TNN เปิดแนวทางลดราคาพลังงาน "ทำทันที" ทั้งค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม

TNN

Wealth

เปิดแนวทางลดราคาพลังงาน "ทำทันที" ทั้งค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม

เปิดแนวทางลดราคาพลังงาน ทำทันที ทั้งค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม

เปิดแนวทางลดราคาพลังงาน "ทำทันที" ค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร

เปิดแนวทางลดราคาพลังงาน "ทำทันที" ค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (30 สิงหาคม 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปพบปะกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ของรัฐบาลรักษาการ 

ก่อนจะประกาศ ว่า นโยบายที่รัฐบาลจะทำทันที หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก คือ การลดราคาพลังงาน ทั้ง ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน เราจะมาเจาะลึกแนวทางว่า จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร 


แนวทางการลดราคาน้ำมันดีเซล


สำหรับแนวทางการลดราคาน้ำมันดีเซลที่ดำเนินการได้ ประกอบด้วย


1. ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล 

กรณีลดภาษีลงลิตรละ 5 บาท จะกระทบกับรายได้รัฐบาลเดือนละ 10,000 ล้านบาท ถ้าลดลงได้จริง จะเหลือ ประมาณ 26 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 31.94 บาทต่อลิตร


2. ลดจัดเก็บทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 

ปัจจุบันกองทุนน้ำมัน อุดหนุนดีเซลลิตรละ 6.43 บาท  ในขณะที่เบนซินและแก๊สโซฮอล์ถูกเก็บเข้ากองทุน ลิตรละ 0.81-2.80 บาท


3. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน 

โดยเฉพาะราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กำลังจัดทำโครงสร้างใหม่


แนวทางการลดราคาก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือน


สำหรับแนวทางการลดราคาก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือน ประกอบด้วย


1.เพิ่มเงินกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 

2.การใช้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ 

3.เงินบริจาคจากบริษัทพลังงานเพื่อสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 

4.ปรับอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนหรือการจ่ายเงินชดเชย 


ปัจจุบันกองทุนน้ำมัน อุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มที่กิโลกรัมละ 4.3973 บาท / ราคาก๊าซหุงต้มปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถึงขนาด 15 กก.


แนวทางการลดค่าไฟฟ้า


ส่วนแนวทางการลดค่าไฟฟ้าที่ดำเนินการได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย


1. รัฐบาลจัดงบประมาณเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าเหมือนที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยดำเนินการ 

ที่ผ่านมาช่วยเหลือผู้ใช้ไฟเฉพาะกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และลดแบบขั้นบันไดให้ผู้ใช้ไฟที่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน 

2. การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า 

จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยก่อนภาคส่วนอื่น เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

3. ยืดหนี้ค่าบริหารจัดการค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 

โดยรัฐบาลต้องมาแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ กฟผ. เช่นการออกพันธบัตรรัฐบาล

4. ปรับแก้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) 

เจรจาการลด Margin การยืดเวลาสัญญาเดิม และไม่เร่งการเพิ่มซัพพลายการผลิตไฟฟ้า เป็นเรื่องที่โรงไฟฟ้าจะต้องเจรจากับรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว

5. เร่งเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 

เพิ่มโอกาสใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง


ส่วนการดำเนินการจะใช้วิธีการใดนั้น นายเศรษฐา ระบุว่า จะมีประกาศหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นัดแรกแน่นอน 



ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ