APEC 2022 ที่สุดของไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ
ที่สุดของไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำ
APEC 2022 การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2565 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 นับเป็นการประชุมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากความร่วมมือภายใต้เอเปคครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เห็นได้จากรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปี 2564 การค้าของไทยกับกลุ่มเอเปคซึ่งมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ มีมูลค่า 385.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.5 ของการค้าไทยกับทั่วโลก
.
.
APEC 2022 งานนี้จึงเป็นงานใหญ่ที่ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน TNN Wealth สรุป Highlight แต่ละส่วนมาให้ติดตามกันค่ะ
เริ่มกันที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2565 พร้อมต้อนรับผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. ด้วยพื้นที่ที่ปรับปรุงใหม่ 300,000 ตร.ม. สามารถรองรับคนได้ถึง 100,000 คนต่อวัน
.
.
บีเอ็มดับเบิลยู เปิดตัวบีเอ็มดับเบิลยู i7 ใช้เป็นพาหนะอย่างเป็นทางการสำหรับต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้นำและคณะระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยเบื้องต้นบริษัทได้จัดเตรียมรถยนต์ไว้กว่า 100 คันในหลายรุ่น ประกอบด้วย การเตรียมบีเอ็มดับเบิลยู i7 (ไอเซเว่น) ไว้กว่า 30 คัน ซึ่งวันนี้ยังได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้ว ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ ผสมผสานความหรูหรา พร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัย รวมทั้งเตรียมรุ่น X7 , 530e M Sport , 745Le M Sport และ 330 Li โดยทั้งหมดเป็นยนตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นรถยนต์พลังงานสะอาด ที่มีสมรรถนะดีเยี่ยม บริษัทเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจและสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางตลอดการประชุม
.
.
ส่วน “ชะลอม” ตราสัญลักษณ์การประชุมเอเปค 2022 อย่างเป็นทางการ สื่อถึงการร่วมสานพลังเเละจุดเเข็งที่หลากหลาย ภายใต้ธีม “Open. Connect. Balance.” โดยชะลอม เป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายของไทยมาแต่โบราณ เส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG)
.
.
สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุล
.
.
ปิดท้ายที่ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 โดยจัดทำเป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม
ประเภทธรรมดา โดยมีลวดลาย
.
.
ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้าภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
.
.
ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ด้านขวารูปตราสัญลักษณ์มีเลขบอกราคาว่า “๒๐” ด้านซ้ายมีข้อความว่า “บาท” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ พ.ศ. ๒๕๖๕”เบื้องล่างมีข้อความว่า “ประเทศไทย”
.
.
ผู้ที่ประสงค์จะขอแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าว สามารถติดต่อขอแลกได้ที่กรมธนารักษ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป