"IMF-ธนาคารโลก" โดนกดดัน เร่งหนุนแก้โลกร้อน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) โดนกดดัน เร่งหนุนแก้โลกร้อน
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ระหว่างประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Paris Climate SUmmit) ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วันพฤหัสบดี (22 มิ.ย.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)ได้ตกอยู่ภายใต้การกดดันให้มีบทบาทในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงเงินทุนและสามารถปรับตัวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จาก IMF และ ธนาคารโลกเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้นำด้านเศรษฐกิจอีกหลายคน ด้วยเป้าหมายที่จะจัดการกับความท้าทายที่เชื่อมโยงระหว่างการบรรเทาความยากจนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมนี้ซึ่งจัดขึ้นโดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ถูกมองว่าเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินโลกใหม่อีกครั้ง เพื่อการจัดการกับแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ให้ดียิ่งขึ้นซึ่งจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศของโลกภายในช่วงสิ้นสุดทศวรรษนี้
ก่อนหน้านี้ IMF และ ธนาคารโลกได้นำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้ว IMF ได้เปิดตัวกองทุน Resilience and Sustainability Trust (RST) ที่มีเงินทุน 40,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสนอการกู้เงินระยะยาวให้แก่โครงการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเหล่านี้
ขณะที่เหล่าผู้นำของธนาคารโลก อย่าง เดวิด มัลพาสส์ อดีตประธานสถาบันการเงินดังกล่าวเพิ่มเงินทุนด้านสภาพอากาศเป็นสองเท่าอยู่ที่ 32,000 ล้านดอลลาร์ และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านภาวะโลกร้อนในช่วงปี 2021 ถึง 2025 และอาเจย์ บังกา ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบันใช้เวทีการปราศรัยขณะรับตำแหน่งเพื่อเรียกร้องให้ธนาคารเดินหน้าแผนงานทั้งในด้านการปรับตัวและการบรรเทาปัญหาสภาพอากาศ รวมถึงประเด็นอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ทั้ง IMF และ ธนาคารโลกต่างยอมรับว่าเงินทุนของหน่วยงานในขณะนี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่ง IMF ประเมินว่าความต้องการนี้จะมีมูลค่ามากกว่าล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2025
ทั้งนี้ แม้ว่ากระบวนการปฏิรูปจะประสบความสำเร็จ ประธานของ IMF และ World Bank ย้ำว่าสถาบันการเงินระหว่างประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่มีมากมายมหาศาลของกลุ่มประเทศที่เปราะบางที่สุดได้ด้วยตัวคนเดียว โดยบังกาได้รณรงค์หาเสียงขณะสมัครชิงตำแหน่งประธานธนาคารโลก ในด้านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนมากขึ้นในการจัดหาเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : AFP