แบงก์ชาติเผย “คนรุ่นใหม่” ไม่พร้อมรับมืออนาคต!
แบงก์ชาติเผย คนรุ่นใหม่ไม่พร้อมรับมือกับอนาคต เหตุโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และการแข่งขันในภาคธุรกิจ ไม่เอื้อต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย” ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคตได้นั้นคือ คนรุ่นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียน คนวัยเริ่มทำงาน หรือคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากยังขาดความมั่นคงในอนาคต (insecurity) ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ระบบต่างๆ ในประเทศไทยปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่พร้อมรับมือกับอนาคต
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ตอบสนองต่อบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมหลักของไทย อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมโลกเก่า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด
นอกจากนี้ ระบบการศึกษาก็ไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ทำให้อาชีพของคนไทยในปัจจุบันไม่ได้ตรงกับระดับการศึกษาเมื่อเทียบกับในอดีต โดยงานวิจัย พบว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนที่จบปริญญาตรีร้อยละ 80 ทำงานในอาชีพที่ถือว่าเป็นอาชีพทักษะสูง แต่ในปัจจุบันคนที่จบปริญญาตรีกลับทำงานในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะระดับกลางมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่จบอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาที่ส่วนหนึ่งเคยได้ทำงานกลุ่มทักษะกลางและสูง ถูกผลักไปทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะ เป็นส่วนใหญ่
รวมถึงการขาดการแข่งขันที่เป็นธรรมในภาคธุรกิจที่ไม่เอื้อต่อการเข้ามาประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นการจำกัดศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีความความสามารถแต่ขาดโอกาส
งานวิจัยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังพบว่า อัตราการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจรายใหม่ (entry rate) มีแนวโน้มลดลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทเดิมในอุตสาหกรรมมีอำนาจผูกขาดมากขึ้น
ซึ่งในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลวัตของภาคธุรกิจที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้น การสร้างความมั่นคงในอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรากฐานทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN