจะยังคงขยายตัวได้ช้ากว่าประเทศกลุ่มดังกล่าวนี้
ทั้งนี้ หากมุมมองอันดับเครดิตเรตติงของประเทศเปลี่ยนจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผ่านมาพบว่าสถาบันจัดอันดับจะปรับลดมุมมองต่อประเทศนั้น ๆ เป็นลบ (Negative) ก่อน ค่อยปรับลดอันดับเครดิตเรตติงในภายหลัง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 1 เดือนถึง 1 ปีขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงและผลกระทบ
หากประเทศถูกลดอันดับเครดิตเรตติงลง หรือ หากเกิดการคาดการณ์ว่าจะถูกปรับลดเครดิตเรตติงลงในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจประเทศนั้น ๆ จะได้รับผลกระทบผ่านหลายช่องทาง ได้แก่
(1) ภาครัฐจะมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการให้กู้ที่เพิ่มขึ้น ชดเชยความเสี่ยงของผู้ลงทุนที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ภาครัฐจึงอาจต้องขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่แพงขึ้นหรือลดเม็ดเงินใช้จ่ายอื่นลง เช่น งบลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม
(2) เม็ดเงินไหลออกจากประเทศมากขึ้นและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ ได้น้อยลง ทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและเงินลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดทุน เนื่องจากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ก าหนดระดับความเสี่ยงของประเทศที่จะไปลงทุนไว้โดยอ้างอิงกับอันดับเครดิตเรตติง
(3) ค่าเงินสกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลง เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางอาจต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นเทียบกับกรณีที่ประเทศไม่ถูกปรับลดเครดิตเรตติง แต่ละช่องทางล้วนส่งผลกดดันเศรษฐกิจในทางตรงและทางอ้อม
**นอกจากนี้ ภาคเอกชนในประเทศจะมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือจะใช้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทเอกชนในประเทศด้วย ส่งผลให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น กดดันการลงทุนและการบริโภค ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ
สำหรับแนวทางลดความเสี่ยงการถูกลดอันดับเครดิตเรตติงของประเทศนั้น SCB EIC เสนอ 4 ด้าน ได้แก่
1. จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่านการจัดสรรงบประมาณให้คุ้มค่า ลดรายจ่ายไม่จำเป็น และปฏิรูปภาษีในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดูแลให้หนี้สาธารณะยั่งยืนขึ้น
2. มีกลไกติดตามความยั่งยืนทางการคลัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เช่น ความเข้มงวดต่อกฎเกณฑ์การคลัง การจัดตั้งสถาบันวิจัยการคลังที่เป็นอิสระ
3. ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ในตลาดโลก ผ่านการลดอุปสรรคทางกฎหมายและระเบียบซ้ำซ้อน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจในไทย การผลักดั สนธิสัญญาทางการค้าใหม่ ๆ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง การผลักดันการเข้าร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อขยายมูลค่าตลาดส่งออกและได้รับองค์ความรู้ในการยกระดับมูลค่าและคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการของไทยให้แข่งขันในโลกได้ดีขึ้น
4. เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น ได้แก่ ความทั่วถึงเท่าเทียม (Inclusiveness) ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม (Sustainability) นวัตกรรม (Innovation) และความล้มยากลุกเร็ว (Resiliency) ซึ่งนอกจากจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับมือบริบทโลกและมีส่วนช่วยยกระดับคะแนนด้าน ESG ของไทยแล้ว ยังจะส่งผลกลับมาช่วยให้ตัวเลขการเติบโตเชิงปริมาณของเศรษฐกิจหรือ “GDP” สูงขึ้นอีกทาง นับเป็นปัจจัยบวกต่อการพิจารณาอันดับและมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะข้างหน้า
ข่าวแนะนำ