“มณีสุดา ศิลาอ่อน”เปิดคัมภีร์ “เอส แอนด์ พี” ก้าวผ่านสู่องค์กรยั่งยืน
“มณีสุดา ศิลาอ่อน”เปิดคัมภีร์ “เอส แอนด์ พี” ก้าวผ่านสู่องค์กรยั่งยืน
กฎกติกาโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและรูปแบบการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP ธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ เอสแอนด์พี ที่อยู่มากว่า 50 ปี ก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนตาม กติกาโลกเช่นกัน
“มณีสุดา ศิลาอ่อน” ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2561 เอสแอนด์พีเริ่มวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และการกำกับกิจการที่ดี เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และยังได้ก่อตั้งสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เพื่อขับเคลื่อนเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) โดยเฉพาะ
จริงๆ เอส แอนด์ พี เริ่มต้นทำธุรกิจยั่งยืนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ด้วยการติดตั้งระบบ Solar Roof บนอาคารโรงงาน และยังมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งที่เป็นพลาสติกในร้านทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และหากรวมการลงทุนการเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดบริษัทไม่อนุมัติแน่นอน
“การขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจ จำเป็นต้องใช้เงิน แต่เราสามารถเริ่มก่อนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะถ้าได้ทำก็เท่ากับเริ่มต้น ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ว่าจะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไร หากมาคำนวณ Payback Period ตั้งแต่ต้นมันไม่คุ้ม”
“มณีสุดา” เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนมุมมอง เริ่มจากสิ่งที่ใช้เงินน้อย เริ่มปรับทีละนิด จากการปรับพฤติกรรมคนในองค์กร เริ่มจากการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงาน โดยทำมาแล้ว 3 รุ่น
หลังจากนั้น จึงเริ่มปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า สู่วัสดุรีไซเคิล ซึ่งหมายรวมถึงพลาสติกที่เริ่มจากการลดความหนาของพลาสติกลง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วทั้งหมด 94% พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การบรรจุสินค้าใส่รถ การกำหนดเส้นทางการเดินรถ เพื่อให้ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายให้คุ้มค่ามากที่สุด ขณะเดียวกัน ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานด้าน Supply Chain ให้ดียิ่งขึ้น
“มณีสุดา” กล่าวว่า หลังจากปรับปรุงทำให้สามารถลดค่าน้ำมันลงได้ถึง 9 ล้านบาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังนำรถไฟฟ้า S&P EV Truck ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้แล้ว 1 คัน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2567 ยังตั้งเป้าเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาด อีก 4 คัน ครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก
ส่วนการติดโซล่าเซลล์ ขณะที่ติดไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่ บางพลี โรงงานผลิตเบเกอรี่ จ.ลำพูน และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า S&P (S&P Smart Distribution Center) ที่ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท โดยเบื้องต้นใช้เงินจาก Green Loan ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย
“มณีสุดา” เดินหน้าลงมือทำทีละเล็กละน้อย จนต่อยอดมาถึง การนำเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติมาปรับใช้ 7 ข้อ ได้แก่ 1. เป้าหมายที่ 2 Zero Hunger: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 2. เป้าหมายที่ 3 Good Health and Well-Being: สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย 3. เป้าหมายที่ 4 Quality Education: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
4. เป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth: ส่งเสริมการติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน 5. เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
6. เป้าหมายที่ 13 Climate Action: ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ และ 7. เป้าหมายที่ 17 Partnerships for the Goals: ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
"มณีสุดา" กล่าวว่า หากจะทำเรื่องความยั่งยืน ต้องทำอะไรให้เข้ากับธุรกิจ และอยู่ในต้นทุนที่รับได้ ตอบโจทย์ 3P อย่าทำจนกระทบธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมลงทุน ซึ่งอนาคตอาจจะต้องขยับมาเป็นกฏหมาย การสร้างมาตรฐานไว้ก่อน จะทำให้เห็นผล และเกิดการยอมรับจากบอร์ดบริหาร ช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ถ้ารอให้เป็นภาคบังคับ อาจจะใช้เงินลงทุนที่มากขึ้นกว่านี้
“การทำต้องดูว่าธุรกิจทำอะไร และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้รักษ์โลกได้อย่างไร และเริ่มจากสิ่งที่ใช้เงินน้อยก่อน จนเมื่อเริ่มมีรีวอร์ด บอร์ดจะเริ่มเข้าใจมากขึ้น เพราะเราเริ่มมาแบบนี้ แต่ต้องไม่ย่อท้อ”
“มณีสุดา” กล่าวแนะนำ สำหรับธุรกิจที่ต้องการปรับเปลี่ยนสู่การดำเนินงานที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกกำลังขยับไป และจะเป็นภาคบังคับของกาาทำธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน
ข่าวแนะนำ