รู้จักกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG วาระแห่งชาติพัฒนาประเทศไทย
รู้จักกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG วาระแห่งชาติพัฒนาประเทศไทย
APEC 2022 ไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคอีกครั้งในปี 2565 ทิ้งช่วงห่างยาวนาน19 ปี จากการเป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปี 2546 ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทาย เพราะเป็นปีที่โลกกำลังฟื้นฟูหลังจากต้องเผชิญกับวิกฤติของโควิดข้ามยาวมาตั้งแต่ปี 2563
.
.
ไฮไลท์สำคัญคือ จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ไทยได้นำ "โมเดลเศรษฐกิจ BCG” (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นแนวคิดหลัก โดยผลักดันเป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้ผู้นำเอเปครับรอง จากที่ได้เริ่มกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อแนวคิด BCG ในการประชุมเอเปคอย่างต่อเนื่องในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติตั้งแต่ช่วงต้นปี
โมเดลเศรษฐกิจ BCG วาระแห่งชาติพัฒนาประเทศ
"โมเดลเศรษฐกิจ BCG” เป็นทฤษฎีใหม่ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลภายใต้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ “เศรษฐกิจ BCG” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อมาขับเคลื่อนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยนำมาผสมผสานกับ “หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy Philosophy, SEP) และ“เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals, SDGs)
.
.
จากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีค่าเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอในการนำพาประเทศให้ก้าวข้าม “กับดับประเทศรายได้ปานกลาง” และลดความเหลื่อมล้ำ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของประเทศที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
.
.
#BCG Modelทฤษฎีเศรษฐกิจใหม่ประกอบด้วย3เสาหลัก
(1) Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า
(2) C-Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
(3) G-Green Economy คือ เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
.
.
เสาหลักทั้ง 3 จะมีความเชื่อมโยงต่อกัน โดยระบบเศรษฐกิจชีวภาพ จะเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว
.
.
จาก 3 เสาหลักที่เชื่อมโยงกันของ BCG Model คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves)
.
.
1.อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร มุ่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจากการผลิตมากแต่ได้น้อยไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นพรีเมี่ยมที่ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้สูง ลดของเหลือทิ้ง ลดการบุกรุกผืนป่า บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก ยกระดับสินค้าเกษตรและ อาหารสู่สินค้าปลอดภัย
.
.
2.อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ เน้นการพัฒนาให้ได้มาตรฐานส่งออก ทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเครื่องสำอางจากธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ยา วัคซีน ยาชีววัตถุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ รวมทั้งปรับรูปแบบการรักษาไปสู่การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เฉพาะบุคคล และเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านสุขภาพและวิจัยด้านคลินิกชั้นนำของโลก
.
.
3.อุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ เคมีชีวภาพ เน้นเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรองรับของเสียที่หลากหลายทั้งชนิดและคุณสมบัติเช่น ขยะจากอุตสาหกรรม ครัวเรือน รวมถึงของเหลือทิ้งทางการเกษตร
.
.
4.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วยการใช้จุดแข็งของ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา สร้างมูลค่าเพิ่มเติมด้วยการกระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง รวมถึงพัฒนาสู่ระบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วยการจัดทำระบบมาตรฐานการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
.
.
ในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ APEC 2022 ครั้งนี้ประเทศไทยได้ผลักดันการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาเร่งสร้างความเติบโตในกลุ่มเอเปค ซึ่งจะเริ่มจากการประกาศ “เป้าหมายกรุงเทพ เรื่องเศรษฐกิจ BCG ” หรือ “Bangkok Goals on BCG Economy” ในการประชุมผู้นำวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้
.
.
อ้างอิงข้อมูล: APEC 2022 Thailand , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ , กรมประชาสัมพันธ์,ประชาชาติธุรกิจ