TNN ส่องเทรนด์โฆษณาและสื่อ กับกลยุทธ์การตลาดปีนี้!

TNN

Wealth

ส่องเทรนด์โฆษณาและสื่อ กับกลยุทธ์การตลาดปีนี้!

ส่องเทรนด์โฆษณาและสื่อ กับกลยุทธ์การตลาดปีนี้!

รวม 10 เทรนด์ธุรกิจสื่อ หรือ Media สำหรับปี 2023 ที่น่าจับตามอง เพื่อใช้ในการพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้

นีลสัน เผย 10 เทรนด์สื่อที่น่าจับตาประจำปี 2023 ที่ทำให้เห็นภาพรวมของพฤติกรรมผู้บริโภค การเสพสื่อ และอุตสาหกรรมสื่อ ที่จะต่อเนื่องต่อไปถึงปี 2025 


1.การดูสตรีมมิง

คนไทยร้อยละ 57 ดูสตรีมมิ่งแบบ วิดีโอออนดีมานด์ (VOD) คือ เลือกดูคอนเทนต์ในเวลาที่ต้องการดู หรือดูย้อนหลัง โดย 5 อันดับแรกของ วิดีโอออนดีมานด์ ที่มีผู้ชมสูงสุด คือ 1. YouTube 2. Facebook 3. Netflix 4. TrueID 5. Viu


นักการตลาดจึงต้องรู้จักกับเทรนด์ ที่เรียกว่า Free ad-supported streaming television หรือ เรียกสั้นๆว่า FAST หรือโทรทัศน์สตรีมมิ่งแบบสนับสนุนโฆษณาฟรี ให้บริการแก่ผู้บริโภคโดยไม่ต้องสมัครสมาชิก เพราะแพลตฟอร์มได้รับเงินสนับสนุนจากการโฆษณา โดยจะใช้วิธีฉายโฆษณาแทรกระหว่างรับชมนั่นเอง


สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยอมดูโฆษณาเพื่อแลกกับการดูคอนเทนต์ พฤติกรรมนี้ถือเป็นโอกาสของแบรนด์ นักการตลาดที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางวิดีโอออนดีมานด์ สตรีมมิ่งดูสดออนไลน์ 


2. More Connected, More Content and More Control 

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยใช้สมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 แท็บเล็ต และสมาร์ททีวี นอกจากนี้ยังใช้เวลากับสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น


การที่ผู้บริโภคเข้าถึงสมาร์ทดีไวซ์เพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนและเวลา ทำให้แบรนด์ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการจับจ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ได้


3. คนคาดหวังความจริงมากขึ้น คอนเทนต์ต้อง Real

เนื่องจากผู้บริโภคต้องการเห็นคอนเทนต์ที่เป็นจริงมากขึ้น การรีวิวต้องมาจากผู้ใช้จริง ประสบการณ์จริง และ วิธีสร้างความ Real ของแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ User-Generated Content เป็นการสร้างคอนเทนต์จากผู้บริโภคตัวจริงและมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือแบรนด์โดยตรง เช่น การรีวิวต่างๆ


4. อินฟลูเอนเซอร์เป็นตัวเชื่อมระหว่างแบรนด์กับลูกค้า

อินฟลูเอนเซอร์ยังเป็นตัวเลือกที่ดีในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างเเบรนด์กับลูกค้า เพราะผู้บริโภคมองว่า อินฟลูเอนเซอร์ดูจริงใจและน่าเชื่อถือ อีกทั้งคนไทยมีพฤติกรรมเชื่อการรีวิวจากสื่อออนไลน์ 75% โดย 5 อันดับ แพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ ประกอบด้วย Facebook Youtube Tiktok Instagram และ Twitter


5. Shoppertainment มาจาก Shopping + Entertainment 

เป็นการขายของผ่านคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ โดยใส่ความสนุกสนานที่คนไทยชอบเข้าไปในคอนเทนต์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เริ่มต้นจาก TV Shopping รายการขายของผ่านทีวี หากดูการใช้เม็ดเงินโฆษณา เห็นได้ว่า TV Shopping เป็นกลุ่มที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในปีที่แล้ว (2022)


โดยกระแส Shoppertainment ที่แรงขึ้นในปีนี้ (2023) มาจากวิดีโอสั้น (Short video content) จากการซื้อสินค้าผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ, Live ขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น เพื่อสื่อสารกับลูกค้า และพบว่านักช้อป 20% มีการซื้อสินค้าผ่าน Live ขายของ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  


6. ช่องทางการรับฟังผ่านดิจิทัลกำลังเปลี่ยนไป 

จากการสำรวจของนีลเส็น พบว่า มิวสิกสตรีมมิ่งเติบโต 57% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งคนไทยกว่า 55% เปลี่ยนมารับฟังมิวสิกสตรีมมิ่ง


ทำให้วงการวิทยุหลายเเห่งเริ่มปรับตัว ในปัจจุบัน หนึ่งสถานีสามารถรับฟังได้หลายแพลตฟอร์ม ทั้งระบบวิทยุปกติ หรือผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และวิทยุยังไม่ตาย เพราะ 46% ของคนไทยยังรับฟังวิทยุ และช่องทางวิทยุยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีในการสื่อสารกับลูกค้าท้องถิ่น หรือ Local Community


7. โฆษณายังสร้างเม็ดเงินสำหรับการชอปปิงได้ 

หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ นีลสันพบว่าเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น 9% มูลค่าปีที่ผ่านมา คือ 118,000 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการโฆษณาในโรงหนัง 117% โฆษณากลางเเจ้ง 47% และโฆษณาในร่ม 33% 


โดย 3 ช่องทางที่คนเห็นแล้วจะตามไปซื้อสินค้าต่อ  คือ 1. ดิจิทัล/โซเชียลมีเดีย 2. โทรทัศน์ 3. อินฟลูเอนเซอร์


ส่วนในแง่การทำโฆษณา หมวดหมู่สื่อที่มีการทำโฆษณามากที่สุดในปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1. ขายตรง/โฮม ชอปปิง 2. ยาสีฟัน 3. e-Marketplace for Retail  4. ส่วนราชการ 5. น้ำอัดลม 


จากการสำรวจพบว่า 69% ของคนไทยซื้อสินค้าหลังจากที่เห็นโฆษณา ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดต้องเล็งเห็นความสำคัญของการทำโฆษณาหนึ่ง ๆ ที่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเเบรนด์และดึงดูดยอดขาย 


8. Sports Fandom : Big opportunity for brands “แฟนกีฬา” คือ โอกาสทองที่แบรนด์ควรทำการตลาด

กลุ่มผู้ชมกีฬาและแฟนคลับ หรือ Sports Fandom เติบโตมากขึ้น รวมทั้งการวัดความนิยมรายการกีฬาทางทีวีและออนไลน์ พบว่าเรตติ้งอันดับ 1 ในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เป็นรายการกีฬาทั้งหมด โดยเฉพาะรายการที่มีคนไทยแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ทำเรตติ้งสูงสุดของปี 2022


จึงถือเป็นโอกาส ในการทำ Sport Marketing เพราะการสำรวจของ นีลเส็น พบว่า 85% ของคนไทยเชื่อถือโฆษณาที่เป็นสปอนเซอร์กีฬา โดย 61% ของแฟนด้อม ตั้งใจซื้อแบรนด์ที่เป็นสปอนเซอร์กีฬา และการเป็นสปอนเซอร์ยังช่วยให้คนรู้สึกเข้าถึงเเบรนด์ได้อีกด้วย


9. ใช้สื่อให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า


การใช้เม็ดเงินในการโฆษณาจากทั่วโลก มีมากถึง 37% ที่เป็นการลงทุนในโฆษณาแล้วสูญเปล่า เพราะไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมายได้ 


นักการตลาดจึงต้องอาศัย Data คุณภาพสูงที่สอดรับกับกลยุทธ์การตลาดของเเบรนด์ เพื่อช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตนได้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัย Unique Reach ในการวัด Digital AD Ratings เพื่อดูการเข้าถึงลูกค้าโดยละเอียด 


และสุดท้าย คือ 10. ใส่ใจความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy Controls


ปัจจุบันคนไทยหันมาตระหนักกับความเป็นส่วนตัว พื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น โดยผลการสำรวจความยินยอมของคนไทยในการอนุญาตให้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เข้าถึงข้อมูลของตัวเอง 


โดยกลุ่มที่หวงความเป็นส่วนตัวสูงสูงสุด คือ กลุ่มสูงอายุ และ Gen Z สิ่งที่ตามมาคือการยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้ยากขึ้น เพราะขาดความแม่นยำและยิงไม่โดนกลุ่มเป้าหมาย ทำให้แบรนด์ต้องลงเงินมากขึ้น และไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย นักการตลาดจึงต้องหาวิธีที่จะระบุการใช้ข้อมูลและมาตรการปกป้องข้อมูลผู้บริโภค


และทั้งหมดคือ 10 เทรนด์สื่อที่น่าสนใจจากมุมมองของนีลเส็น เพื่อการศึกษาและปรับตัวให้ทันโลกเทคโนโลยีที่หมุนไป โดยที่เทรนด์ข้างต้นเป็นสิ่งที่เราจะสามารถพบเจอได้ทั้งในปี 2023 และต่อไปสองถึงสามปีนับจากนี้ 




ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวแนะนำ