TNN คาดเฟดตรึงดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ฉุดทองลงต่อ

TNN

Wealth

คาดเฟดตรึงดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ฉุดทองลงต่อ

คาดเฟดตรึงดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ฉุดทองลงต่อ

ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลงไปสู่ระดับ 2,250 ดอลลาร์ในระยะแรก หากหลุดแนวรับดังกล่าวมีโอกาสลงสู่แนวรับ 2,220 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 2,330 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,350 ดอลลาร์

สัปดาห์ก่อนราคาทองคำมีความผันผวนมาก ช่วงต้นสัปดาห์ทองคำมีแรงขายสลับแรงซื้อเข้ามา ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นแรงในช่วงกลางสัปดาห์ ภายหลังที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐหลายตัวอ่อนแอลง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และ bond yield สหรัฐปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาทองคำดีดตัวแรงในช่วงเช้า ก่อนที่จะเกิดแรงเทขายออกมาแรง ภายหลังที่มีข่าวเกี่ยวกับธนาคารประชาชนจีนได้ระงับการซื้อขายทองคำเข้าสู่กองทุนสำรองในเดือนพ.ค. หลังจากที่ได้ซื้อติดต่อกันเป็นเวลา 18 เดือน ทำให้ตลาดมีความตระหนกและตอบรับข่าวการหยุดซื้อทองคำจากธนาคารประชาชนจีน  ซึ่งนับว่าจีนเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่อันดับต้น ๆ ขณะที่ในช่วงกลางคืนสหรัฐได้เปิดเผยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. ซึ่งออกมาสูงกว่าตลาดคาดมาก และสูงกว่าตัวเลขครั้งก่อน ยิ่งสนับสนุนปัจจัยให้เฟดตรึงดอกเบี้ยนานขึ้น จึงส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่ามาก กดดันราคาทองคำลงแรงหลุดแนวรับจิตวิทยา 2,300 ดอลลาร์ ส่งผลให้ทิศทางราคาทองคำในทางเทคนิคมีทิศทางขาลงอย่างชัดเจน 


ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารประชาชนจีนได้มีการเข้าซื้อทองคำนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 โดยธนาคารประชาชนจีนเดินหน้าเข้าซื้อทองคำเป็นทุนสำรอง นับว่าเป็นรายใหญ่อันดับต้น ๆ ในปี 2565-2567 โดยในปีนี้ธนาคารประชาชนจีนยังถือว่าเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่อันดับที่ 2 รองจากธนาคารกลางตุรกี ขณะที่เริ่มมีสัญญาณการซื้อทองคำของธนาคารประชาชนจีนชะลอตัวลงในเดือนเม.ย. โดยธนาคารประชาชนจีนรายงานว่าการซื้อทองคำชะลอตัวลงอย่างมาก โดยทองคำสำรองเพิ่มขึ้นเพียง 2 ตันในเดือนเม.ย. ซี่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายดือนต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลับมารายงานอีกครั้งในเดือนพ.ย 2565 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือน ขณะที่ในเดือนพ.ค.นั้นจีนได้ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนเม.ย. แม้ว่าธนาคารประชาชนจีนจะไม่ได้เข้าซื้อทองคำ แต่ธนาคารประชาชนจีนก็ไม่ได้ขายทองคำออกมา คาดว่าอีกหนึ่งสาเหตุที่ธนาคารประชาชนจีนที่เริ่มชะลอการเข้าซื้อทองคำนับตั้งแต่เดือนเม.ย.นั้น เนื่องจากราคาทองคำดีดขึ้นแรงสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) นั่นเอง


จับตาการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย. ทางกลุ่มฮั่วเซ่งเฮงยังคงคาดการณ์เหมือนเดิมว่าเฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ระดับ 5.25-5.50%   และคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้ง แต่สิ่งที่ต้องติดตามที่สำคัญคือ Dot plot ของเฟดว่าเฟดจะมีมุมมองเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ จากเดิมที่เฟดเคยส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้ง แต่ตลาดก็ได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองการคาดการณ์ตลอดเวลา จนสร้างความผันผวนต่อราคาทองคำเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การตรึงดอกเบี้ยของเฟด การส่งสัญญาณของเฟด และ Dot plot ของเฟด คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่เปลี่ยนแปลงไป ท่าทีของเฟดคาดว่าน่าจะยังไม่เร่งการปรับลดดอกเบี้ย และมุมมองต่อจำนวนครั้งในการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้อาจลดลงจากครั้งก่อน ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำให้ปรับตัวลงได้ต่อ

 

เกิดแท่งเทียนสีแดงเต็มแท่งลากยาวลงมาแรง และปิดตลาดต่ำกว่าแนวรับจิตวิทยาที่ 2,300 ดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้มีแรงขายอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวลงมาอยู่บริเวณฐานของรูปแบบ Double Top ทำให้สัญญาณทางเทคนิคกลับทิศทางเป็นขาลงอย่างชัดเจนขึ้น 


ทั้งนี้คาดว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลงไปสู่ระดับ 2,250 ดอลลาร์ในระยะแรก หากหลุดแนวรับดังกล่าวมีโอกาสลงสู่แนวรับ 2,220 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 2,330 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,350 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 39,400 บาท และ 39,100 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 40,550 บาท และ 40,700 บาท

คาดเฟดตรึงดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ฉุดทองลงต่อ

 

Gold Bullish 

    ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฮามาส

    ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง

    ความต้องการทองจากกระแส De-Dollarization

 

Gold Bearish 

    เงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย

    ตลาดคาดว่าเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงนานขึ้น

 

ธนรัชต์ พสวงศ์ 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง


#ราคาทองคำ #สหรัฐ #Governmentshutdown #สภาคองเกรส #ประธานาธิบดีโจไบเดน #อัตราดอกเบี้ย #เงินดอลลาร์สหรัฐ #อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่ง #spot #spdr #ค่าเงินบาท #ธนรัชต์พสวงศ์ #กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง #เงินดอลลาร์ #Bondyield #รีบาวด์ทางเทคนิค #การโจมตี #สงครามอิสราเอลฮามาส #กรุงเยรูซาเล็ม #ข้อพิพาท #สงคราม6วัน #FOMC #ธนาคารกลางสหรัฐ 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวแนะนำ