"ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม"ซีอีโอป้ายแดง SCG โชว์วิชั่น Inclusive Green Growth .
"ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม"ซีอีโอป้ายแดง SCG โชว์วิชั่น Inclusive Green Growth .
เอสซีจี องค์กรระดับ 100 ปี ที่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ซีอีโอ ป้ายแดง "ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ได้ประกาศวิชั่น หรือที่เจ้าตัวเรียกว่า Purpose ของการทำงาน ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้เอสซีจี อยู่ต่อไปอีก 50-100 ปี
“ธรรมศักดิ์” กล่าวว่า ก้าวต่อไปของเอสซีจี จะเดินหน้าด้วย Inclusive Green Growth ที่มี 4 แนวทางหลัก “Agile Organization - Green Innovation - องค์กรแห่งโอกาส - ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย โดยไม่ลืมที่จะจูงมือพาร์ทเนอร์และชุมชนรอบข้างเดินไปด้วยกัน
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ ยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤตโลกเดือด เชื่อว่าจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งสถานการณ์โลกและเศรษฐกิจสูง เพราะฉะนั้น เอสซีจีต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือถสานการณ์ดังกล่าว โดยไม่วางเป้าหมายเพียงแค่ 3-5 ปี แต่เป็นเป้าหมายระยะยาว ที่ต้องสร้างให้เอสซีจีเติบโตได้อย่างยั่งยืนไปอีก 50-100 ปี ด้วยการมุ่งเน้นที่การลดคาร์บอน และการเพิ่มยอดขายนวัตกรรมสีเขียว ที่ปัจจุบันทำได้ประมาณ 54% เพิ่มขึ้นเป็น 67% ในปี พ.ศ.2573
”เอสซีจีต้องปรับตัวด้วยการสร้างฐานระยะยาว พร้อมทั้งลดการปล่อยคาร์บอน โดยธุรกิจยังต้องมีกำไร ถ้าเราสามารถทำโปรดักส์ และสร้างโพรเซสที่ลดคาร์บอนแล้วมีกำไรได้ บริษัทก็จะมีการเติบโต“
"ธรรมศักดิ์" กล่าวว่า แม้เอสซีจีจะมีซัคเซสชั่นแพลน แต่ในวิธีการบริหารของเขา ยังต้องมีเป้าความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเป้าระยะ 30-60-90 วัน โดยทุกธุรกิจที่เอสซีจีบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็น ซีเมนต์ แพคเกจจิ้ง เคมิคัล หรือธุรกิจใหม่อย่างกรีนเอ็นเนอร์จี้ และโลจิสติกส์ จะต้องโตไปแบบ Inclusive Green Growth ทั้งซัพพลายเชน และคอมมูนิตี้ของเอสซีจีต้องก้าวเดินไปด้วยกัน
สำหรับเส้นทางการเดินหน้าไปสู่ Inclusive Green Growth เอสซีจีขับเคลื่อนผ่าน 4 แกนหลัก คือ 1) องค์กรคล่องตัว(Agile Organization) 2) นวัตกรรมกรีน (Green Innovations) 3) องค์กรแห่งโอกาส (Organization of Possibilities) และ 4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society)
การเลือกที่จะทำ Inclusive Green Growth "ธรรมศักดิ์" กล่าวว่า ต้องใช้จุดแข็งของในแต่ละธุรกิจ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีและกรีนอินโนเวชั่น (Green Innovations) ขณะเดียวกันก็ต้องทำโครงสร้างให้มีความคล่องตัว (Agile Organization) เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมาย อย่าธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ Green Growth ได้ง่ายที่สุด และมีความครบวงจร ทั้งการผลิต การปลูกป่ายูคาลิปตัส ที่สามารถดูดซับคาร์บอน ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริม การรีไซเคิลของเก่า ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้ จะนำมาพัฒนาใช้กับกลุ่มพลาสติกต่อไป
ส่วนกรีน เอ็นเนอร์จี้ เป็นอีกธุรกิจที่มีโอกาสในตลาดอีกมาก ด้วยเป้าหมายสู่ Net Zero ซึ่งตอนนี้ในไทยยังใช้พลังงานสะอาดได้ไม่ถีง 20% ผู้บริหารเอสซีจี มองว่า การที่จะทำให้ไทยไปสู่เป้าหมายได้ ต้องมี Smart Grid และ Energy Storage ซึ่งขณะนี้ เอสซีจีลงทุน Heat Battery แล้วที่ Rondo วึ่งเป็นนวัตกรรมที่ก้าวกระโดดการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเอสซีจีจะเปิดโรงงานแบตเตอรี่ Heat Battery ในไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากทั้งในไทยและต่างประเทศ
รวมไปถึงธุรกิจ Low-Carbon Cement ซึ่งได้รับความสนใจจากสหรัฐอเมริกา และมีการสั่งซื้อไปใช้เรียบร้อย แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตลาด และยังมีความต้องการในตลาดอีกมาก เอสซีจีจึงมีแผนจะเปิดตัว Low-Carbon Cement เจเนอเรชั่น 2 ในปีนี้ และอีก 3 ปี ออกเจเนอเรชั่น 3 ต่อไป
สิ่งที่ "ธรรมศักดิ์" ย้ำและต้องการพัฒนาองค์กรต่อไป คือ การทำให้เอสซีจี กรุ๊ป กำลังสร้างองค์กรที่มีความคล่องแคล้ว สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เร็ว ธุรกิจไหนพร้อมสามารถ Spin Off ออกไปได้ โดยต้องทำเรื่อง ESG และ Net Zero ควบคู่ไปด้วย รวมทั้งต้องมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 2-3 ปี ส่วนธุรกิจที่ยังไม่พร้อม อย่างธุรกิจเคมิคัล บริษัทแม่จะทำหน้าที่ประคับประคอง และเสริมความแกร่งให้ จนกว่าจะสามารถเติบโตแข็งแกร่งได้ด้วยตัวเอง
ส่วนบริษัทแม่ ยังมีหน้าที่สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่ง "ธรรมศักดิ์" บอกว่า ในยุคของเขา องค์กรนอกจากจะสร้างและพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง ผ่านโครงการ Zero To One ซึ่งเป็นการบ่มเพาะและให้โอกาสทั้งคนในองค์กร และนอกองค์กรที่มีศักยภาพ มีโปรเจคที่คิดว่าทำได้ให้ประสบความสำเร็จ เอสซีจีก็พร้อมเป็นองค์กรแห่งโอกาส (Organization of Possibilities) สนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ เช่น ‘Dezpax.com’ แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ฟู้ดเดลิเวอรี่ และคาเฟ่ ในการสร้างแพคเกจจิ้งเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในจำนวนน้อย ในราคาเหมาะสมกับ SMEs หรือ ‘Urbanice’ แพลตฟอร์มสื่อสาร บริหารจัดการ สำหรับชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียมและหมู่บ้าน เพื่อการอยู่อาศัยแบบสมาร์ท สะดวก และมีความสุข รวมทั้ง ‘NocNoc’ ที่เกิดจากนักลงทุนภายนอกเอสซีจี เป้นแพลทฟอร์มออนไลน์์ศูนย์รวมสินค้าและบริการเรื่องบ้าน ที่กำลังขยายธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียน
นอกจากนี้ เอสซีจียังมองหาสตาร์ทอัพหรือผู้มีความพร้อมเข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น Avantium ซึ่งเป็น deep tech อยู่ที่บอสตัน ทำคาร์บอนมาเป็นโพลีเมอร์เป็นพลาสติก แทนการนำคาร์บอนอัดลงหลุมก๊าซ ที่ใช้พลังงานมากกกว่า
เป้าหมายของผู้บริหารคนนี้ คือ “ผมต้องการได้เทคโนโลยีที่ใช้โดยเร็ว และต้นทุนถูกสุด” โดยต้องมองหาจุดแข็งธุรกิจมาสร้างและต่อยอด เช่นเดียวกับเมืองไทย ที่เป็นเมืองเกษตรกรรม แต่ความต้องการในตลาดของน้ำตาลลดลง มีคู่แข่งมากขึ้น การผลิตเอทานอลจากอ้อยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการผลิตจากมันสำปะหลัง เพราะฉะนั้น การสร้างโอกาสใหม่ ด้วยการนำน้ำตาลมาทำเป็นไบโอพลัส ทำพลาสติกจากน้ำตาล ก็จะยังทำให้เกษตรกรมีรายได้ ผลผลิตมีช่องทางไป
เอสซีจี ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุน (Joint venture) กับกลุ่มบริษัท Braskem (บราสเคม) ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลก จากประเทศบราซิล จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิส
เหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งกลวิธี ที่เอสซีจี สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society) สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ต่อเนื่อง นั่นคือสิ่งที่ "ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี วางเป้าหมายกำหนดทิศทางให้กับกลุ่มเอสซีจีเดินหน้าต่อ และพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก
ข่าวแนะนำ