ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเมืองไทย สะเทือนตลาดรถยนต์ไทย!
วิเคราะห์มุมมองของแต่ละสำนักวิจัยที่กำลังประเมินตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ว่ากำลังจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยอย่างไร
รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ยังคงเป็นกระแสแรงข้ามปี ทั้งในด้านยอดขายที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการอุดหนุนด้านภาษี และความคึกคักจากการเข้ามารุกตลาดไทยของแบรนด์ระดับโลกต่อเนื่อง
จากการคาดการณ์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ หรือ BEV ในปีนี้จะอยู่ที่ระหว่าง 25,000-35,000 คัน ซึ่งเป็นการเติบโตกว่า 2 เท่าจากปี 2565 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เพจ Autolifethailand เปิดเผยว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา มียอดรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ รวม 3,017 คัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของยอดจดทะเบียนรถใหม่ รวม 81,994 คัน
ส่วนเทสลา หลังเข้ามาทำตลาดในไทย และเปิดรับจองไปเมื่อ 7 ธันวาคม 2565 จนถึงสิ้นปี มียอดจองรวม 7,739 คัน และจะเริ่มส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย รอบแรก 10-16 กุมภาพันธ์นี้ และ จดทะเบียนภายใน 1 เดือน
ซึ่งทางเพจคาดว่า จะเห็นตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา ก้าวกระโดดจากหลักหน่วย หลักสิบ เป็นหลักหลายร้อยต่อเดือน และตลาดรถไฟฟ้า100% ในไทยโตเร็ว อีกทั้งจะมีผู้เล่นอีกหลายรายกระโดดเข้ามาร่วม ไม่ว่าจะเป็น Honda e:NS1 รถไฟฟ้า100% พื้นฐาน HR-V ที่จะเริ่มประกอบในไทย เซ็น MOU เข้าร่วมโครงการภาครัฐ พร้อมขายปลายปีนี้
รวมถึง Hyundai ที่บริษัทแม่จากเกาหลีจะเข้ามาทำตลาดเอง มี IONIQ5 รถไฟฟ้า100% ที่ได้รับรางวัลจากระดับโลก เตรียมมาขายในไทยในราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีทองของรถยนต์ไฟฟ้าไทย ไม่ว่าจะเป็น การเข้ามาตั้งโรงงานของค่ายรถไฟฟ้าจีนตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ หรือเทสลา ตัดสินใจเปิดตลาดในไทย
ด้านความแตกต่างสำคัญ คือ บริษัท EV จีนมีการตัดสินใจเปิดโรงงานและตั้งฐานการผลิตในไทย ขณะที่เทสลา เลือกนำเข้ารถยนต์จากจีนมาขายในไทยและยังไม่มีการพิจารณาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของค่ายรถยนต์ EV ใหม่ๆทั้ง เทสลาและค่ายรถยนต์จากจีนยังสามารถช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ EV ในไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง
KKP Research ประเมินว่าไทยกำลังน่าสนใจน้อยลงในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ EV เมื่อมองจากมุมของ เทสลา ที่เป็นผู้เล่นสำคัญของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1) ไทยมีตลาดที่ค่อนข้างเล็กจากกำลังซื้อภายในประเทศที่มีจำกัด โดยราคา เทสลา ปัจจุบันสามารถเจาะตลาดไทยได้เพียง 30,000 คันต่อปี หรือคิดเป็น 4.5% ของตลาดรถยนต์ไทย
2) การนำเข้าจากโรงงานจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและโอกาสถึงจุดคุ้มทุนจากการตั้งโรงงานผลิตขายในตลาดไทยมีน้อย
และ 3) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก โดยมีความพยายามของนโยบายรัฐในประเทศพัฒนาแล้วในการดึงการสร้างฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทางมากขึ้น (Reshoring) ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาตลาดเกิดใหม่มีน้อยลง
KKP Research ประเมินว่าการเข้ามาลงทุนทางตรงในช่วงที่ผ่านมาในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ายังสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจได้น้อยจาก 2 ประเด็นสำคัญ
คือ 1) ขนาดการลงทุนยานยนต์ EV จากจีนยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ และยังน้อยกว่าการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นเพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอดีต
2) มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการผลิตรถยนต์ EV มีน้อยลง และจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น อาจทำให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยเคยสร้างได้ในประเทศหายไปมากกว่าครึ่ง ในขณะที่การเข้ามาของทำธุรกิจขายรถยนต์ของเทสลา แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีตัวเลือกหลากหลายขึ้นแต่ไม่ได้มีผลบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก และสร้างความท้าทายมากขึ้นในระยะยาวต่อค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทย
ซึ่งในภาพรวมแม้ว่าการเข้ามาของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนจะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งใหม่ ๆ อย่างอินโดนีเซีย ขนาดการลงทุนจากจีนมาไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยขนาดการลงทุนจากบริษัทจีนในอินโดนีเซียอย่าง CATL ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับหนึ่งของโลกเพียงบริษัทเดียวมีมูลค่าการลงทุนมากกว่าครึ่งของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ทั้งหมดของไทย และมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมามากกว่าไทยถึง 2 เท่า สะท้อนว่าไทยกำลังจะเจอการแข่งขันที่มากขึ้น และการดึงดูดให้เกิดการลงทุนในไทยจะเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอย่างมาก
นอกจากนี้ KKP Research มองว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยถือว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมาจากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนผ่านส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุน และเติบโตได้เร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการขยายตลาดรถยนต์ EV มายังตลาดรถยนต์ใหญ่ของไทยยังทำได้ยากเนื่องจากราคารถยนต์ EV ที่ยังสูง อีกทั้งปัจจัยด้านอุปทานยังเป็นปัจจัยที่กำหนดความเร็วของตลาด EV ไม่ว่าจะเป็นสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม ภาวะขาดแคลนแผงวงจรไฟฟ้าทั่วโลกที่ทำให้ส่งมอบ EV ได้ช้า และที่สำคัญที่สุด คือการขาดแคลนสินแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV
ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในต้นปี 2566 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งล้านคัน
และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 700,000 คันต่อปี
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยบทวิเคราะห์ระบุว่า ในอนาคตจำนวนรุ่นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่จะออกท้องตลาดอาจมีมากถึง 500 รุ่น เมื่อเทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ 300 รุ่น ส่งผลให้คาดว่าส่วนแบ่งยอดขายรถ EV ทั่วโลกในปี 2578 สูงเกือบ 60% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด
ขณะที่ตลาดรถ EV ในไทยยังเติบโตสูง หลังค่ายผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากจีน ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างเปิดตัวรถ EV ในไทย พร้อมเดินหน้าลงทุนผลิตในประเทศ เพื่อขานรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
ส่งผลให้รถ EV ในประเทศมีให้เลือกหลากรุ่นหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะกลุ่ม SUV ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยตัวเลขยอดจดทะเบียนรถ EV ป้ายแดงปี 2565 สูงถึง 9,678 คัน หรือเพิ่มขึ้น +400.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับที่ ttb analytics ได้ประเมินไว้
ขณะที่ยอดจองรถ EV ในงานมหกรรมมอเตอร์เอ็กซ์โป เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สูงถึง 5,800 คัน เช่นเดียวกับยอดจองโดยตรงผ่านค่ายรถทางฝั่งจีนและสหรัฐอเมริกา ที่มาบุกทำตลาดเองอีกไม่ต่ำกว่า 15,000 คัน
นอกจากนี้ ttb analytics มองว่า บริษัทผู้ผลิตจะดันตลาดรถ EV ทั่วโลกจะเติบโตเต็มที่ในปี 2573 หลังหลายประเทศดันมาตรการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถ EV ซึ่งกระตุ้นให้ค่ายผู้ผลิตดั้งเดิมต่างเร่งปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อมุ่งสู่ยานยนต์ ZEV ได้เร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้
ขณะเดียวกัน การใช้ชิ้นส่วนโครงสร้างของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าก็สั้นลงมาก โดยชิ้นส่วนหลักจะเกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังที่มีเพียงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่ ทำให้พึ่งพาชิ้นส่วนเพียง 2,000 ชิ้นเท่านั้น จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตน้องใหม่เข้าสู่ตลาดได้ง่ายกว่าในอดีตมาก จนเกิดการผลิตรถ EV จากผู้ผลิตรายใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ราคารถ ค่าเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษาระบบเครื่องยนต์สันดาปสูงกว่าระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้าล้วนถึง 2-3 เท่า สวนทางกับราคาขายต่อที่อาจลดลงเฉลี่ยสูงถึงปีละ 10-15% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาพิจารณาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น
แม้ปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจมองว่ารถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเพียงตัวเลือกลำดับรอง เนื่องจากความกังวลเรื่องระยะในการวิ่ง และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ แต่หากตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศเข้าสู่ช่วงที่เติบโตเต็มที่ จะทำให้ผู้บริโภคพิจารณาใช้รถยนต์นั่งไฟฟ้าเร็วขึ้น และจะทำให้ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและไฮบริดถูกลดบทบาทลงในที่สุด
และในระยะต่อไปรถยนต์มือสองในตลาดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสอง หรือ เต็นท์รถ ที่สต็อกรถไว้เป็นจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบจากอุปทานรถที่เพิ่มสูงขึ้น และจะกดราคาขายต่อ (Resale) ให้ตกเร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน เต็นท์รถมือสอง ยังเจอคู่แข่งจากค่ายผู้ผลิตที่ผันตัวไปเป็นดีลเลอร์ซื้อขายรถยนต์มือสอง ตลอดจนการเข้ามาของธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่นำเสนอบริการแบบ Subscription หรือ “การเช่าใช้รถ” ที่ครอบคลุมไปถึงการบำรุงรักษา การประกันภัย บริการรถทดแทนระหว่างซ่อม และหากต้องการเปลี่ยนรุ่นรถ หรือ เปลี่ยนจากสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าซื้อก็สามารถทำได้เช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถทดลองขับรถได้อย่างอิสระจนกว่าจะพอใจ
ดังนั้นเหล่าเต็นท์รถ ต้องปรับตัวรับมือด้วยการทยอยลดการสต็อกรถยนต์จำนวนมาก โดยเฉพาะรถยนต์นั่งมือสองที่ผ่านการใช้งานหนัก รวมไปถึงแบรนด์รถ หรือรุ่นนอกกระแสที่ราคาตกเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ การหันมาขายรถบนช่องทางออนไลน์ที่ได้มาตรฐานก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการรถ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า รวมถึงช่วยลดช่องโหว่จากการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองฝ่ายได้อีกด้วย
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้พัฒนาแอปพลิเคชันโดยมีฟีเจอร์การค้นหาสถานีชาร์จเข้ามาแล้ว เพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของสถานีชาร์จ สถานะพร้อมใช้งาน และประเภทเครื่องชาร์จของแต่ละสถานีได้แบบเรียลไทม์
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN