ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ตุลาคม 2566 สูงสุดในรอบ 44 เดือน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตุลาคม 2566 สูงสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่ มีนาคม 2562
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตุลาคม 2566 สูงสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่ มีนาคม 2562
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ต.ค.66 อยู่ที่ระดับ 60.2 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน ก.ย.ที่ 58.7 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และถือว่าดัชนีปรับตัวสูงสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค.62
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 54.5 ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.2 ซึ่งดัชนีฯ ทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 44 เดือนเช่นกัน
"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.นี้ ดีสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.62 เป็นการทำลายสถิติทุกตัว ทั้งดัชนีเศรษฐกิจโดยรวม, ดัชนีหางานทำ และดัชนีรายได้อนาคต เพราะคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ระบุ
สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน เช่น การปรับลดค่าไฟฟ้า ลดราคาดีเซล เบนซิน ตลอดจนมาตรการวีซ่าฟรี แก่นักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น หลังการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ กิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น,
ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกรายการ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับดีขึ้น, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับดัวลดลง, การส่งออกไทยเดือนก.ยง66 เพิ่มขึ้น 2.1%, ประชาชนคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลในช่วงปลายปี 66
ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือโต 2.7% จากเดมคาด 3.5% เป็นผลจากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว จากผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ, SET Index เดือนต.ค.66 ลดลง 89.60 จุด บรรยากาศการลงทุนทั่วโลก ยังมีความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อสกัดเงินเฟ้อ, ความกังวลสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะกระทบต่อการใช้น้ำภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม, ความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกทรงตัวสูง กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า, เงินบาท ณ สิ้นต.ค.66 ปรับตัวอ่อนค่าจากเดือนก.ย. สะท้อนว่ายังมีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในเดือนต.ค.นี้ ยังพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ปรับตัวเกินระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยอยู่ที่ระดับ 102.9 ซึ่งกลไกด้านการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีนี้
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.66 จะอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 44 เดือน แต่ยังมีปัจจัยกดดันเชิงลง ที่ทำให้ความเชื่อมั่นไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เช่น ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์, การส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็ว รวมทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งจะมีผลต่อมุมมองและทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 67
ดังนั้น หากประชาชนได้เห็นความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท, นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็จะทำให้พอจะประเมินแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้
โดยทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 67 อาจจะยังไม่เด่นชัดมากนัก เพราะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับสูงขึ้น แต่ยังไม่ถือว่าโดดเด่นเต็มที่ คนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยไปจนถึงไตรมาส 1/67 ถ้ามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาชัดเจน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นได้ในอัตราเร่ง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้านั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ยังคงประมาณการ GDP ปี 67 ไว้ที่ 3.5% (กรอบ 3-4%) ตามกรอบเดิมไว้ก่อน โดยจะรอฟังความชัดเจนจากการแถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล และการใช้งบประมาณในการทำนโยบายดังกล่าวก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้ชัดเจนขึ้น
แฟ้มภาพ TNN Online