TNN เปิดไทม์ไลน์ จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ผ่านระบบ ธ.ก.ส.

TNN

Wealth

เปิดไทม์ไลน์ จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ผ่านระบบ ธ.ก.ส.

เปิดไทม์ไลน์ จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ผ่านระบบ ธ.ก.ส.

เปิดไทม์ไลน์ จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาทผ่านระบบ ธ.ก.ส. แบ่งการโอนเงินเป็น 5 รอบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้และสภาพคล่อง

เปิดไทม์ไลน์ จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาทผ่านระบบ ธ.ก.ส. แบ่งการโอนเงินเป็น 5 รอบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้และสภาพคล่อง


วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2566) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในกิจกรรมส่งมอบเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ เป็นวันแรก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้และสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยวางแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกร เป็นรายภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ครั้ง เป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 54,336 ล้านบาท 


นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้มอบนโยบายให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 


และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว  ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 54,336 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2566/67 พร้อมจัดทำแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกร เป็นรายภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 28 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป 


เงินช่วยเหลือชาวนา รายละเอียดการโอนเงิน มีดังนี้ 


- ครั้งที่ 1 วันที่ 28 พ.ย. 2566 วงเงิน 7,989 ล้านบาท รวม 6.2 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 77 จังหวัด 

- ครั้งที่ 2 วันที่ 29 พ.ย. 2566 วงเงิน 8,408 ล้านบาท รวม 7.4 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด 

- ครั้งที่ 3 วันที่ 30 พ.ย. 2566 วงเงิน 9,480 ล้านบาท รวม 8.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 จังหวัด 

- ครั้งที่ 4 วันที่ 1 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,277 ล้านบาท รวม 7.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด 

- ครั้งที่ 5 วันที่ 2 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,282 ล้านบาท รวม 8.2 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด 


ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family และ https://chongkho.inbaac.com  อีกด้วย


นอกจากนี้ ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐบาลได้มอบนโยบายในการจัดทำมาตรการคู่ขนาน เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกแบบครบวงจร ได้แก่ 


1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 34,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ โดยรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาทต่อตัน 


กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) 


2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียง ร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือ Call Center 02 555 0555



ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ