เอกชนจี้รัฐ! ปลดล็อก 3 ข้อ ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
เอกชน จี้รัฐปลดล็อก 3 ข้อ ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า แนะพิจารณาลดค่าความพร้อมจ่ายไฟเข้าระบบ (เอพี) โรงไฟฟ้า เลิกดองใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีแนวทางปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 3 ทางเลือก ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จากปัจจุบันค่าไฟที่เรียกเก็บอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย เป็น 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย ว่า ราคาค่าไฟดังกล่าวส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจแน่นอน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้นส.อ.ท.จึงจัดทำข้อเสนอ 3 ประเด็นเร่งด่วน ที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณมาอุดหนุน ประกอบด้วย
1.รัฐบาลควรพิจารณาลดค่าความพร้อมจ่ายไฟเข้าระบบ (Availability Payment: AP) ของโรงไฟฟ้า เพราะคนไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงาน และปัญหาสำรองไฟฟ้าโอเวอร์ซัพพลาย ปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งปกติควรอยู่ที่ร้อยละ 15 ดังนั้นกระทรวงพลังงาน หรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควรเจรจาให้ลดค่าเอพีลงได้ เพื่อลดภาระให้กับคนไทยทั้งประเทศ
2.แก้ปัญหาขั้นตอนการอนุญาตติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ที่ปัจจุบันมีความต้องการสูงมาก แต่หน่วยงานอนุมัติอนุญาตของภาครัฐ ทั้งองค์กรปกครองส่วน มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลาอนุมัติค่อนข้างงาน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ต้องการติดโซลาร์ ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ควรเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง
และ 3.อัตราการรับซื้อไฟกลับเข้าระบบของรัฐบาล ที่รับซื้อเพียง 2.20 บาทต่อหน่วย ขณะที่คนไทยต้องจ่ายค่าไฟถึงหน่วยละ 4.72 บาท ไม่รวมกับแนวโน้มราคาช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ที่จะเพิ่มทะลุ 5-6 บาทต่อหน่วย หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าใช้เอง และสนับสนุนประชาชนด้วยการรับซื้อไฟกลับเข้าระบบมากๆ พร้อมแก้ปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ก็จะทำให้รัฐบาลลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ราคาสูงได้
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN