ไทยเตรียมดัน 'นวด-อาหารไทย' ซอฟต์พาวเวอร์ชาติ ตลาดโตไว 20%
ไทยพร้อมดัน 'นวด-อาหารไทย' เป็นซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ชี้อัตราตลาดโตสูงถึง 20%
วันนี้ (29พ.ย.66)นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ "การประชุมสื่อสารนโยบายมุ่งเน้นและการมอบนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประจําปีงบประมาณ 2567"
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความโดดเด่นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพได้ชัดเจน จะได้เห็นได้จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนหันมาสนใจด้านสุขภาพ อาหารไทย และสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดําเนินการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ เช่น ส่งเสริมนวดไทยเพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพใน Wellness Communities
นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ของประเทศ ซึ่งนวดไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย เป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ที่ผ่านมา สธ.ให้ความสําคัญกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลิตบุคลากรให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ และผ่านการรับรองกว่า 30,000 คน ทั้งในภาครัฐและเอกชน ขณะที่ อาหารไทยเป็นอีกหนึ่ง ซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหารสูงถึงร้อยละ 20 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 และในเดือนธันวาคม 2566 กําลังจะมีงาน Kick off มหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพ ที่จ.เพชรบูรณ์" นายสันติ กล่าว
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ภาพรวมแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) โดยเป้าหมายการขับเคลื่อน (Ultimate Goals) ภายในปี 2570 มี 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.ประชาชนเชื่อมั่น เมื่อเจ็บป่วยประชาชนดูแลสุขภาพตนเองด้วยยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 2.บริการเป็นเลิศ ประชาชนเลือกใช้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 และ 3.ภูมิปัญญาสร้างคุณค่า ลำดับของมูลค่าการบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย โดยปี 2566 มูลค่าอยู่ที่ 56,994 ล้านบาท และเป็นลำดับ 4 ของเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ภาพ: AFP