TBN ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 25 ล้านหุ้น เข้าตลาด MAI ระดมทุนขยายธุรกิจรับ Digital Transformation
TBN ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 25 ล้านหุ้น เข้าตลาด MAI ระดมทุนขยายธุรกิจรับ Digital Transformation
บมจ. ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น หรือ TBN" ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ 25 ล้านหุ้น เข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นำเงินขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก โดยมีจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมดที่เสนอขายให้นักลงทุนครั้งนี้ จำนวน 25 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
โดยการระดมทุนดังกล่าวจะนำไปใช้รองรับการเติบโตของ TBN เพิ่มความน่าเชื่อถือรวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งนี้บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น
ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2564) รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ มีจำนวนเท่ากับ 130.38 ล้านบาท 215.73 ล้านบาท และ 291.19 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 65.47 และร้อยละ 34.98 ตามลำดับ และสำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 2564 และปี 2565 เท่ากับ 198.12 ล้านบาท และ 243.96 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 45.44 ล้านบาท 87.61 ล้านบาท และ 84.04 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 34.85 ร้อยละ 40.61 และร้อยละ 28.86 ตามลำดับ และในงวด 9 เดือนของปี 2564 และปี 2565 มีกำไรสุทธิ 58.70 ล้านบาท และ 26.52 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 29.63 และร้อยละ 10.87 ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ในปี 2565-2567 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คาดการณ์ว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตร้อยละ 11.70 ด้วยมูลค่ารวม 183,051 ล้านบาท และคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง COVID-19 คลี่คลาย ที่เป็นรูปธรรม จึงทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นส่งผลให้ตลาดซอฟต์แวร์กลับมาเติบโต รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ยังคงอยู่ จึงยังมีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องตามไปด้วย โดยในปี 2566 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเติบโตขึ้นร้อยละ12.10 ด้วยมูลค่ารวมราว 205,200 ล้านบาท การดำเนินวิถีใหม่ (New Normal) ยังคงอยู่และจะคงอยู่ตลอดไป ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องสรรหาเครื่องมือที่จะทำให้เข้าถึงลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งไอทีและซอฟต์แวร์จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ