TNN SCB ชี้จับตาศก.โลก ลุ้นการทำงานรัฐบาลใหม่-กฎหมายภาษีกองทุนรวม

TNN

Wealth

SCB ชี้จับตาศก.โลก ลุ้นการทำงานรัฐบาลใหม่-กฎหมายภาษีกองทุนรวม

SCB ชี้จับตาศก.โลก ลุ้นการทำงานรัฐบาลใหม่-กฎหมายภาษีกองทุนรวม

“SCB Wealth Holistic Experts” เผยมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจโลก แนวโน้มตลาดหุ้นไทย รับรัฐบาลใหม่ และกฎหมายภาษีกองทุนรวม

วันนี้ (17 ก.ค.) นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางของสหรัฐฯ และทั่วโลก จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุน ในขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าจะยืดเยื้อไม่จบลงง่ายๆ แม้ว่าการพบกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์-สี จิ้นผิงนอกรอบ G-20 ที่ผ่านมาจะทำให้ Sentiment ตลาดดูดีขึ้น แต่ความขัดแย้งน่าจะขยายตัวไปยังหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของทิศทางตลาดต่อไป จนจะถึงช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง และสร้างคะแนนความนิยมให้กับประธานาธิบดี ทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งฯ ภายใต้การชูนโยบาย “Make America Great Again” ในเดือนพฤศจิกายน 2563

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางทั่วโลก จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และจะต้องรักษา policy space กับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะปรับลดลง ไม่ให้เกิดแรงกดดันกับอัตราแลกเปลี่ยนให้ซ้ำเติมการส่งออกมากขึ้นอีกด้วย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีกระสุนที่จะลดดอกเบี้ยมากที่สุด โดยคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed fund rate) ในปีนี้รวม 2 ครั้งจากปัจจุบัน ซึ่งจะถือเป็นสัญญานเชิงบวกว่า Fed พร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างทันที เป็นเหมือนการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับเศรษฐกิจก่อนที่โรคร้ายแรงจะเกิด จะทำให้นักลงทุนลดความกังวลของเรื่องเศรษฐกิจจะเข้าสู่ recession ในปีหน้า ประกอบกับแรงกดดันของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เรียกร้องให้ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้วหลายครั้ง และเคยวิจารณ์การทำงานของ Fed ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.0% ในปีที่แล้ว ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้จะเสนอชื่อ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ และนางจูดี้ เชลตัน ซึ่งมีแนวความคิดสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการ Fed อีกด้วย

ด้าน นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวถึง มุมมองด้านเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในภาคต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวลง 4.9% YoY และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP growth contributor) ติดลบค่อนข้างมาก (-3.6%)  ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้ง GDP ใน 1Q62 ให้ขยายตัวลดลงเหลือ +2.8%  ดังนั้น ปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปี 2562 จึงจำเป็นต้องพึ่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดย SCBS คาดการณ์ GDP ปี 2562 ไว้ที่ 3.1% ลดลงจากเดิม 3.3%

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ประเมินว่าได้รับปัจจัยหนุนจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้า โดยรัฐบาลใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากความชัดเจนทางการเมือง รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุน ทั้งนี้ประเมินว่า SET Index ครึ่งปีหลัง 2562 มีโอกาสเคลื่อนไหวที่ระดับ 1700-1750 จุด

ขณะที่ ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง ภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนเพื่อนำมาพิจารณาในการวางแผนการลงทุน โดยกฎหมายภาษีที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในช่วงหลังไตรมาส 3 ของปี 2562 หลักๆ มีดังนี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 (ประกาศราชกิจจานุเบกษา 22 พฤษภาคม 2562) กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “กองทุนรวม” ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราภาษี 15% จากกองทุนรวมที่ฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลด ถือเป็น “รายได้ดอกเบี้ย” ตามเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี 25 มิถุนายน 2562 จะมีการออกกฎหมายลำดับรองยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่กองทุนถืออยู่ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 รวมถึงกองทุนรวมบางประเภท เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เนื่องจากเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะมิใช่กองทุนรวมภายใต้กฎหมายดังกล่าว, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการออมและรองรับการเกษียณในอนาคต ในด้านภาระภาษีฝั่งผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตราสารหนี้และกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นนิติบุคคล (ของผู้ถือหน่วยลงทุนบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อยู่แล้วในปัจจุบัน) ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดภาระภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ได้เสียภาษีเงินได้ในระดับกองทุนรวมไปแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายจะมีผลใช้บังคับ 20 สิงหาคม 2562 โดยมีผลเฉพาะกับสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ใหม่หลังกฎหมายใช้บังคับ อาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของกองทุนอาจลดลง แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะทรัพย์สินภายในกองทุนมีทั้งตราสารหนี้เก่า (ยกเว้นภาษี) และตราสารหนี้ใหม่ (ถูกจัดเก็บภาษี) จึงทำให้กองทุนยังพอมีระยะเวลาในการปรับตัวก่อนถึงเวลาที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแนวโน้มรูปแบบกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุน LTF ที่จะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปลายปี 2562 ในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการพิจารณารูปแบบกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุน LTF โดยกองทุนแบบใหม่นี้ จะมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนโดยเน้นรูปแบบการลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น ลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและหุ้นยั่งยืน บรรษัทภิบาล หุ้น SME และหุ้น S-Curve สำหรับข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการถือครองรวมถึงจำนวนสูงสุดเพื่อสิทธิลดหย่อนภาษี อาจจะต้องรอความชัดเจนของคณะรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารงานเพื่อพิจารณานโยบายทางภาษีดังกล่าวต่อไป

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ