TNN @ส่องโอกาสลงทุนหุ้นญี่ปุ่นรับปีมังกร หาก BOJ ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

TNN

Wealth

@ส่องโอกาสลงทุนหุ้นญี่ปุ่นรับปีมังกร หาก BOJ ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

@ส่องโอกาสลงทุนหุ้นญี่ปุ่นรับปีมังกร หาก BOJ ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตอย่างไรบ้าง และเราจะคว้าโอกาสลงทุนในระยะยาวได้อย่างไร

สุดปังจริงๆ!! ประเทศที่ท่องเที่ยวมาแรงเกินต้านในเวลานี้ ยังคงต้องยกให้กับ 'ญี่ปุ่น' ร้อนแรงถึงขนาดมีข่าวว่า ค่าที่พักโรงแรมพุ่งขึ้นรวดเร็วทั่วเมือง จากที่นักท่องเที่ยวแห่แหนกันเข้าเที่ยวเมืองใหญ่ๆ จนล้นทะลักเมืองแล้ว 

จริงๆ ชาวโลกหลั่งไหลเข้าเที่ยวญี่ปุ่นกันไม่ขาดสายตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศหลังวิกฤตโควิดในช่วงปลายปี 2565 พร้อมเปิดฟรีวีซ่าด้วยทำให้นักท่องเที่ยวเข้าญี่ปุ่นกลับมามีจำนวนมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว

ยิ่งค่าเงินเยนอ่อนตัวแรงยิ่งดึงดูดผู้คนหลั่งไหลเข้าญี่ปุ่นไม่ขาดสาย ไม่เพียงแต่เที่ยวในเมืองเดิมซ้ำๆ เท่านั้น เพราะพวกเขาเริ่มไปเยือนจุดหมายปลายทางอื่นๆ ของญี่ปุ่นมากขึ้น คาดการณ์กันว่า ปี 2567 ยังเป็นปีทองของการเที่ยวญี่ปุ่นอยู่ แน่นอนว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวย่อมต้องพลิกฟื้นเติบโตได้ดีตามภาคท่องเที่ยวที่บูมสนั่น


แล้วปีหน้า 2567 ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนได้หรือไม่ หลังจากที่เมื่อต้นปี 2566 ทุกคนคงจำกันได้ว่านักลงทุนระดับโลกอย่าง Warren Buffett ได้ใส่เงินลงทุนเพิ่มในหุ้นญี่ปุ่น เป็นการจุดพลุตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้เป็น "ขุมทรัพย์" ที่น่าลงทุนขึ้นมาทันใด เหล่าบรรดานักลงทุนต่างชาติเบนเข็มใส่เงินลงในตลาดหุ้นญี่ปุ่นตามกันแทบไม่ทัน


ผมเลยชวนมาส่องประเทศญี่ปุ่นกันครับว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตอย่างไรบ้าง และเราจะคว้าโอกาสลงทุนในระยะยาวได้อย่างไร


@ โลกจับตา ปี 2567 จุดเปลี่ยนนโยบายการเงินตึงตัวของญี่ปุ่น
กระแสหลักที่ทั่วโลกจับตาจุดเปลี่ยนของญี่ปุ่นในปี 2567 คือ การดำเนินนโยบายการเงิน ที่คาดว่าจะตึงตัว หลังจากที่ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น เป็นทิศทางที่สวนกระแสโลก หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก หลังคาดแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวสู่กรอบเป้าหมาย 2% โดยจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งรวม 0.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.25%-5.50% หลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาติดต่อกันกว่า 1 ปีที่ผ่านมา


ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2566 (19 ธ.ค.) โดยมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ -0.1% และยังคงให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวที่ระดับ 0% ซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) จากการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมาโดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และให้ระดับดังกล่าวเป็นระดับอ้างอิงหรือ เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นได้อีกและเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามที่ประชุม BOJ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่าฟื้นตัวเล็กน้อย ขณะที่การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนยังคงปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย และยังระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจญี่ปุ่น BOJ ระบุคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวเหนือระดับ 2% ตลอดปีงบประมาณ 2567


ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในนโยบายของ BOJ ทั้งการยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบภายในกลางปี 2567 และการปรับเปลี่ยนการควบคุมอัตราผลตอบแทน เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อยาวนาน ตลาดติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ถือเป็นภารกิจที่ยากลำบากของ BOJ ในการนำพาญี่ปุ่นออกจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเป็นพิเศษ เพื่อกลับสู่เส้นทางการ normalize นโยบายการเงิน โดยที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในตลาด หรือขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอันเปราะบาง


ทั้งนี้ ปี 2566 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความเปราะบาง สะท้อนจากข้อมูลรายไตรมาส ล่าสุด ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2566 กลับมาหดตัวลง 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอเกินคาด จากราคาสินค้าที่แพงขึ้นการลงทุนของภาคธุรกิจชะลอ และส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งต่างกับไตรมาส 2/2566 GDP โตถึง 6% นับเป็นการเติบโตติดต่อกัน 3 ไตรมาส และเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกเติบโตดีโดยเฉพาะส่งออกรถยนต์และที่สำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการใช้จ่ายที่เข้ามาช่วยชดเชยการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ฝั่งการนำเข้าลดลง ทำให้การส่งออกสุทธิยังคงเติบโต จะเห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวดีในครึ่งปีแรก แต่ครึ่งหลังของปี 2566 กลับมาอ่อนแอ แม้ว่าภาคท่องเที่ยวของญี่ปุ่นยังแข็งแกร่ง


โดยในเดือนตุลาคม 2566 ญี่ปุ่นได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.52 ล้านคน สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว แม้ว่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีนยังกลับไปเที่ยวน้อยอยู่ก็ตาม และทำให้ญี่ปุ่นสามารถเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ ซึ่งนับว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคท่องเที่ยวเป็นความหวังหลักที่จะพาญี่ปุ่นรอดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 4/2566 และต่อเนื่องในปี 2567


รัฐบาลญี่ปุ่น คงคาดการณ์ GDP ปี 2566 ขยายตัว 1.3% และเชื่อว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อไปได้ในระดับปานกลาง โดยยังมีบางภาคส่วนชะลอตัวโดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น การลงทุนขององค์กร และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังขาดความแข็งแกร่ง แต่ก็พบว่าช่วงที่ผ่านมาสภาวะธุรกิจและรายได้ของบริษัทต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความแข็งแกร่งของภาคเอกชนไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มค่าจ้างและการลงทุนเสมอไป รวมทั้งยังมีความเสี่ยงต่างๆ เช่น ภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลก และภาวะเศรษฐกิจจีนที่ต้องเผชิญหน้าต่อไป


@รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มสุดตัว ปักธงแผน 3 ปี เข็นเศรษฐกิจโตรับเทรนด์ AI ในปี 2567
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 17 ล้านล้านเยน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้และบวกกับการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นและเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ขนาดของมาตรการนี้จะมีมูลค่ารวม 21.8 ล้านล้านเยน (ราวๆ 5.2 ล้านล้านบาท) โดยแพ็กเกจของมาตรการนี้จะมีทั้งการ ลดภาษีเงินได้ เพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ และกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจ ด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการผลิตสินค้ายุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ 

นอกจากนั้น  ยังมีแผนการจัดตั้งกองทุนระยะเวลา 10 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านเยน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศโดยภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการบรรลุการเพิ่มค่าจ้างอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการลงทุนผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมกันนี้รัฐบาลจะสร้างวิสัยทัศน์ความร่วมมือใหม่กับอาเซียน ในอีก 5 ทศวรรษข้างหน้า


สำหรับเม็ดเงินที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะจัดหาเงินทุนประมาณ 13.1 ล้านล้านเยน (8.71
หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านการจัดทำงบประมาณพิเศษ แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลให้ญี่ปุ่นเผชิญกับหนี้สินที่สูงขึ้น ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงมากถึงประมาณ
1.435 ล้านล้านเยน ณ เดือนมีนาคม 2566 คิดเป็น 226% ของ Nominal GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก 


พร้อมกันนี้ ก็มีแผนจะชดเชยไม่ให้รายได้หดหายไป โดยการเพิ่มอัตราภาษีสำหรับบางธุรกิจ เช่น ยาสูบ เป็นต้น โดยช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นจัดเก็บภาษีได้สูงถึง 71.14 ล้านล้านเยน (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งทำเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน นับเป็นความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ย่างก้าวใหม่ทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยคาดการณ์ว่า แผนการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะเพิ่ม GDP เฉลี่ยประมาณ 1.2% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า และเชื่อว่าจะนำพาประเทศหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจที่เคยซบเซามานาน ให้กลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต 


ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนมูระ ทาคาฮิเดะ คิอุจิ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะยกระดับจีดีพีได้เพียงปีละ 0.19% เท่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจก็ต้องติดตามในระยะข้างหน้ากันต่อไป


นอกจากนี้ ญี่ปุ่นกำลังจะกลับมาทวงบัลลังก์ผู้ผลิตชิป พร้อมเติบโตไปกับกระแสโลกยุค AI
โดยกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น ออกมาประกาศเตรียมเงินกว่า 2 ล้านล้านเยน เพื่อดันอุตสาหกรรมผลิตไมโครชิป หลังจากที่ความมั่นคงในอุตสาหกรรมชิปมีความตึงเครียดมาก ทำให้ญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น


ขณะที่ญี่ปุ่นยังต้องการให้ Rapidus สตาร์ตอัปผลิตชิป สามารถเข้าแข่งขันกับบริษัทชิปชั้นนำของโลกอย่าง TSMC รวมไปถึง Samsung Electronics ให้ได้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2570 ต้องผลิตชิปขั้นสูงให้ได้ เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแผนระยะยาวในการทวงบัลลังก์เจ้าพ่อวงการชิป หลังโดนแย่งตำแหน่งไปนาน หากคุณเชื่อว่าชาวญี่ปุ่นถือมีความมุ่งมั่นตั้งใจและน่าเชื่อถือเพียงใด ก็คงคิดเหมือนผมเช่นกันว่าเป้าหมายนี้คงไม่ไกลเกินฝัน น่าติดตามนะครับ ว่าความยิ่งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว และยิ่งใหญ่แค่ไหน


หากแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเกาะกระแสโลก AI อย่างน้อยก็ทำให้ญี่ปุ่นยังพอมีเสน่ห์ให้ลงทุนระยะยาวได้ และไม่น่าแปลกใจเลยที่ Warren Buffet เพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นล่วงหน้าก่อนแล้ว เพราะเห็นเป็นขุมทรัพย์หุ้น VI ที่เก็บสะสมมาต่อเนื่อง ซึ่งเขาเพิ่มสัดส่วนอย่างต่อเนื่องใน 5 หุ้นชั้นนำ ได้แก่ Itochu, ใน Marubeni, Mitsubishi, Mitsui และ Sumitomo
ด้วยความเชื่อมั่นในการเติบโตของบริษัทญี่ปุ่น ตอกย้ำถึงหลักการลงทุนระยะยาวที่ได้วางแผนเอาไว้ในหุ้นญี่ปุ่นอย่างชัดเจน


@ โฟกัสหาหุ้นญี่ปุ่นรายตัว ขุมทรัพย์ที่น่าลงทุน
ถามว่า แล้วตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นไปสูงแล้วยังลงทุนได้อยู่หรือไม่


จริงๆ แล้ว ผลกระทบของจุดเปลี่ยนนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 นั้น ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดได้เริ่มรับรู้สะท้อนผ่านราคาในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นญี่ปุ่นไประดับหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2566 หลัง BOJ มีการปรับความยืดหยุ่นของกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กดดันกำไรบริษัทญี่ปุ่นในบางส่วน ประกอบกับเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าได้น้อยลง อาจจะไปกดดันความสามารถด้านการแข่งขัน ผลกำไรหรือขาดทุนจากค่าเงินของบริษัทได้


แต่ถ้ามองในระยะข้างหน้า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็มีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและเงินเยนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งหุ้นในกลุ่มธนาคารที่จะได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้พุ่งขึ้นระดับสูงสุดในรอบ 8
ปีและหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่อง ผลประกอบการของบริษัทในญี่ปุ่น ย่อมเติบโตดีตามไปด้วย


ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีแรก 2566 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทะยานเติบโตได้ดีเกินคาด ทำผลตอบแทนสูงถึง+27.2% (30 มิถุนายน 2566) โดยดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 30,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปี แต่ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดตลอดการที่ 38,915 จุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ก่อนจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ช่วงเวลานั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเทียนญี่ปุ่น ประกอบกับราคาหุ้นหลายตัวมี P/E Ratio เฉลี่ย 10-15 เท่า ซึ่งถูกกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (Developed Market) อื่น ๆ


ในช่วงครึ่งปีหลังตลาดหุ้นญี่ปุ่นเผชิญกับความผันผวนของตลาด โลกและปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุด กลางเดือนธันวาคม 2566 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นบวกได้เล็กน้อย


ผมจึงมองว่า ตอนนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นย่อตัวลงมาให้เราสามารถเลือกลงทุนได้อยู่ครับ โดยหุ้นญี่ปุ่นที่มี Market Cap ใหญ่ อาจมีการปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าหุ้นที่มี Market Cap เล็ก ซึ่งหากคุณเลือกหาหุ้นรายตัวที่มีคุณภาพดี ราคายังไม่ปรับขึ้นไปมาก ให้คุณเลือกลงทุนระยะยาวได้ คุณสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ Jitta.com หุ้นญี่ปุ่นที่มีการจัด Ranking ให้ได้ศึกษาฟรีเลยครับ หรือหากต้องการลงทุนแบบง่ายกว่านั้นก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่น ก็เป็นอีกทางเลือกลงทุนให้คุณตักตวงหุ้นดีๆ มีอนาคต ลงทุนระยะยาว เดินตามรอยปู่ Buffett กันครับ ตัวไหนที่ซื้อได้ ซื้อไหวก็ทยอยสะสมดูครับ

ผมยังมองว่า ปัจจัยบวกที่สนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตในระยะข้างหน้า ได้แก่ การฟื้นตัวของกำไร (Earning) ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากโมเมนตัมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงเติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ขณะที่บริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มีเงินสดมากกว่าหนี้สิน ทำให้มีแนวโน้มจะเห็นการเข้ามาซื้อหุ้นคืนของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ ROE ดีขึ้นไปอีก


อีกหนึ่งแรงหนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสเติบโต นั่นก็คือ การที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มโครงการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับชาวญี่ปุ่นในปี 2567 อาจทำให้เงินลงทุนเพิ่มจาก 14 ล้านเยนต่อคนเป็น 18 ล้านเยนต่อคน ถือเป็นปัจจัยบวกในระยะยาวที่จะสนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมี Upside ได้อีก ขณะเดียวกันยังมีแผนการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้เน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว
.
.
ผมเชื่อว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่รอคุณอยู่ ถ้าคุณมองเห็นเสน่ห์ ความลุ่มลึกการบริหารนโยบายการเงินของ BOJ ที่ต้องการปรับสมดุลด้านผลตอบแทนพันธบัตรให้กลับสู่ภาวะปกติเมื่อเทียบกับตลาดโลก และยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อค่อยๆ ให้ภาคธุรกิจปรับตัว  และยังสามารถสร้างผลประกอบการให้เติบโตต่อไปได้ ภาพใหม่ในวันนี้ ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นตลาดที่หยุดเติบโตอย่างที่หลายคนพูดกันในอดีตแล้วครับ
.
.
อย่างไรก็ตาม หากคุณตัดสินใจจะเข้าลงทุนหุ้นญี่ปุ่น คุณยังจำเป็นต้องทำการบ้านและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดละสายตาไม่ได้ คือ ช่วงจังหวะของจุดเปลี่ยนนโยบายทางการเงินของ BOJ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 และทิศทางค่าเงินเยนที่ยังคงเป็นเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนด ทิศทางของตลาดหุ้นญี่ปุ่น และปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงจากการเปลี่ยนผ่านการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน แต่จะเป็นการใช้นโยบายการเงินคนละขั้วกับญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวและแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆภายในประเทศ
.
.
คาถาสำหรับนักลงทุน คือ ขยันทำการบ้าน ตรวจพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ เพราะโดยธรรมชาติของตลาดหุ้นย่อมมีปัจจัยรอบด้านที่คอยสร้างความผันผวนอยู่แล้ว หากคุณลงทุนอย่างมีหลักการถูกต้องและสุดท้าย อย่าลืมติดอาวุธการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายการลงทุน และการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA อย่างสม่ำเสมอ
.
.
เชื่อเถอะครับ พอร์ตของคุณจะงอกงามออกดอกออกผลเป็นเงินล้านให้ชื่นใจครับ
.
.
ผมขอให้ปี 2567 จะเป็นปีที่มีวันดีๆ
มีความสุขเพิ่มมากขึ้นสำหรับทุกคนครับ
.
.
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

#จิตตะ #ภาษีจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ #ตลาดหุ้นไทย #CapitalGainTax #สิงคโปร์ #ฮ่องกง #นักลงทุน #กระจายความเสี่ยง #สร้างผลตอบแทน #การลงทุนไร้พรมแดน #สร้างผลตอบแทน #การจัดเก็บภาษี #การกระตุ้นเศรษฐกิจ #NetCapitalGain #พอร์ตโฟลิโอ #Portfolio #ขาดทุน #กำไร #BOJ #นโยบายการเงิน #YCC #WarrenBuffet


ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์
• Line @TNNWEALTH : https://bit.ly/3tCKmiD
———————————————————————
ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 
• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube
• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok

หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/3HmUu4O








ข่าวแนะนำ