TNN ตะวันออกกลางขัดแย้งส่อลาม ดันน้ำมันพุ่ง

TNN

Wealth

ตะวันออกกลางขัดแย้งส่อลาม ดันน้ำมันพุ่ง

ตะวันออกกลางขัดแย้งส่อลาม ดันน้ำมันพุ่ง

เพิ่งครบ 1 ปี เหตุสู้รบระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส แต่สถานการณ์กลับส่อแววลุกลามหลัง “อิหร่าน” เข้าร่วมวงด้วย ไฟขัดแย้งที่โหมแรงในภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของโลกส่อผลักราคาพุ่งทะยาน ขณะที่คู่ขัดแย้ง “อิหร่าน-อิสราเอล” มีต้นทุนเศรษฐกิจที่ต้องแลกหากยกระดับไปสู่สงคราม


ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม โดย ณ วันที่ 8 ตุลาคม ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ตลาดลอนดอนเคลื่อนไหวแถว 79.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสตลาดสหรัฐฯ อยู่แถว 76.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการขยับขึ้นต่อเนื่องหลังความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางคุกรุ่นขึ้นจากการปะทะกันระหว่าง “อิหร่าน” กับ “อิสราเอล” ปลุกความกังวลว่าอาจจะบานปลายสู่สงครามเต็มรูปแบบในภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของโลก


สถานการณ์ขัดแย้งรอบล่าสุดร้อนระอุขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม หลัง “อิหร่าน” ยิงขีปนาวุธราว 180 ลูกไปยัง “อิสราเอล” เพื่อตอบโต้การสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นการโจมตีโดยตรงจากฝั่งอิหร่านเป็นครั้งที่ 2 นับจากเดือนเมษายน ที่เกิดเหตุโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย จนทำให้เจ้าหน้าที่การทูตเสียชีวิต // ขณะที่ “อิสราเอล” ประกาศจะเอาคืน รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะพุ่งเป้าโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันของอิหร่านด้วย


ถึงแม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันยังไม่ได้ขยับขึ้นหวือหวา โดยเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แตกต่างจากช่วงแรกของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ราคาขยับขึ้นรวดเร็ว จนแตะ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะเป็นเพราะปัจจุบันมีตัวแปรอื่น ๆ อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันล้นตลาด ท่ามกลางการบริโภคน้ำมันในจีนที่ชะลอตัว และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังไม่มีหลักฐานของการหยุดชะงักด้านการผลิต // แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเตือนว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรอบใหม่มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อตลาดน้ำมัน และดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้ว


ความตึงเครียดในตะวันออกกลางมาถึงขอบเหวของวิกฤต หลังจากครบรอบ 1 ปี การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2566 ซึ่งล่าสุดความขัดแย้งยกระดับขึ้นมาสู่ระดับ 3 จากระดับ 1 ความขัดแย้งจำกัดวงเฉพาะอิสราเอลกับฮามาส // ระดับ 2 ความขัดแย้งขยายไปยังกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ที่อยู่คนละข้างกับอิสราเอล // และระดับ 3 “อิหร่าน” เข้ามามีส่วนร่วม


“เคลียร์วิว เอเนอร์ยี พาร์ตเนอร์ส” ประเมินว่า หากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตน้ำมันของอิหร่าน ราคาน้ำมันอาจจะขยับจากระดับกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปสู่ 86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ถ้าสถานการณ์นำไปสู่การหยุดชะงักด้านการขนส่งบริเวณช่องแคบฮอร์มุซอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


ด้านธนาคาร SEB ของสวีเดน เตือนว่า ราคาน้ำมันดิบสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจพุ่งขึ้นสูงกว่า 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือราวร้อยละ 161 หากเกิดสถานการณ์เลวร้าย


“โกลด์แมน แซคส์” คาดการณ์ว่า หากโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันของอิหร่านถูกโจมตีจนทำให้ปริมาณน้ำมันลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือหายไปราว 1 ใน 4 จะทำให้ราคาขยับขึ้นสูงสุด 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปีหน้า 


“S&P โกบอล คอมโมดิตีส์ อินไซต์” ระบุว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยกระดับสู่ปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อสินทรัพย์ต้นน้ำด้านพลังงาน อาทิ การโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของอิหร่าน // ส่วนผลกระทบต่อสินทรัพย์กลางน้ำ รวมถึงการโจมตีท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบ หรือการที่กลุ่มฮูตีในเยเมนที่อิหร่านหนุนหลังก่อเหตุโจมตีในทะเลแดงหรืออ่าวเอเดน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงที่ดันราคาน้ำมันให้พุ่งสูง 


แม้ว่าอิหร่านจะยังอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ แต่อิหร่านยังสามารถขายน้ำมันในตลาดโลกได้ ซึ่งส่วนใหญ่ขายให้กับจีน โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การส่งออกน้ำมันของอิหร่านอยู่ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน 


อิหร่านเป็นสมาชิกโอเปก และเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดน้ำมันโลก ข้อมูลจาก S&P โกลบอล ระบุว่า ในปี 2566 อิหร่านผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยกว่า 2.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีศักยภาพในการกลั่นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของตะวันออกกลาง อยู่ที่ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน กระจายใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่อิหร่านมีปริมาณน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้ว 2.086 แสนล้านบาร์เรล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของทั้งโลก โดยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะเกาะคาร์กซึ่งเป็นที่ตั้งของคลังน้ำมันหลัก ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 90 ของการส่งออกน้ำมันทั้งหมด


ภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนระอุในตะวันออกกลางเป็นที่จับตามอง เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของประเทศผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่นี้มีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำมันทั่วโลก แต่ยังมี “ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลกตั้งอยู่ใกล้อิหร่าน ซึ่งหากถูกปิดก็จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันราว 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกในแต่ละวัน


ช่องแคบฮอร์มุซถือเป็นช่องแคบทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลก โดยมีการขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางนี้ปริมาณมากในแต่ละปี ข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านช่องแคบแห่งนี้อยู่ที่เฉลี่ย 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลกกว่า 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 1 ใน 5 ของทั้งโลกขนส่งผ่านเส้นทางนี้ 


หากเส้นทางขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซเกิดปัญหาก็จะซ้ำเติมอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งเผชิญความเสี่ยงอยู่แล้วจากการโจมตีของกลุ่มฮูตีในการเดินเรือผ่านทะเลแดงที่เชื่อมกับคลองสุเอซ ทำให้เรือบรรทุกสินค้าต้องเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งส่งผลให้ขนส่งสินค้าใช้เวลานานขึ้นและมีต้นทุนสูงขึ้น หมายความว่าสินค้าก็จะมีราคาแพงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 


“อาห์เหม็ด คายา” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งอังกฤษ ระบุว่า ความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญแรงกดดันจากผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ ประกอบกับการค้าโลกที่ลดลง ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หากเกิดสงครามในตะวันออกกลางก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เพิ่มความไม่แน่นอน กระทบการจัดการเรื่องเงินเฟ้อ และส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ทั่วโลก


ความขัดแย้งดังกล่าวสอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น โดยส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงทำให้ต้นทุนพลังงานและการขนส่งเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจทำให้เงินเฟ้อในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วสูงขึ้นร้อยละ 0.4-0.6 และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขนส่งร้อยละ 10 อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.3 // นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ต้องชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย


นอกเหนือจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว ทั้ง “อิหร่าน” และ “อิสราเอล” ก็ไม่ได้แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความขัดแย้งที่บานปลายสู่สงคราม เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีปัญหาเศรษฐกิจที่ออกอาการไม่ดีนัก // เริ่มจากฝั่ง “อิหร่าน” การส่งออกน้ำมันถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ แม้สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรกรณีนิวเคลียร์ แต่อิหร่านยังส่งออกน้ำมันไปยังต่างประเทศได้ โดยเฉพาะส่งออกไปยังจีน รัฐมนตรีพลังงานอิหร่านระบุเมื่อเดือนมีนาคมว่า ในปี 2566 การส่งออกน้ำมันสร้างรายได้เข้าประเทศราว 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีรายงานว่า รัฐบาลอิหร่านขายน้ำมันต่ำกว่าราคาตลาดโลก ร้อยละ 20 เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ผู้ซื้อต้องเผชิญจากการคว่ำบาตร หากโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำมันมีความเสี่ยงถูกโจมตี อิหร่านก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก


ขณะเดียวกัน มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกส่งผลต่อความสามารถในการทำธุรกรรมทางการเงิน ส่งผลให้เงินเรียลอิหร่านอ่อนค่าอย่างมาก ปัจจุบัน ชาวอิหร่านต้องใช้เงิน 580,000 เรียบในการแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเมื่อปี 2558 ที่อยู่ที่ 32,000 เรียล // ส่วน GDP ของอิหร่านในปี 2566 มีมูลค่า 4.03 แสนล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับอิสราเอลที่อยู่ที่ 5.09 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งที่อิหร่านมีประชากรมากกว่า 10 เท่า // ด้าน GDP ต่อคนต่อปีของอิหร่านอยู่ที่ 4,663 ดอลลาร์ เทียบกับอิสราเอลอยู่ที่ 52,219 ดอลลาร์ ตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)



ทางด้านของ “อิสราเอล” ความขัดแย้งที่ขยายวงขึ้นจะเพิ่มภาระทางการเงินของประเทศจากการสู้รบที่ยืดเยื้อ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และอิหร่านส่งผลให้อิสราเอลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1-2 หมื่นล้านเชเกล หรือราว 2.6-5.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่นับรวมความเสี่ยงในการสูญเสียรายได้


ธนาคารกลางอิสราเอลประเมินเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ภายในสิ้นปี 2568 ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสงครามอาจสูงถึง 2.5 แสนล้านเชเกล หรือราว 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการทหารและค่าใช้จ่ายของรัฐบาล รวมถึงค่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่อพยพจากภาคเหนือและภาคใต้ จำนวนนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 12 ของ GDP 


“S&P โกลบอล เรตติงส์” ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม จากระดับ A+ สู่ระดับ A เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังคงแนวโน้มความน่าเชื่อถือไว้ที่ “เชิงลบ” ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ที่ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล ขณะที่ “มูดี้ส์” (Moody’s) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง