เฟดไม่ใช่ธนาคารกลางที่มีเป้าหมายอยู่ที่เงินเฟ้อเท่านั้น แต่เฟดมีภารกิจในการรักษาการจ้างงานเช่นกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมาย 2% จึงจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ในที่สุดวันที่ทั่วโลกรอคอยก็ใกล้เข้ามาทุกที!! วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ กำลังจะเริ่มขึ้นในเร็วๆ นี้แล้วครับ
นับเป็นความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจใหญ่ของโลก เนื่องจากสหรัฐอเมริกา ถือเป็นประเทศมหาอำนาจมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่ค้าขายร่วมกันอยู่ รวมไปตลาดการเงินไม่ว่าจะเป็นค่าเงิน พันธบัตร-หุ้นกู้ ตลาดหุ้น ทองคำฯ สิ่งสำคัญของพวกเราชาวนักลงทุนสาย VI คือ จำเป็นต้องทำการบ้านประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้จับทิศทางการลงทุนพร้อมทบทวนพอร์ตดูว่ายังตอบโจทย์ไปสู่เป้าหมายในระยะยาวอยู่หรือควรจะลงทุนส่วนไหนเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อคว้าโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อให้พอร์ตเติบโตต่อเนื่องครับ
@ หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย...บอนด์ยีลด์ร่วง หุ้นสหรัฐฯ ขานรับแผ่ว ผมขอพูดถึงสถานการณ์ตลาดโลกที่เกิดขึ้นก่อนครับ ก่อนจะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในสิ้นเดือนนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ ได้ออกมาส่งสัญญาณเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ในงานสโมสรเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน ดี.ซี. (Economic Club of Washington D.C.) ว่าเฟดจะไม่รอให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย 2% จึงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เขาอธิบายเหตุผลที่เฟดจะไม่รอเงินเฟ้อลดลง 2% เพราะนโยบายการเงินทำงานมีระยะความล่าช้าในการส่งผลกระทบ กล่าวคือ ผลของการตัดสินใจนโยบายในแต่ละครั้งจะเห็นผลล่าช้าไปเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง โดยอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน เพียงพอแล้วที่จะนำเงินเฟ้อลงสู่ 2% แต่ต้องรอเวลาที่ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นตามมา
“หากคุณรอจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 2% คุณอาจรอนานเกินไป เพราะระดับความเข้มงวด (ของนโยบาย) ที่คุณกำลังทำอยู่หรือระดับความตึงตัวที่คุณใช้อยู่ จะยังคงส่งผลกระทบที่อาจผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่า 2%” พาวเวลล์ยังกล่าวว่า เขาไม่ได้ตั้งใจมาส่งสัญญาณใดๆ ว่า เฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด และกล่าวอีกว่า เฟดกำลังรอคอย‘ความเชื่อมั่นที่มากขึ้น’ ว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับลงไปอยู่ที่ระดับ 2% สิ่งที่เพิ่มความมั่นใจก็คือ ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ดียิ่งขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้รับข้อมูลบางส่วนแล้ว
พร้อมกันนี้ ประธานเฟด ยังกล่าวอีกว่า ไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรง หรือ hard landing หลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การออกมาส่งสัญญาณดังกล่าวของนายพาวเวล ตอกย้ำถ้อยแถลงที่เขาได้กล่าวในแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าว่า เฟดไม่ใช่ธนาคารกลางที่มีเป้าหมายอยู่ที่เงินเฟ้อเท่านั้น แต่เฟดมีภารกิจในการรักษาการจ้างงานเช่นกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมาย 2% จึงจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
เรามาดูมุมมองของตลาดที่คาดการณ์แนวโน้มการหั่นดอกเบี้ยในปีนี้กันครับ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 นี้ โดยจะเริ่มเดือน ก.ย. และพ.ย. จนถึง ธ.ค.นี้ ครั้งละ 0.25% ลดลงมาเหลือ 4.50%-4.75% สิ้นปีนี้ (เดิมคาดจะปรับลดเพียง 1-2 ครั้ง)
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็พร้อมกลับทิศ โดยจะเห็นดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง ส่วนประเทศหลักอย่างญี่ปุ่น ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับเงินหยวนของจีน และเงินบาทของไทย ส่วนเงินดอลลาร์ฮ่องกงสอดรับไปกับดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่บรรยากาศการลงทุนตลาดรองตราสารหนี้ (Bond Market) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีร่วงลงหลุดระดับ 4.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.174% หลังประธานเฟดกล่าวถ้อยแถลงแล้ว ในวันเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขานรับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ออกมา ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ พากันขยับขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม ประกอบกับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ปลอดภัยดีหลังถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ส่วนตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวขึ้นและลงผสมผสานกันไป โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นบวก ส่วนตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลง สถานการณ์โลกที่ยังผันผวนที่มีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า แม้สหรัฐฯ กำลังจะปรับทิศเข้าสู่โหมดวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ถามว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไปต่อได้อีกแค่ไหนนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรงอย่างต่อเนื่องครับ หลังจากปีที่แล้วได้แรงส่งหลักๆ จากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่วิ่งดักข่าวเฟดจ่อหั่นดอกเบี้ยไปล่วงหน้า และปีนี้หุ้นกลุ่มนี้ก็ยังทำผลประกอบการออกมาดีต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯวิ่งมายาวๆ ยังไม่ได้พักฐานเลยครับโดยเฉพาะหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ ใหญ่ๆ และเวลานี้ก็เป็นหุ้นเทคกลางและเล็กที่ปรับตัวขึ้นตามไปแล้ว จะว่าไปตอนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างแพงแล้วครับ ดูจาก Valuation ของดัชนี S&P 500 พบว่า ค่า P/E ปรับขึ้นมาอยู่สูงเกือบ 24 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่อยู่ 20.2 เท่า ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะไม่ใช่ภาวะถดถอยรุนแรง แต่ก็มีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวจนถึง Soft landing ได้ครับ
ล่าสุด Goldman Sachs ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 2% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะ ‘ทรงตัว’ เป็นส่วนใหญ่เนื่องจากการเติบโตของรายได้ที่ลดลงและความวิตกกังวลทางการเมืองทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้
นักวิเคราะห์ทั่วโลก ต่างคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะ sideway หรืออาจ sideway up ได้อยู่บ้าง ซึ่งช่วงนี้แนะนำให้รอดูสถานการณ์ช่วงปลายปีอีกทีครับ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
@ จับชีพจรเศรษฐกิจแดนมังกร คุมชอร์ตเซลล์สกัดตลาดทรุด…เข็น ‘หุ้นจีน-ฮ่องกง’ ไปต่อ
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สิ่งที่ผมแนะนำลูกค้าให้เลือกดูตลาดหุ้นจีนตลาดหุ้นฮ่องกงมากกว่าครับ เพราะราคายังถูกอยู่ สะท้อนจาก Valuation ของตลาดหุ้นฮ่องกง (ตลาดหลักที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนหุ้นจีน) สะท้อนจากดัชนีฮั่งเส็ง มีค่า P/E อยู่ที่ระดับ 8.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่อยู่ระดับ 10.6 เท่า
ด้านนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจีน ในไตรมาส 2 นี้ กำไรจะพลิกกลับมาเติบโต 8.2% แม้ว่าจะเพิ่งประกาศ GDP เติบโต 4.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ตลาดได้คาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนจีน ทั้งปี 2567 เติบโต 3.63% และปี 2568 เติบโต 6.49% ภายใต้ GDP ที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าเน้นเติบโตเชิงคุณภาพให้อยู่ระดับ 5%
ผมยังมองว่าราคาหุ้นจีนค่อนข้างถูกเมื่อเทียบจากภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของจีนกับสหรัฐฯ ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นจีนมีการปรับตัวขึ้นก็จริง แต่มักวิ่งไปได้ไม่ไกล ก็จะย่อตัวกลับลงมา ซึ่งก็สะท้อนปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด หลังจากที่รัฐบาลจีนได้อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่เข้าไปเมื่อต้นปีนี้ เนื่องจากจีนยังอยู่ในช่วงแก้ปัญหาวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมมานาน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาหลายปีพอสมควรกว่าจะพลิกฟื้นกลับมาได้ เพราะฉะนั้นภาพรวมของจีนยังถูกกดดันภาคการใช้จ่ายบริโภคและภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องอยู่ในภาวะอ่อนแอ จึงทำให้ GDP ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เติบโตเพียง 4.7%ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ตัวเลข GDP จีน ยังสามารถขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้
อย่างไรก็ตาม หากใครที่ต้องการลงทุนหุ้นจีน ผมบอกตรงๆ เลยว่า จะต้องถือลงทุนระยะยาว เนื่องจากจีนยังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ และระหว่างทางก็มีความเสี่ยงทั้งด้านตัวรัฐบาลจีนที่พร้อมจะออกนโยบายที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด และยังมีปมขัดแย้งยืดเยื้อกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Trade War หรือ Tech War หรือประเทศรอบข้างจีนที่เป็นคู่กรณีเก่ามาก่อน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบที่พร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้และส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างแน่นอน แต่ที่ผมแนะนำให้ถือลงทุนในระยะยาว เนื่องจากจีนเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ มุ่งสู่ New Economy ปูรากฐานตั้งแต่ต้นน้ำเซมิคอนดักเตอร์ สู่ปลายน้ำเทคโนโลยี AI ที่มีมูลค่าสูง สร้างอนาคตเติบโตในระยะยาว รัฐบาลตั้งเป้าหมายนำประเทศสู่ China Innovation และเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ครั้งที่ 3 (Third Plenum) เมื่อวันที่ 15-18 กรกฏาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะทำให้ “การพัฒนาคุณภาพสูง” กลายเป็นพลังชี้นำเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังคงสนับสนุนในการใช้การผลิตขั้นสูงเพื่อสร้างการเติบโต ภาพที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าคือ ตัวเลขการเติบโตของจีนนับจากนี้จะไม่ใช่การเติบโตในระดับสูงเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ด้วยธงของรัฐบาลจีนที่ชัดเจนว่าจะไม่เร่งปั๊ม GDP โตเชิงปริมาณ แต่เน้นเชิงคุณภาพ ซึ่งเมื่อภาพเศรษฐกิจที่ออกมาในไตรมาส 2 ยังอ่อนแอ แม้นโยบายต่างๆ จากรัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายลงแล้วก็ตาม ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนถูกนักลงทุนต่างชาติเทขายหนักในเดือนมิถุนายนที่ผานมาถึง
2.38 แสนล้านบาท หลังจากที่ได้ซื้อสุทธิมาต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกันเมื่อช่วงต้นปีนี้ การไหลออกของเงินทุนส่งผลให้ดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีน ณ 27 มิถุนายน ได้ปรับตัวลงไปมากกว่า 6% นับจากจุดสูงสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการปรับตัวลดลงของดัชนี MSCI ของประเทศจีน
นี่ถือเป็นการกลับทิศของตลาดหุ้นจีนครั้งแรกของปีจากในช่วงต้นปีที่นักลงทุนคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยยาแรงท่ามกลางสภาพตลาดหุ้นจีนที่เปราะบาง ทางการจีนจึงได้ออกมาตรการเชิงรุก คือ การควบคุมการขายชอร์ตหุ้น (Short-Sell) และกลยุทธ์การซื้อขายหุ้นโดยใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Trading Strategy) โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการร่วงลงของตลาดหุ้นในประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีน (CSRC) ได้อนุมัติการเพิ่มข้อกำหนดการวางเงินประกันสำหรับการขายชอร์ตหุ้น เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา มาตรการคุมการชอร์ตเซลล์ของจีน จะส่งผลให้บรรดาเฮดจ์ฟันด์และนักลงทุนทั่วไป มีต้นทุนการขายชอร์ตที่แพงขึ้น ทำเอาบริษัทไชน่า ซิเคียวริตีส์ ไฟแนนซ์ คอร์ป (China Securities Finance Corp) ผู้ให้บริการเงินกู้เพื่อการซื้อขายหุ้นรายใหญ่ที่สุดของจีน ประกาศจะระงับธุรกิจการปล่อยกู้เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับบริษัทโบรกเกอร์ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ CSRC ประกาศมาตรการดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากดัชนี CSI 300 ตลาดหุ้นจีนร่วงลงติดต่อกัน 7 วันทำการ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าทางการจีนต้องการที่จะยับยั้งการทรุดตัวของตลาดหุ้น โดยมูลค่าตลาดหุ้น on shore ของจีนหายไปราว 1 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.ปีนี้ มุมมองส่วนตัวของผม เห็นว่า หุ้นจีนเริ่มมี downside จำกัด ซึ่งทั้ง เจพีมอร์แกน และ ยูบีเอส กรุ้ป ก็ให้มุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง โดยคาดว่าผลประกอบการที่แข็งแกร่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดหุ้นจีน ซึ่งยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนหุ้นจีน
@ติดปีกพอร์ตโตด้วยสูตรลงทุนทีเด็ด -เฟ้นหุ้น Defensive อึดทนทุกสภาวะ หากคุณต้องการลงทุนหุ้นจีนเพิ่มความปลอดภัยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน ต่างๆ ผมแนะนำให้เลือกหุ้น Defensive เพราะเป็นหุ้นที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาดทั้งขาขึ้นและขาลง
ถือว่ามีพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำและจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่อาจเป็นหุ้นที่มีกำไรเติบโตไม่หวือหวา สรุปเป็นหุ้นที่ปันผลสม่ำเสมอ อึด ทนทุกสภาวะ ซึ่งสามารถเข้าไปเลือกหุ้นดีราคาถูกเหล่านี้ได้ใน Jitta.com อีกครับ ช่วงนี้ตลาดหุ้นจีนย่อตัวลงมา น้ำขึ้นให้รีบตักถือเป็นโอกาสเข้าลงทุนถือเก็บระยะยาว คุณใช้กลยุทธ์ลงทุนง่ายๆ รับรองพอร์ตไปต่อได้สวยๆ ครับ
สูตรจัดพอร์ต Core & Satellite ซึ่งเป็นสองส่วนที่ช่วยให้คุณกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Asset Allocation) และฝ่าความผันผวนได้ระหว่างทาง เหมาะสำหรับคนที่ลงทุนระยะยาว แม้แต่คุณปู่ Warren Buffett ไอดอลสาย VI ระดับโลก ก็มีการจัดพอร์ต Core & Satellite
เหมือนกันครับ หลักๆ ของพอร์ต Core คือ เน้นลงทุนปลอดภัย เพราะฉะนั้นคุณต้องกระจายการลงทุน ถ้าหุ้นเลือกหุ้น defensive ทนทานทุกสภาวะ ผลตอบแทนค่อนข้างดี มีความผันผวนต่ำหรือเสี่ยงต่ำ และอาจใส่พันธบัตร เป็นต้น
ส่วนพอร์ต Satellite คือ มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนสูงๆหรือ High Growth ซึ่งก็ต้องแลกกับความเสี่ยงสูงตามมาด้วย เพราะฉะนั้นคุณต้องเลือกหุ้นคุณภาพและราคาลงทุนที่ค่อนข้างถูกๆ เช่น พอร์ตหุ้นจีน ฮ่องกง เวียดนาม กลุ่มเทคโนโลยี หรือกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปกติจะจัดสัดส่วนเป็นพอร์ต Core 80% ของพอร์ตรวม และพอร์ต Satellite อีก 20% เรียกว่าเป็นสัดส่วนมาตรฐานของพอร์ต Core Satellite ที่ใช้กันทั่วโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สัดส่วนการลงทุนก็สามารถปรับเปลี่ยนตามเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคน ใน ‘การลงทุน’ ด้วยการจัดพอร์ต Core Satellite ที่นอกจากการกระจายความเสี่ยงในประเภทของสินทรัพย์ ที่จะช่วยให้พอร์ตของคุณ ‘มั่นคง’ มากขึ้น และช่วยให้ผันผวนน้อยลงแล้ว ยังมี‘ยันต์ DCA’ หรือการลงทุนถัวเฉลี่ย ที่จะช่วยคุณสามารถสร้าง ‘พอร์ตแกร่ง’ เติบโตได้มากขึ้น แบบไม่ต้อง ‘คาดเดา’หรือพยายามที่จะจับจังหวะครับ
เพราะโดยปกติมนุษย์มักใช้อารมณ์ประกอบการตัดสินใจด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งบางคนก็จะมีความลังเลไม่มั่นใจ อย่างเช่น วันนี้เราจะลงทุนได้หรือยัง พรุ่งนี้หุ้นจะลงอีกมั้ย หรือราคานี้เข้าได้หรือยัง แล้วพอเห็นหุ้นขึ้นก็มานั่งพูด ‘รู้งี้…’ เสียดายทีหลัง
ผมแนะนำให้เลิก ‘คาดเดา’ จังหวะลงทุนไปเลยครับเพราะถ้ามัวแต่คาดเดาจังหวะลงทุน คุณจะพลาดโอกาสดีๆ ครับ การลงทุนด้วย DCA ถือเป็นวิธีการลงทุนสุดเบสิก เพราะการทยอยลงทุนเป็นงวดๆเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน ช่วยตัดอารมณ์ ลดอคติ และไม่ต้องจับจังหวะ ฝึกวินัย
กระจายความเสี่ยงด้านราคาไปในตัวการลงทุนอย่างสม่ำเสมอหรือ DCA ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่กระจายความเสี่ยงด้วยที่สำคัญ! การ ‘DCA’ จะช่วยให้คุณสะสมเงินต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่จะช่วยให้คุณคว้าทุกโอกาสดีๆ ที่เข้ามาและเป็นตัวเร่งให้พอร์ตของคุณเข้าถึงเส้นชัยได้ไวกว่าที่คิดครับ
ขอให้พอร์ตของคุณเติบโตยาวๆไปด้วยกันครับ
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth